กลุ่มธุรกิจย่านสีลม พร้อมประเดิม 13 อาคารชั้นนำ เปิดตัว “สมาคมเรารักสีลม” ประกาศพลิกโฉม “สีลม” ย่านเศรษฐกิจและการค้าสำคัญของไทยผ่าน “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีลม” ขับเคลื่อนคุณค่าใน 4 มิติหลัก ได้แก่ สะดวก (Easy) สบาย (Comfortable) ปลอดภัย (Safe) ภูมิทัศน์ (Landscape) สร้างสรรค์คอมมูนิตี้ ด้วยมุมมองใหม่ผ่าน แลนด์สเคป แอนด์ ดีไซน์ โดยมี คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน และกลุ่มธุรกิจและอาคารผู้ประกอบการชั้นนำบนถนนสีลมเข้าร่วมงาน ฯลฯ เมื่อเร็วๆ นี้
นางอรฤดี ณ ระนอง นายกสมาคมเรารักสีลม เปิดเผยว่า แนวคิดและความร่วมมือของ อาคาร ผู้ประกอบการชั้นนำ บนถนนสีลมในนาม “สมาคมเรารักสีลม” จากจุดเริ่มต้นประเดิมความร่วมมือของ 13 สมาชิกดำเนินธุรกิจในสีลม ได้แก่ อาคารธนิยะ, อาคารลิเบอร์ตี้, ธนาคารกสิกร, ธนาคารกรุงเทพ, โรงพยาบาลกรุงเทพ คริสเตียน, อาคารสีลมเอจ, อาคารอาคเนย์ประกันภัย, อาคารญาดา, กลุ่มดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค, อาคาร คาราบาว ,โรงแรมไอบิส ,ซีพี ทาวเวอร์ และอาคารพาร์คสีลม โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและพัฒนาชุมชนเมืองในย่านสีลม การเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการย่านสีลม
ทั้งนี้ การยกระดับการพัฒนาชุมชนเมืองย่านสีลมอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในความตั้งใจของสมาคมเรารักสีลม ซึ่งจะขับเคลื่อนผ่าน “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีลม” ที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 12 กรกฏาคม 2565 และพร้อมเปิดตัว “สมาคมเรารักสีลม” ในวันเดียวกันนี้ โดยได้รับเกียรติจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในงาน
จุดเริ่มต้นของแนวคิดการพัฒนา “โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์ถนนสีลม” เกิดจากจุดเด่นของสีลม ย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งแรกของกรุงเทพมหานคร ถนนแห่งนี้คือถนนสายธุรกิจที่มีความเป็นมาอย่างยาวนานเป็นศูนย์กลางแห่งการค้า และถนนสายนี้ยังได้สมญานามว่า Wall Street of Thailand เป็นทำเลที่มีฮวงจุ้ยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันสีลมถือว่าเป็น Financial District ที่มีอาคารสำนักงาน ธนาคาร บริษัทขนาดใหญ่ สถานฑูต และบริษัทหลักทรัพทย์ชั้นนำ นอกจากนี้ สีลม ยังเป็นเป็นย่านที่มีการรวมตัวของคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายช่วงวัย และยังเป็นศูนย์รวมความแตกต่างของวัฒนธรรม กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในการดึงดูดผู้คนให้เข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่แห่งนี้ และจำนวนผู้คนจำนวนมากที่ไหลเวียนเข้ามาทำกิจกรรมตลอดทั้งวัน โดยประมาณ 10,000 คนที่เป็นนักท่องเที่ยวในยามค่ำคืน คนทำงาน 56,000 คนต่อวันที่เดินทางเข้าสู่ย่านธุรกิจแห่งนี้ รวมถึง 60,000 กว่าคนที่โดยสารเส้นทางโดยสาร BTS & MRT ทำให้พื้นที่สีลม ต้องรับมือทั้งการจัดการพื้นที่ ทัศนียภาพโดยรอบที่ส่งผลต่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้
“ผู้ประกอบการบนถนนสีลม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญกับการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่ เริ่มจากสำรวจความต้องการของคนในชุมชน การลงพื้นที่ทำการสัมภาษณ์กลุ่มประชากรกว่า 100 คนในย่านสีลม ซึ่งสรุปได้ว่าคนในสีลมจำนวนมากต้องการให้ย่านนี้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีความสะดวกและความปลอดภัยต่อการดำเนินชีวิต เช่น ทางเดินเท้าที่สะอาดเป็นระเบียบ ทางม้าลายบนพื้นถนนที่ชัดเจน และแสงสว่างในยามค่ำคืน” นางอรฤดี กล่าว
ทั้งนี้ ผลจากการสำรวจความต้องการนำมาซึ่งการขับเคลื่อนคุณค่าให้เกิดขึ้นกับคอมมูนิตี้แห่งนี้ ใน 4 มิติหลัก ได้แก่ สะดวก (Easy) สบาย (Comfortable) ปลอดภัย (Safe) และ ภูมิทัศน์ (Landscape) และด้วยความร่วมมือของ 3 พันธมิตร อ.พนิต นายกสมาคมนักผังเมืองไทย, สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และสมาคมเรารักสีลม และ เราจึงเริ่มศึกษาแผนการพัฒนาและต่อยอดจาก Silom City Lab เพื่อปรับปรุงทางเดินเท้าทั่วบริเวณถนนสีลมเป็นอันดับแรก โดยทำการออกแบบพัฒนาร่วมกับบริษัทฉมา ที่ปรึกษาผู้ออกแบบภูมิทัศน์ระดับประเทศ โดยมีการเริ่มปรับปรุงทางเท้าบริเวณถนนสีลม ตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา การปรับปรุงทางเดินเท้าครั้งนี้ จะทำให้เกิดความสะดวกสบายในการสัญจรมากขึ้น พื้นทางเท้ากว้างขวางขึ้น และมีความสะอาดมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ซึ่งในอนาตคสมาคมเรารักสีลมยังมีโครงการที่จะพัฒนาส่วนอื่นๆ ในพื้นที่สีลมให้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบสนองต่อกลุ่มคนหลากหลายประเภทในเวลาที่แตกต่างกัน ให้สอดคล้องกับแนวความคิดการส่งเสริมพื้นที่เอกชนสาธารณะ (POPS) ให้เป็นพื้นที่ทางสังคมอย่างแท้จริงของชุมชนเมือง และให้สาธารณะร่วมใช้ประโยชน์ รองรับกิจกรรมที่หลากหลาย ตอบสนองต่อกลุ่มคนหลากหลายประเภทในเวลาที่แตกต่างกัน โดยส่งเสริมพื้นที่เอกชนสาธารณะให้เป็นพื้นที่ทางสังคมอย่างแท้จริง เช่น เล่น @Silom พื้นที่เปิดกว้างให้คนได้เข้ามาสร้างสรรค์ผลงาน
วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยน “สีลม” ให้เป็นพื้นที่แห่งโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ธุรกิจ และชุมชน การเดินทางที่สะดวกสบาย เพิ่มพื้นที่สีเขียวสำหรับเชื่อมต่อและพักผ่อนหย่อนใจ รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คนที่เข้ามาใช้ชีวิตและทำงานในย่านนี้ จากโมเดลความร่วมมือ “WE LOVE SILOM”