ประสบการณ์หลากวิถี กับสามจังหวัดปลายด้ามขวานไทย วัฒนธรรมแดนใต้ที่งดงาม

Lifestyle News Update social Travel

ต้องบอกก่อนเลยว่า ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีโอกาสได้เดินทางไปยังชายแดนใต้ ซึ่งครั้งนั้นแอบประทับใจในอัธยาศัยของคนพื้นที่ และบอกกับตัวเองว่า หากมีโอกาสจะเข้าไปเยือน

แล้ววันเวลาที่ประทับใจก็กลับมาอีกครั้ง ภายใต้การสนับสนุนของ พันเอกชลัช ศรีวิเขียร ศูนย์สันติวิธี กอ.รมน. กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ที่พาคณะสื่อมวลชนกลุ่มเล็กๆ เดินทางไปสัมผัสกับวัฒนธรรมวิถีของจังหวัดชายแดนใต้กัน

Day 1

วัดช้างให้

… เช้าตรู่ของวัน ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา จากสนามบินดอนเมือง กรุงเทพมหานคร สู่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยนกเหล็กที่ชื่อ นกแอร์ พาเหินฟ้าในเวลาเพียงชั่วโมงเศษ คณะของเราก็มาถึงหาดใหญ่ ก่อนจะเดินทางกันต่อไปยังจังหวัดปัตตานี

สถานที่แรกสำหรับเมืองปัตตานีที่ต้องมาคือ กราบสักการะหลวงปู่ทวด วัดช้างให้  หรือ วัดราษฎร์บูรณาราม วัดสวย ปัตตานี ที่มีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี เลยทีเดียว อีกทั้งยังเป็น ที่เที่ยวปัตตานี ที่เป็นเหมือนศูนย์รวมจิตใจของชาวใต้ ไม่ว่าใครที่มาถึงปัตตานี ต้องแวะมาเที่ยวชมความสวยงาม และกราบสักการะหลวงปู่ทวด องค์จำลอง

ความศักดิ์สิทธิ์และตำนานของหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ยังคงเป็นตำนานที่เล่าสืบกันมายาวนาน ว่า ครั้งหนึ่ง หลวงปู่ทวดได้เดินทางด้วยเรือสำเภาไปยังอยุธยา แต่เกิดพายุ และไม่สามารถเดินทางต่อได้ ระหว่างนั้นน้ำดื่มก็หมดลง หลวงปู่ทวดจึงได้จุ่มเท้าซ้ายลงไปในน้ำทะเล และน้ำบริเวณนั้นกลับกลายเป็นน้ำจืดที่สามารถดื่มได้ ทำให้เป็นที่อัศจรรย์ เมื่อท่านมรณภาพแล้ว ได้มีการนำพระศพท่านมาไว้ที่วัดช้างให้แห่งนี้ ทำให้มีการจัดงานสรงน้ำอัฐิหลวงปู่ทวด เป็นประจำทุกปี ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ช่วงประมาณเดือนเมษายน

“วันนี้วันที่ 9 เดือน 9 ถือว่าเป็นวันดีมาก” หนึ่งในคณะเอ่ยขึ้น พลางนำดอกไม้ธูปเทียนสักการะองค์หลวงปู่ทวดและปิดทองเพื่อเป็นสิริมงคล

… เรื่องความปลอดภัยแคล้วคลาดจากภยันตรายต่างๆ องค์หลวงปู่ทวดเป็นที่เลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนเป็นอย่างมาก เรียกว่า หากจะเข้ามาเยือนจังหวัดปัตตานี จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นการเดินทางที่ทุกคนต้องมา

ร้านอิควาน ดีไลท์ (IKHWAN DELIGHT)

… หลังจากขอพรไหว้พระเสร็จ คณะเดินทางกันต่อเพื่อไปพบกับ ร้านอาหารกลางวัน ที่ชื่อ อิควาน ดีไลท์ จังหวัดปัตตานี  ต้องขอบอกเลยว่าที่นี่ เป็นสาขาที่ใหญ่ที่สุดในโลก  เราได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก อาจารย์อาคม  โสมนัส (มะรูฟ) ผู้บริหาร และน้อง ๆ ที่ GISBH  กับอาหารที่หลากหลาย ราคาไม่แพง ไม่ว่าจะเป็น ผัดไทย ไก่ทอด ซุปเห็ดกับขนมปังกระเทียม โรตี ทานกับแกง สลัดไก่รมควัน ซีซาร์สลัด ราดหน้า  และข้าวต่าง ๆ  จากอุสเบกิสถาน  อาหรับ และปากีสถาน ฯลฯ

สำหรับ GISBH ที่กล่าวถึงนี้ มีรูปแบบการบริหารงานตามระบอบอิสลาม แนวคิดของ GISBH คือ การสร้างธุรกิจฮาลาลโดยมุสลิม ซึ่งมีแนวคิดตรงกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยมีธุรกิจครอบคลุมครบวงจร มีสาขามากกว่า 100 สาขาทั่วโลก เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม ของประชาชน โดยเฉพาะที่สังคมอิสลามตามหลักความรักซึ่งกันและกันในทุกเชื้อชาติศาสนา โดยมีเครือข่ายอยู่ทั่วโลก มีบริษัทลูก 10 บริษัท ดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกัน โดยมีธุรกิจต่าง ๆ มากกว่า 500 ธุรกิจ

นอกจากจะมีร้านอาหาร เบเกอรี่แล้ว ยังมีโรงงาน ซักรีด คลินิค ร้านบูติก ร้านตัดเสื้อ ตลอดจน ในเรื่องของการศึกษา ที่มีตั้งแต่ระดับเนิร์สเซอรี่ อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษาทั่วประเทศ ส่วนสาขาต่างประเทศ พยายามให้มีสาขาในทุกทวีป หรือหากไม่มีก็จะส่งตัวแทนไปเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับสังคมที่นั่น กับผู้นำ และองค์กรศาสนา ทั้งใน ออสเตรเลีย รัสเซีย โดยมีเป้าหมายหลักคือ การกลับคืนสู่พระเจ้า

อาจารย์อาคม โสมนัส(มะรูฟ)การดำเนินกิจกรรมของ GISBH นอกเหนือจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ดำเนินการตามหลักการอิสลาม หลักฮาลาลขายไม่แพงแล้ว ก็ยังเน้นการทำกิจกรรม ขัดเกลาจิตใจ ฟื้นฟูจิตวิญญาณ ด้วยวิถีการดำรงชีวิตอิสลาม ตั้งแต่ตื่นนอนจนนอนหลับ และหากเกิดปัญหาใน GISBH ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว ครอบครัว ปัญหาของลูก ๆ ภรรยา หรือ ปัญหาวัยรุ่น GISBH ก็พร้อมช่วยกันแก้ไข

โดยจะมีทีมเฉพาะในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำหรับบรรดาผู้นำ นั้น จะทำการดูแลพัฒนา และฟื้นฟูจิตวิญญาณ ของทุกคนในองค์กรที่ทำกันเป็นประจำในทุกวัน สำหรับแนวการทำธุรกิจเป็นไปตามหลักอิสลาม คือ เป็นศาสนาแห่งสันติสุข การทำการค้าจึงยึดมั่นในมุมของศาสนา ไม่สร้างความลำบากให้แก่ผู้อื่น”

ภายในร้าน อิควาน ดีไลท์ แห่งนี้ แบ่งสัดส่วนออกเป็นหลายโซน ตั้งแต่แรกเริ่มเข้าสู่ภายในร้าน จะพบเสื้อผ้า ของใช้ นำเข้ามามาเลเซีย และ น้ำผลไม้ ที่ส่งตรงมาจากนครเมกกะ ซาอุฯ ที่นั่งสำหรับทานอาหารติดแอร์เย็นฉ่ำ สวยงาม สะอาดตา ส่วนโซนทำอาหารที่หลากหลายอยู่ด้านข้าง

