เมื่อวันจันทร์ ที่ 4 เมษายน 2565 นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และถวายสักการะในพิธี “มหาจุฬา สมัชชาวิถีพุทธ” ครั้งที่ 3 พิธีมอบโล่พระราชทาน โล่ประทาน การประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนทางพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 (5th MCU Contest) ซึ่งมีพระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร.เป็นประธาน พร้อมกันนี้ รมช.ศึกษาธิการ ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร ) กับ สํานักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) การประชุมภาคีสถานศึกษาวิถีพุทธ และการอบรมผู้ประเมินสถานศึกษาอาชีวศึกษาวิถีพุทธ ระหว่างวันที่ 2 – 4 เมษายน พ.ศ. 2565 ณ อาคารหอประชุม ๔๘ พรรษา มหาวชิราลงกรณ์ มจร อําเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยมี พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี มจร เป็นประธานในพิธีจุดธูปเทียนนำกล่าวบูชาพระรัตนตรัย นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) ถวายสักการะ พระศรีธรรมภาณี ,ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร กล่าวถวายรายงาน และมี พระเทพปวรเมธี,รศ.ดร. รองอธิการ สุยะพรหม รองอธิการบดีฝ่ายกิจการทั่วไป มจร พระสงฆ์ ผู้อำนวยการโรงเรียน นักเรียน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวนมัสการ พระธรรมวัชรบัณฑิต,ศ.ดร. อธิการบดี มจร พระสงฆ์สมณศักดิ์ทุกรูปด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง และได้เห็นถึงความตั้งใจของท่าน เลขาธิการ กพฐ. ที่เป็นผู้นำในฐานะที่เป็นข้าราชการกำกับดูแลงานโดยตรงของ สพฐ. ซึ่งท่าน เลขาธิการ กพฐ. ได้สะท้อนความคิดที่เป็นเด็กอยู่ชนบท ทั้งยังยกตัวอย่างเรื่องที่เป็นความจำเป็น และเป็นความสำคัญยิ่งต่อประเทศของเรา เริ่มตั้งแต่ความเข้มแข็งในครอบครัวและในหลักของบวรที่จะทำให้สังคมนั้นได้เริ่มความแข็งแกร่งและมั่นคงตั้งแต่รากหญ้าโดยมีกลไกของการศึกษาเป็นความสำคัญต่อการพัฒนามนุษย์ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ของประเทศก็ดี ตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเนสโกก็ดี ทั้งนี้ทุกๆรางวัลที่นักเรียนทุกคนได้รับ จะเป็นสิ่งที่ต้องทำให้พวกเราทุกคน ได้รักษามาตรฐานและจะทำให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งครูและนักเรียนทุกคนต้องช่วยกัน โดยต้องมีหลักแห่งความรับผิดชอบ และมีหัวใจที่จะปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ครูโอ๊ะกล่าวตอนหนึ่งว่า“หากเราสามารถดำรงชีวิตด้วยหลักไตรสิกขา มีศีล สมาธิปัญญา เมื่อมีศีลแล้วก็จะไม่ทำความเดือดร้อนให้กับครอบครัว ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับสังคม ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับประเทศชาติ และเมื่อมีศีลก็จะมีสมาธิ ซึ่งสมาธิ จะทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ สามารถทำงานหรือประกอบภารกิจ โดยเฉพาะนักเรียนสามารถจะเรียนได้ดีและสิ่งที่สำคัญมากกว่านั้นในการเป็นชีวิตมนุษย์ คือหลักของการใช้ปัญญาในการพินิจ พิเคราะห์ พิจารณา ที่จะแยกแยะและทำในสิ่งที่ดีงาม โดยเฉพาะผู้บริหารสถานศึกษา ครู เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะทุกท่านจะต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับสังคมให้กับลูกๆของท่านเองในครอบครัว ให้กับลูกๆนักเรียนที่ครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง วันนี้ถือเป็นวันมงคลที่ทุกคนได้รับพรอันประเสริฐ ได้รับสิ่งที่เป็นภูมิรู้ที่จะพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเป็นบุญของชาว ศธ.ที่ได้ มจร เป็นสถาบันการศึกษาทางสงฆ์ ที่เข้ามาหยิบยื่นช่วยเหลือสังคม”
