“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคข้อมูลเฝ้าระวังโรคในปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม –29 ธันวาคม 2565 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจำนวน 70,010 ราย จาก 77 จังหวัด ไม่พบผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด 3 อันดับ คือ อายุ 15-24 ปี รองลงมา อายุ 25-34 ปี และ อายุ 65 ปีขึ้นไป พบผู้ป่วยกระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ภาคที่มีอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ ตามลำดับ
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรคได้รับแจ้งเหตุการณ์อาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนจำนวน 8 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่เป็นการเกิดในโรงเรียน สาเหตุมาจากอาหารอาหารที่ปรุงสุกไว้นานแล้วและไม่ได้อุ่นซ้ำ ”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพคาดว่าในช่วงเดือนมกราคมจะมีวันเด็ก และเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีการแจกจ่ายอาหาร ขนม และการจัดเลี้ยงรวมกลุ่ม อาจทำให้มีความเสี่ยงพบผู้ป่วยด้วยโรคอาหารเป็นพิษเป็นกลุ่มก้อนได้เพิ่มขึ้น ผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษ จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ คอแห้งกระหายน้ำ และอาจมีไข้ได้ ในรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระมากๆ ผู้ป่วยอาจมีภาวะช็อกหมดสติได้ การช่วยเหลือเบื้องต้นควรให้จิบสารละลายเกลือแร่ โอ อาร์ เอส บ่อยๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ถ้าอาการไม่ดีขึ้นให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า ควรเลือกซื้ออาหารที่สด สะอาด รูป รส กลิ่น สี ไม่ผิดปกติ และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาปรุงประกอบด้วยความร้อนให้สุกอย่างทั่วถึง ที่สำคัญขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ไม่รับประทานอาหารดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ อาหารที่ปรุงไว้นานเกิน 2 ชั่วโมง ต้องนำมาอุ่นร้อนให้ทั่วถึงก่อนรับประทานทุกครั้ง เลือกบริโภคอาหาร น้ำและน้ำดื่มที่สะอาดมีเครื่องหมาย อย. ล้างมือด้วยสบู่และน้ำให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำหรือสัมผัสสิ่งสกปรก หากอาหารที่รับประทานมีรูป รส กลิ่น สี เปลี่ยนไป ไม่ควรนำมารับประทานต่อ สำหรับผู้ประกอบอาหาร ควรยึดหลักสุขอนามัยของผู้ปรุงและสุขาภิบาลอาหาร หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”