วันนี้ (7 กันยายน 2565) พลตำรวจเอกธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ให้เกียรติเป็นประธานและสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม ชั้น 3 โรงแรมเซ็นทรา บาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร โดยมี นายเขมพล อุ้ยตยะกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกรมการท่องเที่ยว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 21 หน่วยงาน แสดงเจตจำนงเพื่อผนึกกำลังบูรณาการความร่วมมือในลักษณะภาคีหุ้นส่วน (Partnership (ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร (NGOs) และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว) ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก เพื่อร่วมกันส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวทั้งจากนักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ทุกคนรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัยเมื่อพำนักอยู่ในประเทศไทย
พลตำรวจเอกธรรมศักดิ์ วิชชารยะ กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเป็นสักขีพยานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) ในวันนี้ โดยได้เปิดเผยว่า พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยในมาตรการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์ และเล็งเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนเพื่อตัดช่องโอกาสมิให้มีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในทุกรูปแบบ แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยได้รับการจัดระดับอยู่ในกลุ่มเทียร์ 2 ตามรายงาน US TIP Report 2022 แต่ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์ทางเพศต่อเด็กในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวบางแห่ง ดังนั้น การที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์เดิมเชิงลบที่กล่าวหาว่าประเทศไทยใช้เพศพาณิชย์ดึงดูดนักท่องเที่ยว ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างมาตรฐานทางการท่องเที่ยวที่ปกป้องและคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์ การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก รวมทั้งกำหนดมาตรการและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมภาคธุรกิจในการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยจากการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทุกรูปแบบ
นายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกฝ่ายบูรณาการความร่วมมือในลักษณะภาคีหุ้นส่วน ระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก ระหว่าง ๒๑ หน่วยงาน โดยร่วมกันพัฒนามาตรการที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทุกรูปแบบ ทั้งมาตรการเชิงป้องกันและมาตรการจูงใจ การพัฒนาหลักสูตรอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในสถานประกอบการและนักศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทุกรูปแบบ การพัฒนามาตรฐานทางการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมการสร้างแบรนด์ (Branding) และการใช้ตราสัญลักษณ์ที่เกี่ยวกับธุรกิจที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็กให้เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของสถานประกอบการ และการประชาสัมพันธ์โครงการหรือแผนการต่อต้านการค้ามนุษย์และการล่วงละเมิดทางเพศเด็กของประเทศไทยบนสื่อโซเชียลต่างๆ รวมถึงการขยายการดำเนินการไปยังสถานประกอบการประเภทอื่น ในห่วงโซ่อุปทานทางการท่องเที่ยว
นายทวีศักดิ์ วาณิชย์เจริญ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวทิ้งท้ายว่า กรมการท่องเที่ยวยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย ถือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ประเทศไทยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโต มีเสถียรภาพอย่างยั่งยืน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น โดยสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว สามารถผลักดันให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวระดับโลกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทุกระดับ ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับเด็ก (Child Safe Friendly Tourism Project) ร่วมกันระหว่าง ๒๑ หน่วยงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวไทยและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้จะประสบผลสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี และเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน
ทั้งนี้ 21 หน่วยงานที่ร่วมลงนาม ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมการท่องเที่ยว สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมบัญชีกลาง กรมสรรพากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมโรงแรมไทย มูลนิธิเพื่อความเข้าใจเด็ก (FOCUS) มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation) มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิวัฒนเสรี มูลนิธิรักษ์เด็ก และมูลนิธิเอ – ทเวนตี้วัน (A 21 Foundation)