ครูโอ๊ะได้มีโอกาสเข้ามาเป็นนักศึกษาที่ มจร ทั้งยังได้รับโอกาสและความเมตตาในการสัมภาษณ์ ท่าน อธิการบดี มจร ที่กรุณาเป็นคีย์แมนสำคัญที่ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ ทำให้ได้ค้นพบและพิสูจน์ด้วยตัวเองว่า หลักธรรมในพระพุทธศาสนามากมาย แต่ไตรสิกขา คือ หลักของการดำเนินชีวิตที่จะก่อเกิดประโยชน์สูงสุด และในการทำวิจัยก็ได้เลือกหลักธรรม อิทธิบาทธรรม อิทธิบาท 4 ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ซึ่งจะเป็นหลักธรรมสู่ความสำเร็จ และมีหลักของไตรสิกขา ซึ่ง มจร คือมหาวิทยาลัยที่ทรงเกียรติ ที่บูรณาการสหวิทยาการกับหลักพุทธธรรมอันจะเป็นแนวทางที่ทำให้คนไทยและคนทั่วโลก สามารถดำเนินชีวิตไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
พระศรีธรรมภาณี ,ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหาร มจร กล่าวถวายรายงานตอนหนึ่งใจความว่า มจร โดยสํานักงานพระสอนศีลธรรม และ สํานักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ. ร่วมกันดําเนินการคัดเลือก และประเมินโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธ เพื่อยกย่องประกาศเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 และโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน รุ่นที่ 4 โดยมีโรงเรียนวิถีพุทธผ่านการประเมินเป็นโรงเรียนวิถีพุทธชั้นนํารุ่นที่ 12 จํานวน 243 โรง และเป็นโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานรุ่นที่ 4 จํานวน 43 โรง นอกจากนี้ยังมีส่วนหนึ่งที่ มจร ร่วมกับ สพฐ. และสํานักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดมหกรรมส่งเสริมศีลธรรมและประกวดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนด้านพระพุทธศาสนา ครั้งที่ 5 โดยมี กิจกรรมการประกวด 5 รายการ ประกอบด้วย
1.การสวดมนต์หมู่สรรเสริญคุณพระรัตนตรัย ทํานองสรภัญญะ ประเภททีม 10 คน 3 ระดับ คือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice ทีมที่ดีที่สุดในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
2.การกล่าวคําอาราธนาและคําถวายทานในพุทธศาสนพิธี ประเภททีม 10 คน 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice ในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
3.การบรรยายธรรม ประเภททีม 3 คน 2 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อค้นหา Best Practice ในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทานจาก สมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
4.การถกวาที (วาจาสุภาษิต) ประเภททีม 4 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน จากสมเด็จเจ้าฟ้า กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติย ราชนารี
5.โครงงานคุณธรรมส่งเสริมอัตลักษณ์วิถีพุทธ ประเภททีม 5 คน 3 ระดับ ได้แก่ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย เพื่อค้นหา Best Practice ในแต่ละระดับ เข้ารับโล่รางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
กิจกรรมทั้งหมดมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับพระพุทธศาสนา ผ่านกิจกรรม ส่งเสริมอัตลักษณ์วิถีพุทธที่พระสอนศีลธรรม นักเรียน ผู้ปกครอง ผู้บริหาร ครูพี่เลี้ยง ได้ร่วมกันคิด ร่วมกันสรรค์สร้างผลงานจากความสามารถทางพระพุทธศาสนา โดยมีกระบวนการดําเนินการรอบคัดเลือกระดับจังหวัด ระดับภาคคณะสงฆ์ 18 ภาค และระดับประเทศ เพื่อค้นหาต้นแบบที่ดีที่สุดใน แต่ละกิจกรรม (The Best Practice) โดยที่ทุก ๆ กิจกรรมใช้กระบวนผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งระบบ โดยทราบผลการประกวด และประกาศเผยแพร่ให้สาธารณะจนทราบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว