คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ดูงาน “ชุมพรโมเดล” ส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรฐานรากอย่างยั่งยืน

News Update social

คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร ศึกษาดูงานโครงการเศรษฐกิจฐานราก “ชุมพรโมเดล” รุกส่งเสริมพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ยกระดับเกษตรกรฐานราก ด้วยความรู้ทางเทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม อย่างยั่งยืน

วันที่ 13 สิงหาคม 2565 นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร พร้อมด้วย นายธีระศักดิ์ ยมสวัสดิ์ เกษตรจังหวัดชุมพร นายปราโมทย์ ใสจุล ปฎิรูปที่ดินจังหวัดชุมพร ดร.ฐิระ ทองเหลือ หัวหน้าชุดโครงการวิจัย และทีมงานนักวิจัย “กลไกการพัฒนาพื้นที่เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม จังหวัดชุมพร”ร่วมให้การต้อนรับ คณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร นำโดยนายอัครวัฒน์ อัศวเหม ประธานคณะกรรมาธิการ การวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง และคณะลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาอาชีพเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรฐานราก “ชุมพรโมเดล”

 

โดยลงพื้นที่ศึกษาดูงาน เพื่อรับฟังสรุปความก้าวหน้าของโครงการชุมพรโมเดลและพบปะเกษตรกรผู้ร่วมโครงการกว่า 300 ครัวเรือน จำนวน 2 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 วันที่ 13 สิงหาคม ณ ห้องประชุม อบต.บางหมาก ตำบลบางหมาก อำเภอเมือง เยี่ยมชมกิจกรรมที่ 1 การเลี้ยงแหนแดงเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อาหารปศุสัตว์และประมง และ กิจกรรมที่ 2 การผลิตเครื่องแกงก้อนกึ่งสำเร็จรูปด้วยตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์

และ วันที่ 14 สิงหาคม ณ พื้นที่ กทช.หงษ์เจริญ ตำบลหงษ์เจริญ อำเภอท่าแซะ เยี่ยมชมกิจกรรมที่ 1 การเลี้ยงแหนแดงเพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ อาหารปศุสัตว์และประมง และ กิจกรรมที่ 2 การผลิตเครื่องแกงก้อนกึ่งสำเร็จรูปด้วยตู้อบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และกิจกรรมที่ 3 การผลิตน้ำส้มสายชูหมักจากกล้วยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากกล้วยเล็บมือนาง

ศาสตราจารย์ กนก วงษ์ตระหง่าน รองประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม สภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการ “ชุมพรโมเดล” ต้องได้รับความร่วมมือ จาก 3 ภาคส่วน ได้แก่ 1.การขับเคลื่อนในพื้นที่ โดยเกษตรกร 2.การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยแม่โจ้-ชุมพร ในการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรม3.ความร่วมมือของส่วนราชการในพื้นที่
เพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน

โดยมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการแก้ไขปัญหา คือ ด้านรายได้ของประชาชนในพื้นที่ โดยมีคณะกรรมาธิการ เป็นกลไกในการเชื่อมต่อความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา โดยมีเป้าหมายในการขับเคลื่อน “ชุมพรโมเดล” ให้เกษตรกรมีรายได้ครัวเรือน เพิ่มขึ้น มากกว่า10,000 บาท/เดือน และมีรายได้อย่างยั่งยืน

 

อีกหนึ่งด้านที่สำคัญ คือ ด้านการสื่อสารของโครงการเพื่อให้ กลุ่มผู้ดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการ รับทราบข้อมูล และการเผยแพร่ให้คนภายนอกได้รับทราบ ทั้ง 3 ด้านได้แก่ 1.สร้างการรับรู้ โครงการสร้างรายได้จริง 2.การเข้าใจ การดำเนินการจัดทำกระบวนการที่ยั่งยืน 3.สร้างการมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการขับเคลื่อนทั้งภายในจังหวัดและภายนอกจังหวัดอย่างทั่วถึง

