ปลัด พม. หนุนศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลทั่วประเทศ “รีสตาร์ท สับสวิตซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ”

News Update social

เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติงานของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 พร้อมทั้งมอบนโยบายการขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่ ให้กับคณะผู้ตรวจราชการกระทรวง พม. พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด (พมจ.) 25 จังหวัด ในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1 2 3 และ 7 และหัวหน้าหน่วยงานส่วนกลาง ณ โรงแรมบางกอกชฎา (โรงแรมกราฟ) กรุงเทพฯ

 

นายอนุกูล กล่าวว่า จากเหตุการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็กในสถานรองรับเอกชนที่จังหวัดสมุทรสงคราม นับเป็นข้อท้ายสำหรับการทำงานอย่างมืออาชีพของเจ้าหน้าที่กระทรวง พม. ในพื้นที่ ที่ต้องดำเนินการตรวจสอบสถานรองรับเอกชนทั่วประเทศ โดยยึดกฎหมายเป็นมาตรฐานการทำงาน ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดในเรื่องกำลังคนและงบประมาณ

สำหรับศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลที่มีอยู่ 8,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 เราจะขับเคลื่อนด้วยนโยบายใหม่ คือ “รีสตาร์ท สับสวิตซ์ เพิ่มประสิทธิภาพ” เพื่อเร่งแก้ปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนให้ทั่วถึงและรวดเร็ว โดยจะมีการทบทวนคณะทำงานของศูนย์ และไม่จำกัดว่า ศูนย์จะตั้งอยู่ในหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น วัด โรงเรียน หรือสถานที่อื่น เพราะเราต้องการให้ทุกสถานที่สามารถเข้าถึงและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้จริงๆ และที่สำคัญคือ ศูนย์ทุกศูนย์ต้องขับเคลื่อนจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะรู้สาเหตุปัญหาที่แท้จริงและสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม. (นายจุติ ไกรฤกษ์)

นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ กระทรวง พม. มีสภาเด็กและเยาวชน และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) 300,000 กว่าคนกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งช่วยศูนย์ช่วยเหลือสังคมตำบลทำงานในระดับพื้นที่ รวมทั้งการใช้ฐานข้อมูลกลุ่มเปราะบางจาก TPMAP (ระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า) และสมุดพกครอบครัว ที่เป็นฐานข้อมูลครัวเรือนเปราะบาง เพราะปัจจุบัน เราต้องปรับตัว ต้องทำงานด้วยข้อมูล เพื่อความแม่นยำและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อีกทั้งทุกหน่วยงานที่ทำงานด้านสวัสดิการสังคมต้องร่วมมือเข้ามาช่วยกัน เพราะมีหน้าที่ร่วมกันเพื่อสวัสดิการสังคมสำหรับคนไทยทุกคน

นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า การให้บริการของศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน พม. โทร. 1300 จะมีการเร่งแก้ปัญหาสายค้าง คือ อยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่โทรกลับเพื่อสอบข้อเท็จจริงและให้ความช่วยเหลือต่างๆ เนื่องจากแต่ละวัน มีประชาชนโทรเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลให้มีสายสะสมต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปีงบประมาณ 2566 ได้มีการวางแผนแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว โดยจะมีการเพิ่มคู่สาย เพิ่มกำลังคน และพัฒนาทักษะเจ้าหน้าที่ เพื่อให้สามารถโทรกลับและประสานส่งต่อความช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด