รมว.พม. นำทีมลงพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ติดตามการคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์

News Update social

วันนี้ (11 พ.ค. 65) เวลา 15.15 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) พร้อมด้วยนางพัชรี อาระยะกุล ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) และคณะผู้บริหาร ลงพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ บ้านพักเด็กและครอบครัวจังหวัดสุราษฏร์ธานีและสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ (บ้านศรีสุราษฎร์) จังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกทั้งเข้าร่วมประชุมร่วมกับทีม พม. จังหวัดภาคใต้ เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และถอดบทเรียนการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ณ ห้องประชุมสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 10 จังหวัดสุราษฎร์ธานี

นายจุติ กล่าวว่า เมื่อเช้านี้ ตนได้ร่วมประชุมชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 รวมทั้งการแถลงผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของไทย กับพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา และ NGOs ระหว่างประเทศ มาร่วมประชุมด้วย ทั้งนี้ เราได้เรียนกับสถานฑูตสหรัฐอเมริกาว่า เราจะดำเนินการอย่างจริงจังในการปราบปรามการค้ามนุษย์ และวันนี้ ตนได้เดินทางมาที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี เพื่อสังเกตการณ์ว่ามีอะไรที่เป็นช่องโหว่ และได้คุยกับเจ้าหน้าที่ด้วยตนเอง

ในขณะที่คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงได้ดำเนินการสอบสวนตามกระบวนการ ซึ่งจะได้เห็นว่า ได้ทำความเข้าใจกับเจ้าหน้าที่และร่วมกันทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งพลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผช.ผบ.ตร.) เตรียมจะเดินทางมาที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งต้องดูว่าจะมีโอกาสได้เจอกันหรือไม่ และอยากจะยืนยันว่า กระทรวง พม. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขและปราบปรามปัญหาการค้ามนุษย์ โดยจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้ถอนรากถอนโคนธุรกิจค้ามนุษย์ในประเทศไทย ไม่ใช่เฉพาะที่จังหวัดสุราษฏร์ธานีเท่านั้น

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า ตนอยากจะบอกและส่งสัญญานให้ข้าราชการกระทรวง พม. ว่า อย่าเกรงกลัวอิทธิพล ให้ทำงานอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นแล้ว เมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงสรุปเบื้องต้น จะมาดูว่าในส่วนของคนที่ถูกสอบสวนมีข้อเท็จจริงอย่างไร ด้านระบบงานที่เราทำอยู่มีอะไรที่ล้าสมัย มีอะไรที่ต้องปรับปรุง และอุดช่องโหว่บ้างหรือไม่ ซึ่งอยากให้ทุกคนเข้าใจว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ในปัจจุบันไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ต่างประเทศก็จับตาเรื่องนี้อยู่เช่นกัน และเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมากสำหรับสถานะของประเทศไทย ดังนั้น จึงอยากจะให้ทุกคนเข้าใจความสำคัญของปัญหาการค้ามนุษย์

โดยกระทรวง พม. ตั้งใจว่าจะมาดูเรื่องระบบการทำงาน และจะมีการถอดบทเรียนว่ามีเรื่องใดที่ต้องปรับปรุงบ้าง และจะไม่ทำแค่จังหวัดสุราษฏร์ธานี แต่จะทำให้ครบทั้ง 4 ภูมิภาค เพราะปัญหาค้ามนุษย์จะต้องถอนรากถอนโคนทั้งประเทศ โดยตนได้ให้นโยบายแก่ปลัดกระทรวง พม. ว่า ภายใน 1 เดือน จะต้องถอดบทเรียนเรื่องนี้ให้ครบทุกภูมิภาค นอกจากนั้น ต้องให้ความมั่นใจกับคนทำงาน เจ้าหน้าที่ตำรวจ องค์กรภาคประชาชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศว่า เราจริงจังและจริงใจอย่างเต็มที่