อาหารเมนูต่างๆ ถูกรังสรรค์ลำเลียงเข้ามาไม่ขาดสาย  หน้าตาน่าทาน และอร่อยมาก ต้องบอกว่าถือเป็นมื้อแรกของเมืองปัตตานีที่อิ่มจุกกันทีเดียว

แหลมทอง รังนกไทย

ถัดจากนั้นเราเดินทางกันต่อเพื่อเข้าชมโรงงานผลิตรังนกแท้ แบรนด์ “แหลมทองรังนกไทย”  โดยคุณธานัท  เด่นสันติกุล หรือคุณแบงค์  ผู้บริหารซึ่งเป็นทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจที่มีมานานหลายสิบปี ปัจจุบันธุรกิจแบรนด์รังนกแท้ ที่ชื่อ แหลมทองรังนกไทย เติบโตขยายปีกออกไปมากมาย  โดยผลิตภัณฑ์มีหลายแบบบรรจุขวด ซึ่งมีทั้งแบบสเตอริไลซ์ และแบบพาสเจอไรซ์  รวมทั้งรังนกต้มสดกับใบเตยที่ส่งกลิ่นหอมฉุยรสชาติดีปรุงสดโดยเชฟแบงค์ผู้บริหารที่นำเสนอให้คณะของเราได้ชิมกันถ้วนหน้า

ต้องบอกว่าเป็นครั้งแรกกับการได้ชิมรังนกร้อน และก็ไม่ทำให้ผิดหวังหอมอร่อยทำให้สดชื่นอย่างน่าแปลกใจ แถมยังมีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย สามารถนำไปต้มชงทานกันได้หลายแก้ว เหมาะสำหรับทำเองได้ที่บ้าน

ที่โรงงาน ถูกแบ่งออกเป็นสัดส่วน ทั้งแบบโรงผลิตที่ป้องกันเรื่องความสะอาดสุดๆ ก็จะแบ่งพื้นที่เอาไว้ ส่วนของศูนย์เรียนรู้ Leaning Center ก็จะเปิดให้ผู้สนใจเข้าไปชมการทำความสะอาดรังนกทดลองทำด้วยตัวเอง กว่าจะขาวสะอาดตาอย่างที่เห็น บอกเลยว่า ใช้เวลานานมาก นั่นทำให้เห็นเลยว่า กว่าจะผ่านกระบวนการต่างๆ และต้องรักษาคุณค่าของผลิตภัณฑ์เอาไว้ เหตุใดรังนกจึงมีราคาค่อนข้างสูง

ล่องเรือแพกับผู้ว่าฯ ปัตตานี

ดร.ชลต ลีดเดอร์ของคณะ พาเราเดินทางกันต่อ เพื่อเก็บภาพความงดงามของมัสยิดกลางปัตตานี ที่ถือว่าสวยงามมาก อีกทั้งเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นศาสนสถานของชาวมุสลิมแถบภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของไทย

และก่อนจะเข้าไปที่แห่งนั้น ดร.ชลต พาเราเข้าไปพบกับคุณนับ นารีนาถ มั่นใจเกษตร เจ้าของแพร้านอาหารมายาวีร์ และบ้านสวนมายาวีร์ ซึ่งนอกจากจะมีร้านอาหารแล้ว ยังมีชุดมุสลิม ฮิญาบ ให้เช่า ซึ่งกลุ่มของเราได้รับความเอื้อเฟื้อให้ยืมสวมใส่แปลงกายเป็นสาวมลายูก่อนจะเข้าไปที่มัสยิด

มัสยิดกลางปัตตานี  ซึ่งความพิเศษของมัสยิดกลางนี้คือ เป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของผู้นับถือศาสนาอิสลามในภาคใต้ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองไทย ซึ่งมัสยิดกลางปัตตานี ได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2497 เนื่องจากรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวปัตตานีส่วนใหญ่นับถืออย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีชาวมุสลิมจำนวนมากอาศัยอยู่ในพื้นที่สี่จังหวัดภาคใต้จึงเห็นสมควรให้จัดสร้างมัสยิดขนาดใหญ่ ไว้เพื่อเป็นศูนย์กลางแก่ชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามทั่วประเทศ

และด้วยเวลาที่น้อยนิด ได้เข้าไปบันทึกความงามกันเพียงไม่กี่มุม แต่ก็เผยให้เห็นถึงความอลังการและความสง่างามของสถานที่ที่หากได้มาเยือนปัตตานี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่ไม่ควรพลาดเข้ามาเยี่ยมชม

.. และในช่วงค่ำของวันแรกกลางเมืองปัตตานี ท่าน“พาติเมาะ สะดียามู”  ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ให้เกียรติล่องเรือแพของร้านอาหาร มายาวีร์ เพื่อชื่นชมบรรยากาศสองฝั่งริมแม่น้ำปัตตานี พร้อมกับเปิดใจถึงการทำงานท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆ ของชายแดนใต้ อีกทั้งความเป็นสตรีทำให้ต้องเพิ่มการทำงานมากกว่าอีกหลายเท่า นับเป็นผู้ว่าฯ หญิงชาวมุสลิมคนแรกของไทยที่น่าสนใจทีเดียว

… หลังรับประทานอาหารพร้อมสัมผัสบรรยากาศยามค่ำคืนริมแม่น้ำปัตตานี เสร็จเรียบร้อย ก็เข้าพักกันที่โรงแรมเดอะริเวอร์ ปัตตานี โรงแรมบรรยากาศริมฝั่งแม่น้ำปัตตานี

Day 2

ศูนย์เรียนรู้พิพิธภัณฑ์ปราชญ์ท้องถิ่น มูลนิธิอาจารย์ฮัจจียร์ สุหลง โต๊ะมีนา

.. รุ่งอรุณ หลังทานอาหารเช้าเสร็จสรรพ การเดินทางก็เริ่มขึ้น โดยครั้งนี้เราได้ไปพบกับผู้หญิงเก่งอีกท่านหนึ่ง คุณหมอเพชรดาว โต๊ะมีนา  ซึ่งให้เกียรติเล่าถึงที่มาและการต่อสู้กับความยุติธรรมของครอบครัวตั้งแต่ครั้งอดีตที่ผ่านมา โดยมี  คุณจตุรนต์  เอี่ยมโสภา  สมาชิกสภาจังหวัดปัตตานี  และกรรมการมูลนิธิฯ  และคุณมูฮัมหมัดอารีฟ  แวสาแล  ผู้ช่วยคุณหมอเพชรดาว  ถ่ายทอดเรื่องราว ความทรงจำ ผ่านภาพเขียน ภาพถ่ายและข้าวของเครื่องใช้ของอาจารย์ ฮัจจียร์ สุหลง ที่อนุรักษ์เอาไว้ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ถึงประวัติ ความดีงาม ความจริง ความรักและความยุติธรรม ในบางช่วงบางขณะของการถ่ายทอดเรื่องราวทำเอาทั้งผู้เล่าและผู้ฟังถึงกับน้ำตาซึม

“ท่านนั่งอยู่ตรงบันไดนี้ เพื่อรอการกลับมาของอาจารย์และลูก ทุกวัน… จนวาระสุดท้ายของชีวิต”  คุณหมอเพชรดาว เล่าให้ฟังถึงความอาลัยของภรรยาท่าน ฮัจจียร์ สุหลง โต๊ะมีนา ต่อการหายตัวไปอย่างไม่มีวันกลับมา

 

เราแอบเห็นน้ำตาของคุณหมอลูกหลานตระกูล “โต๊ะมีนา” เรื่องราวจากก้นบึ้งของใจ เหล่านี้ทำเอาสะท้อนหัวใจจริงๆ

ปัจจุบัน กอ.รมน. ได้เข้ามาร่วมพัฒนาปรับปรุงสถานที่แห่งนี้ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ฯ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอีกแห่งที่อยู่ใจกลางเมืองปัตตานี และที่สำคัญเรื่องราวเหล่านี้จะอยู่ในใจของผู้มาเยือนตลอดไป

 

