กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมรณรงค์เนื่องในวันหัวใจโลก วันที่ 29 ก.ย. 2565 ตามคำขวัญ สหพันธ์หัวใจโลก (The World Heart Federation) คือ USE HEART FOR EVERY HEART: ใช้ใจเพื่อรักษาหัวใจทุกดวง ให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือด การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงร้อยละ 32 หรือประมาณ 17.9 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย
วันนี้ (28 กันยายน 2565) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า วันที่ 29 กันยายน ทุกปี เป็นวันหัวใจโลก (World Heart Day) โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย สาเหตุเกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงที่หัวใจตีบตัน ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากการสะสมของไขมัน โปรตีน ที่บริเวณผนังด้านในของหลอดเลือด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ คือ อายุ เพศ ประวัติครอบครัว ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะอ้วน โดยโรคนี้มักเป็นโรคแทรกซ้อนในผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดหรือไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือระดับความดันโลหิตได้ตามเป้าหมายการรักษาของแพทย์
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า หัวใจเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายจึงควรดูแลสุขภาพให้มีหัวใจที่แข็งแรงเพื่อชีวิตที่ยืนยาว สำหรับวันหัวใจโลกในปี 2565 ถือเป็นโอกาสสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดโดย ใช้ใจเพื่อรักษาหัวใจทุกดวง ด้วยหลัก 3 ประการ ดังนี้ 1.ใช้ใจเพื่อมนุษยชาติ (FOR HUMANITY) สร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการสุขภาพให้ครอบคลุมประชาชนรวมถึงกลุ่มเปราะบาง กระทรวงสาธารณสุขไม่หยุดนิ่งในการดำเนินการพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อการดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียม สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพโดยไม่มีข้อจำกัด การพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านการแพทย์อย่างแพร่หลายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
มีแอปพลิเคชั่นในการติดตามสุขภาพและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตน การตรวจคัดกรองสุขภาพ การนัดหมายเข้ารับบริการ การตรวจติดตามและการรับยาอย่างต่อเนื่อง 2.ใช้ใจดูแลธรรมชาติ (FOR NATURE) มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการทำให้โลกมีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพหัวใจ
กรมควบคุมโรค แนะนำให้ประชาชนตรวจเช็คคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM2.5 สูง หากเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงต้องสวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น และช่วยกันลดกิจกรรมที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 เช่น งดเผาขยะ งดจุดธูป หมั่นเช็คสภาพรถ เพื่อลดควันดำ เป็นต้น 3.ใช้ใจเพื่อตัวคุณ (FOR YOU) ความเครียดเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายมากขึ้นถึงสองเท่าเช่นเดียวกับการนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย และไม่สามารถปรับสมดุลการใช้ชีวิตได้ กระทรวงสาธารณสุขแนะนำวิธีการปฏิบัติตนเพื่อสุขภาพดีหลีกเลี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยหลัก 3อ. 2ส. ดังนี้ กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ควบคุมอารมณ์-ความเครียด ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
ทางด้านนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า กรมควบคุมโรคเน้นย้ำให้ประชาชนดูแลสุขภาพตนเอง รู้เลขเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ (Know Your Numbers & Know Your Risks) รู้ค่าน้ำหนัก ส่วนสูง ระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลและระดับไขมันในเลือด ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการดูแลสุขภาพ นอกจากนี้ ประชาชนควรเลือกรับประทานอาหารลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม และควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปีทุกๆปีเพื่อค้นหาความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อในระยะต้นเพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด