นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เร่งผลักดันให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยพัฒนาอย่างยั่งยืน จัดอบรมหลักสูตรการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตอบโจทย์เทรนด์โลก
นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัญมณีและเครื่องประดับนับเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับที่ 5 สร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 194,651 ล้านบาท และประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ 17 และส่งออกพลอยสีเป็นอันดับ 3 ของโลก
โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แนวโน้มในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับนั้น ให้ความสำคัญกับนโยบายการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible Business Practices ในทุกภาคการผลิตสินค้า ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งประกอบด้วยนโยบายสำคัญใน 3 ส่วน หรือ เรียกว่า ESG policy ประกอบด้วย นโยบายด้านสิ่งเวดล้อม (Environment) นโยบายด้านสังคม (Social) และนโยบายด้านธรรมาภิบาล (Governance) บริษัทและแบรนด์เครื่องประดับชั้นนำของโลกทั้งในยุโรป และอเมริกา เริ่มมีข้อกำหนดเกี่ยวกับระบบสำแดงและการติดตามแหล่งที่มาของพลอยสีโดยใช้เทคโนโลยี Block chain เพื่อสอบกลับถึงแหล่งที่มาได้ ซึ่งที่ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับไทยต้องปรับตัว ปรับกลยุทธ์ของธุรกิจให้สอดรับกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
กระทรวงพาณิชย์ จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก Responsible Jewellery Council หรือ RJC องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระหว่างประเทศผู้สร้างมาตรฐานการการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับตลอดห่วงโซ่อุปทาน เร่งสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีความเข้าใจในข้อกำหนดต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับข้อกำหนดของ RJC โดยสถาบัน GIT เป็นสมาชิก RJC ในฐานะตัวแทนประเทศไทย ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น SDGs Taskforce เพื่อร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า เพื่อสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับกฎระเบียบของ Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งถือได้ว่าเป็นเทรนด์โลกในการทำธุรกิจในปัจจุบัน สถาบันมีกำหนดเปิดการอบรมออนไลน์ ในหัวข้อ “การดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (Responsible Jewellery Council: RJC)” ในวันที่ 9 มีนาคม 2565 เวลา 13.00 – 16.00 น. ผ่านระบบ Zoom โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะมีวิทยากรผู้มากความสามารถมาร่วมถ่ายทอดความสำคัญ และความจำเป็นในการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล อาทิ Ms. Iris Van der Veken, Executive Director of RJC, นายทนง ลีลาวัฒนสุข รองผู้อำนวยการสถาบันด้านเทคนิค รวมถึงตัวแทนบริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ในฐานะของตัวแทนประเทศไทย GIT มุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและผลักดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ให้เป็นที่ยอมรับในเรื่องมาตรฐานในระดับสากล ให้สมกับการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก นายสุเมธ กล่าวปิดท้าย
ผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และลงทะเบียนเข้าร่วมอบรม ได้ที่ ฝ่ายฝึกอบม โทร 02 634 4999 ต่อ 301-305 และ 311-313 หรือ www.git.or.th