นับเป็นเกียรติอีกครั้ง เมื่อคุณหมอเพชรดาว นำคณะเข้าพบ คุณ เด่น โต๊ะมีนา อดีต รมว.มหาดไทยและอดีตสว.จ.ปัตตานี คุณพ่อของคุณหมอเพชรดาว ที่ยังแข็งแรงภูมิฐานไม่เปลี่ยนแปลง

เรากลับออกมาพร้อมกับความคิดที่ยังวนเวียนอยู่ในหัว

โดยหวังให้….  วันหนึ่งคราบน้ำตาของผู้สูญเสียจะเหือดแห้งลงและหมดไปในที่สุด และไม่อยากให้เกิดเรื่องราวเหล่านี้กับผู้ใด ไม่ว่าจะเป็นใคร เชื้อชาติใด ศาสนาใด ในแผ่นดินไทย

ร้าน ฮิญาบ ชื่อดัง ZU UAN

หลังร่ำลาจากศูนย์เรียนรู้ ฯ เราเดินทางต่อไปเพื่อยัง ร้าน ซู อ้วน ร้าน ฮิญาบ ชื่อดังของเมืองปัตตานี

แต่เพื่อให้ได้สัมผัสกับวิถีวัฒนธรรมของคนที่นี่ คุณมูฮัมหมัดอารีฟ  แวสาแล  (คุณยี) ก็พาเราไปร่วมพิธีฉลองแต่งงานของชาวมลายู และทานอาหารกลางวันแบบคนพื้นถิ่น ในครั้งแรกมองหน้าตาอาหารแล้วแปลกตา แต่เมื่อได้ทดลองชิม ป๊าด บอกเลยว่าอร่อยเหอะ ภายในงานเลี้ยงเขาจะจัดโต๊ะกลมเอาไว้ให้ไม่ต่างจากโต๊ะจีน เพียงแต่อาหารเป็นแบบพื้นถิ่น สามารถทานได้ตลอดเวลา หมดแล้วเสริฟใหม่

หลังจากนั้นก็ไปร้าน ซูอ้วน อย่างที่บอกไป ร้านนี้เป็นร้านจำหน่าย ฮิญาบ ชื่อดังของปัตตานี บริหารงานโดย คุณธาราทิพย์ ปาตัน(ซูอ้วน) และคุณวันฮูเซ็น มานิตย์พันธ์ เจ้าของกิจการ ที่ปัจจุบันได้ถ่ายทอดประสบการณ์สู่รุ่นลูกหลาน ไม่ว่าจะเป็นคุณฮายันตี สะนิ และอารียา กูนา เพื่อเข้ามาช่วยงาน ในตำแหน่งผู้จัดการและรองผู้จัดการร้าน

ที่บอกว่า ชื่อดังเพราะ เป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวที่นำคริสตัลของสวารอฟสกี้ (Swarovski) ลิขสิทธิ์นำเข้าจากออสเตรเลีย มาประดับตกแต่งให้เข้ากับผ้า”ฮิญาบ” นำเข้าจากญี่ปุ่น เพื่อให้ได้สีสันสวยงามและมีคุณภาพ โดยให้ดีไซเนอร์ชาวไทยเป็นผู้ออกแบบ นั่นทำให้งานแต่ละชิ้นราคาจึงแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับ แบบของงาน จำนวนคริสตัลที่ตกแต่ง และการดีไซน์ บางชิ้นจากหลักร้อย จนทยานขึ้นไปสูงถึงหลักแสน

คุณฮายันตี สะนิ ผู้จัดการร้าน เล่าว่า “สินค้าหลักจะเป็นผ้าคลุม ที่มีคริสตัลจากสวารอฟสกี้นำเข้ามาประดับ งานดีไซน์และการออกแบบไม่เหมือนที่อื่น ๆ ซึ่งนอกจากผลิตสินค้าภายใต้การออกแบบจากดีไซเนอร์ของ สวารอฟสกี้แล้ว ยังมีดีไซน์ไทย จะเรียงมือเอง คิดเองตามไอเดียเป็นงานแฮนเมด”

หลังจากนั้น ก็ได้เวลาอาหารค่ำกับมื้ออร่อยของร้านบ้านสวนมายาวีร์ ที่นี่กว้างขวางด้วยเนื้อที่และบรรยากาศ

วังยะหริ่ง

ในวันนี้คณะเรา ได้เข้าชมวังยะหริ่ง  จังหวัดปัตตานี  โดยคุณอูม หนึ่งฤทัย อับดุลบุตร เหลนเจ้าเมืองยะหริ่ง เจ๊ะน่าห์ พิพิธภักดี ผจก. แด๊กซิน และผจก.วังยะหริ่ง ร่วมนำชม วังยะหริ่ง แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 ปี พ.ศ. 2438 โดยพระยาพิพิธเสนามาตยาธิบดีศรีสุรสงคราม เป็นวังที่มีลักษณะเฉพาะตัวด้วย สถาปัตยกรรมผสมผสานกันระหว่างไทยมุสลิม จีน และยุโรป  ตัวอาคาร 2 ชั้น มีลักษณะครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างเป็นลานโล่ง ใต้ถุนตึกสูงชั้นบนแบ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ มีห้องพักของเจ้าเมืองและบุตรธิดา ช่องรับแสงประดับด้วยกระจกสีสด ช่องระบายอากาศ หน้าจั่วทำด้วยไม้ฉลุลวดลายงดงามจุดเด่น คือ บันไดโค้งแบบยุโรปทอดขึ้นสู่ระเบียงทั้งสองด้าน จากระเบียงมีประตูเปิดสู่ห้องโถงใหญ่ ลักษณะคล้ายท้องพระโรง

บริเวณโดยรอบแวดล้อมด้วยพันธุ์ไม้ร่มรื่นอายุกว่า    100 ปี   อีกทั้งยังเคยเป็นที่พักของ พลเอก ณรงค์ เด่นอุดม หรือ “คุณลุงติ๋ว” หรือ ต่วนกูอับดุลเลาะ ท่านเคยดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นที่ปรึกษากองทัพบก เป็นบุคคลสำคัญที่เป็นที่ยอมรับอย่างสูงในความรู้ความสามารถ ความดี และเป็นแบบอย่างที่ดีงาม จึงเป็นความภาคภูมิใจของคนปัตตานีอย่างมาก

โดย พลเอก ณรงค์ เด่นอุดม สืบเชื้อสายสุลต่านฟาฏอนี (ราญาฟาฏอนี) เป็นลูกหลาน “ตึงกูลามีเด็น” อดีตราญาปาตานีดารุสสลาม เกิดที่บ้านแขก ธนบุรี กรุงเทพฯ สมรสกับ ตึงกูซาบีดะห์ หรือ วุจจิรา พิพิธภักดี บุตรีของ พระพิพิธภักดี อดีตเจ้าเมืองสตูล มีบุตรด้วยกัน 3 คน จบการศึกษาจากสวนกุหลาบ และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ เคยรับราชการในกองทัพบก ผ่านตำแหน่งสำคัญมากมาย และเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ในปี 2542-2544 หลังเกษียณราชการได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวที่กรุงเทพฯ และที่วังยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

ทั้งนี้   “วังยะหริ่ง”  เป็นที่รู้จักไปทั่วเมื่อครั้งถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนด้วยฝีมือของ “พนมเทียน” หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และมีโอกาสโลดแล่นผ่านบทละครทางโทรทัศน์ในเรื่อง “มัสยา” ซึ่งผู้ประพันธ์ได้แรงบันดาลใจและผูกโยงเค้าโครงเรื่องจากการได้สัมผัสกับสถานที่แห่งนี้

รวมทั้ง  ภาพยนตร์เรื่อง ละติจูดที่ 6 เรื่องราวความรัก ความศรัทธา ท่ามกลางสงคราม ความขัดแย้ง และคราบน้ำตา ภายใต้การสนับสนุนของกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่เรารู้จักกันในชื่อย่อ กอ.รมน.  ซึ่งการเข้าชมสามารถติดต่อขออนุญาตได้ที่ทายาทเจ้าของวัง