นายโชตินรินทร์ เกิดสม ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร จังหวัดชุมพรได้ กล่าวถึง แผนพัฒนาจังหวัดชุมพร พ.ศ. 2566- 2570 ด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ว่า “ชุมพร เมืองน่าอยู่ เศรษฐกิจดีและมีคุณค่า มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยได้ขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัด ตามยุทธศาสตร์ “5+1” โดยประเด็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 5 ประเด็น ประกอบด้วย 1 การเสริมสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดให้เติบโตอย่างต่อเนื่องมั่นคง จากฐานการเกษตร การค้า การบริการ และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างเข้มแข็งด้านการเกษตรทันสมัย การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อการเกษตร เช่น ดาวเทียมเพื่อการเกษตร และมุ่งเน้นการเกษตรปลอดภัย 1ลด :การใช้สารเคมี และ 2เพิ่ม ได้แก่ การทำโครงการ 1แปลงเกษตร1คน จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 4,000 ล้านบาท/ปี และ การส่งเสริมการเพิ่ม แปลงเกษตรปลอดภัย

2. การยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวฝั่งอ่าวไทย อันดามัน อาเซียน และนานาชาติ 3. การพัฒนาเมืองที่น่าอยู่ โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม โลจิสติกส์ ที่สะดวก ปลอดภัยได้มาตรฐาน และเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ 4. การสร้างคนคุณภาพ การพัฒนาสังคมแห่งความสันติสุข ปลอดภัย และการพัฒนาชุมชนให้มีความมั่นคงตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 5. การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล รองรับการเติบโตของคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ “+1” คือ การขับเคลื่อนการพัฒนาโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ ในส่วนของโครงการ “ชุมพรโมเดล” ได้ดำเนินการร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ ให้ภาคประชาสังคม ได้รับทราบอย่างทั่วถึง

ดร.ฐิระ ทองเหลือ หัวหน้าชุดโครงการวิจัยรายงานถึงความคืบหน้าของการดำเนินงาน โครงการ “ชุมพรโมเดล” จากสโลแกนคือ
เข้าใจ เข้าถึง ลงมือทำ ดำเนินการ 2 พื้นที่ ได้แก่ 1.อำเภอท่าแซะ จำนวน 5 ตำบล 200 ครัวเรือน 2.อำเภอเมือง จำนวน 100 ครัวเรือน
โดยมีกระบวนการดำเนินโครงการ ให้นักวิจัยได้เข้าร่วมประชุมเป็นระยะ เพื่อรายงานความคืบหน้าการวิจัย หากพบปัญหาจะร่วมกันแก้ไขปัญหา และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม พร้อมส่งต่อความรู้ให้กับชุมชน ด้วยการส่งเสริมชุมชน

จัดให้มีการอบรมเชิงปฎิบัติการ และเพิ่มการจัดทำมาตรฐานด้านต่างๆ เช่น GAPรวมถึงมาตรฐานเพื่อการส่งออกสู่ประเทศยุโรป และมีการสื่อสารกิจกรรมผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น การจัดทำเพจ”ชุมพรโมเดล”เพื่อเป็นสื่อกลาง ให้ชุมชนได้ติดตามความเคลื่อนไหว และประชาสัมพันธ์เชิงรุก โดยการจัดทำ การถ่ายทอดสด facebook live การจัดกิจกรรมอบรม และการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกลางต่างๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบ

“ชุมพรโมเดล ” เข้าใจ เข้าถึง ลงมือทำ คือคำตอบ” #กลไกการพัฒนาพื้นที่เพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมจังหวัดชุมพร #ชุมพรโมเดล #มหาวิทยาลัยแม่โจ้ #มหาวิทยาลัยแม่โจ้ชุมพร #มหาวิทยาลัยแม่โจ้แพร่เฉลิมพระเกียรติ #อำเภอท่าแซะ #อำเภอเมือง #ชุมพร #บพท