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ด้านการคุ้มครองพยาน นั้น กระทรวง พม. เป็นผู้ขอไปให้มีการคุ้มครองพยาน รวมทั้งได้ขออนุญาตจากผู้ปกครองของพยาน ซึ่งจะเห็นได้ว่าหลายอย่างนั้น มีความเข้าใจผิดกัน เพราะกระทรวง พม. เล็งเห็นแล้วว่า ผู้เสียหายอาจจะมีความไม่ปลอดภัย กระทรวง พม. จึงได้ขอให้มีการคุ้มครองพยาน ด้านการตัดสินนั้น จะต้องทำโดยเร็วที่สุด แต่ต้องมีความรอบคอบ ซื่อตรง โปร่งใส ยุติธรรม ตรงไปตรงมา ซึ่งทุกคนได้ทราบข่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ค. 65 จากการแถลงข่าวของพลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. จากนั้นวันที่ 5 พ.ค. 65 ปลัดกระทรวง พม. และอธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้รายงานผล พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือและแก้ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ วันที่ 6 พ.ค. 65 ได้ตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเดินทางออกนอกพื้นที่ วันที่ 7 พ.ค. 65 ได้ขอให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม นำเด็กไปดูแลโดยไม่ขอเปิดเผยสถานที่เพื่อความปลอดภัย และวันที่ 9 พ.ค. 65 ผู้บริหารกระทรวง พม. ได้ประชุมร่วมกันเพื่อหาว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และช่วยกันแก้ไขอย่างไร

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ตนอยากบอกว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง เพราะเป็นปัญหาที่คาราคาซังมานาน อยากให้เห็นว่ากระทรวง พม. และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่อาจจะเกี่ยวกับการเมืองต่างประเทศที่มีการประเมินประเทศไทย

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่า เราทำเพื่อให้การค้ามนุษย์หมดไปจากประเทศไทย ดังนั้นอะไรที่เป็นจุดอ่อน จุดที่ต้องปรับปรุง เราต้องมาแก้ไข ในเบื้องต้น ระบบปฏิบัติมาตรฐานทุกคนเข้าใจกันหรือยัง ได้ปฏิบัติตามหรือไม่ ซึ่งตนขอยืนยันว่า กระทรวง พม. พร้อมดำเนินงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

สำหรับคำถามที่ถามว่าตนได้ไปพบกับพลตำรวจโท สุรเชษฐ์ หักพาล ผช.ผบ.ตร. หรือยังนั้น ตนไม่กล้าไปพบเพราะว่าสังคมจะมองว่าตนไปวิ่งเต้นช่วยเหลือหรือไม่ ซึ่งได้พูดผ่านสื่อเมื่อวันที่ 9 พ.ค. ที่ผ่านมาว่า ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถ้ามีอะไรจะแนะนำให้กระทรวง พม. สอบสวนปมอะไรเป็นพิเศษเพิ่มเติมเพื่อเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ได้ ขอให้ชี้เป้ามาแล้วเราจะทำ จะไม่มีการทำจดหมายหรือแอบพบ เพราะประชาชนจะขาดความมั่นใจ

เราจะให้เห็นว่าทุกอย่างต้องโปร่งใสที่สุด ซึ่งต้องทำงานด้วยความระมัดระวัง เพราะว่าความเชื่อมั่นของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญ และอยากบอกประชาชนว่าเรื่องค้ามนุษย์เป็นเรื่องของทุกคน และสิ่งที่ได้สังเกตเห็นคือครอบครัวเปราะบางทุกครอบครัวขอให้เอาใจใส่กับลูกหลานของท่าน เพราะว่าเหยื่อจากการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีปัญหาทั้งนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องดูแล โดยหวังว่าทุกคนคงเข้าใจคำที่ว่า ลูกเขา ลูกฉัน ลูกเรา ดังนั้น ขอให้ดูแลคนที่ท่านรักให้ดีๆ เอาใจใส่ ให้ความเห็นอกเห็นใจและความเข้าใจ ก็จะแก้ปัญหาเบื้องต้นได้เยอะมาก ส่วนใครที่ทำอาชีพเป็นคนจัดหาหรือนายหน้าต้องถูกจัดการให้เด็ดขาด