ทีเส็บดันงานเกษตรภาคเหนือขึ้นแท่นงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาค

Business News Update

ทีเส็บร่วมสนับสนุนงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ผลักดันเป็นงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Best Show) มั่นใจศักยภาพด้านวิชาการและนวัตกรรมการเกษตรของ มช. พร้อมสนับสนุนต่อเนื่อง มุ่งเป้าสู่งานระดับประเทศและนานาชาติ

1 ธันวาคม 2565 – ดร. ศุภวรรณ ตีระรัตน์ รองผู้อำนวยการสายงานพัฒนาและนวัตกรรม สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) สสปน. หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า ทีเส็บได้ให้การสนับสนุนคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 – 12 ธันวาคม 2565 บนพื้นที่กว่า 400 ไร่ของศูนย์วิจัย สาธิต และฝึกอบรมการเกษตรแม่เหียะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเล็งเห็นว่างานดังกล่าวมีศักยภาพทั้งในเชิงพื้นที่ เนื้อหา คุณภาพงาน และการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน สอดคล้องกับเงื่อนไขของการสนับสนุนงานแสดงสินค้าที่สามารถยกระดับเป็นงานแสดงสินค้าระดับภูมิภาค (Regional Best Show) ได้

ทั้งนี้ ทีเส็บมีกลยุทธ์การขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าที่มุ่งตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่แต่ละภูมิภาค ซึ่งอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารเป็นอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ และยังเป็นหนึ่งในห้าอุตสาหกรรมเป้าหมายที่   ทีเส็บมุ่งส่งเสริมสนับสนุน โดยทีเส็บได้สนับสนุนงบประมาณ, เทคโนโลยี รวมทั้งให้คำปรึกษา เสริมสร้างแนวทางในการพัฒนางานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 ให้ยกระดับเป็นงานแสดงสินค้า ที่นอกเหนือจากการจัดแสดงนวัตกรรม เทคโนโลยี และผลิตภัณฑ์ด้านการเกษตรแล้ว ยังมุ่งเน้นการเจรจาธุรกิจ (Business matching) เพื่อหวังผลด้านเศรษฐกิจ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าทางรายได้แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมแสดงสินค้าภายในงาน

“ในงานเกษตรภาคเหนือ ครั้งที่ 10 นี้ ทางทีเส็บได้ส่งเสริมให้มีพื้นที่แสดงสินค้าและกิจกรรมที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยมีผู้แสดงสินค้า (exhibitor) ที่อยู่ในองค์ประกอบพื้นที่กิจกรรมเชิงธุรกิจ หรือ B2B จำนวน 104 รายจาก 6 โซนแสดงสินค้า มีผู้ซื้อที่เข้าร่วมเจรจาธุรกิจจำนวนมากกว่า 100 ราย ซึ่งคาดว่าจะเกิดมูลค่าการซื้อขายจากการจัดงานครั้งนี้ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท นับเป็นการยกระดับงานเกษตรภาคเหนือให้เป็นงานแสดงสินค้าชั้นนำของภูมิภาค อีกทั้งยังมีแผนระยะ 3 – 5 ปีในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาต่อเนื่องเป็นงานแสดงสินค้าระดับประเทศและระดับนานาชาติในอนาคตอีกด้วย” ดร.ศุภวรรณ กล่าว

นอกเหนือจากการสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมการตลาดแบบ B2B แล้ว ทีเส็บยังสนับสนุนเทคโนโลยี Biz Connect สำหรับระบบลงทะเบียนและการทำ Business matching ภายในงาน ซึ่งระบบ Biz Connect จะช่วยอำนวยความสะดวกในการลงทะเบียนผู้เข้าชมงานและการทำนัดหมายเจรจาธุรกิจระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ช่วยจัดเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และประมวลผลอัตโนมัติ ทำให้สามารถวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจของงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ทีเส็บยังมีเครื่องมือในการวัดคาร์บอนฟุตปรินท์ของงานตามนโยบายการจัดงานอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด “นวัตกรรมเกษตรอัจฉริยะ เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ของงานครั้งนี้เป็นอย่างดี

“คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับด้านงานวิจัยชั้นนำและนวัตกรรมการเกษตรที่ก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง ทีเส็บมองเห็นศักยภาพของงานที่มีคุณภาพของเนื้อหาที่โดดเด่น มีความน่าเชื่อถือ สามารถสร้างผลกระทบต่อคลัสเตอร์ในอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น การจัดในเมืองไมซ์ซิตี้อย่างเชียงใหม่ที่เป็นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนบนยังมีข้อได้เปรียบด้านการเข้าถึงที่สะดวก สภาพแวดล้อมและบริการต่าง ๆ ครบครัน เอื้อต่อการตลาดและเศรษฐกิจอย่างยิ่ง

ซึ่งทางทีเส็บหวังว่าการพัฒนางานแสดงสินค้าร่วมกันกับคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้จัดงานครั้งนี้จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์อย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป โดยเฉพาะการขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศให้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Quick win ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๖ นี้ ทีเส็บได้ให้การสนับสนุนงานแสดงสินค้าเพื่อยกระดับเป็นงานระดับภูมิภาค หรือ Regional Best Show จำนวนทั้งสิ้น ๕ งานด้วยกัน โดยงานเกษตรภาคหนือครั้งที่ ๑๐ ถือเป็นหนึ่งเดียวของงานแสดงสินค้าในภาคเหนือที่ได้รับการสนับสนุน” ดร.ศุภวรรณ กล่าวสรุป