และแล้วก็ถึงช่วงเวลาอาหารกลางวัน  พี่อูม – หนึ่งฤทัย เหลนเจ้าเมืองยะหริ่ง เจ้าของธุรกิจร้านอาหารข้าวผัดปูพี่อูม ร้านชื่อดังที่มีถึง 4 สาขา ด้วยข้าวผัดปูที่มีปูอู้ฟู่เต็มจาน ส่วนคณะของเราทุกคนได้รับทานข้าวยำฝีมือ เหลนเจ้าเมียง ไม่ได้ทำขาย แต่ทำให้ชิมกันเป็นกรณีพิเศษ

 

ข้าวยำสูตรวังยะหริ่ง ทำมาเสริฟอย่างพิถีพิถัน ด้วยเครื่องเยอะมากมายใช้ผักถึง  33 ชนิด คิดดูสิว่า กว่าจะซอยผักครบทุกชนิดจะใช้เวลานานขนาดไหน  ราดด้วยน้ำบูดูสูตรพิเศษ  แกล้มกับไก่กอแระ ปลากอแระ ผักเคียง ที่มี แตงกวา พริกขี้หนู มะเขือ สะตอ โดยเฉพาะเมื่อทานข้าวยำไปแล้ว ดื่มน้ำชาตามลงไป  มันวิเศษมากมาย ตบท้ายกันด้วย ผลไม้พื้นบ้าน ลองกอง และรูกู   ต้องยกนิ้วให้เชฟกิตติมศักดิ์ เจ้าคะ

สถาบันการศึกษาปอเนาะอิฮ์ซานียะห์ ดัรฮัม

เดินทางกันต่อไป ยัง สถาบันการศึกษาปอเนาะอิฮ์ซานียะห์ ดัรฮัม โดยได้รับการต้อนรับอย่างดีจาก คุณมูฮำมัดซูวรี  สาแล  นายกสมาคมสถาบันศึกษาปอเนาะจังหวัดชายแดนภาคใต้  ซึ่งในครั้งนี้ทำให้คณะเราได้เข้าใจถึงการเป็นผู้ให้  โดยสถานที่แห่งนี้จะเป็นแหล่งช่วยเหลือและพัฒนาเด็กที่ด้อยโอกาส  ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ได้รับการสั่งสอนอบรมดูแลจากครู  ที่ไม่ได้รับเงินเดือนมากมายอะไร  แต่ทำด้วยใจ  ให้ความเมตตากับเด็ก ๆ เหล่านี้เพื่อส่งออกสู่สังคมได้อย่างมีคุณภาพสามารถเลี้ยงตัวเองได้  และมีอนาคตที่ดีต่อไป

 

หลังจากนั้นคณะเราก็ได้ไปเที่ยวชม ทะเลแหลมตาชี หรืออีกชื่อเรียกคือ แหลมโพธิ์   อันซีนความงามจากธรรมชาติ ที่ปลายขวานทองของไทย

บริเวณโดยรอบของแหลมตาชี มีทั้งรีสอร์ทและบ้านพักตากอากาศเรียงรายตลอดเส้นทาง แต่ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวท้องถิ่นมากกว่า ที่นี่ค่อนข้างจะปลอดภัยในเรื่องของการเดินทาง เพราะเราสามารถเดินทางด้วยทางเรือจากปากแม่น้ำปัตตานีตัดตรงเข้าสู่แหลมตาชีได้เลย

ที่นี่เราจะเห็นกังหันลมอยู่ไกลลิบๆอีกฝั่งของทะเล แต่ดูเหมือนจุดเช็คอินสุดฮิตน่าจะเป็น ซากขอนไม้ขนาดใหญ่ริมหาด เพราะดูจะเป็นพล็อพ ฯ มุมฮิตไปโดยปริยาย

555 เมื่อเห็นเรือกอจอดเทียบลอยลำริมฝั่ง หลายคนจึงวิ่งเข้าใส่แบบไม่ต้องคิดเยอะ เพราะไม่มีให้เลือก ลำอื่นเขาออกทะเลกันไปหมดแล้ว แต่บอกเลยว่า เรือสีสันสวยงามแบบนี้ บันทึกภาพคราวไหนก็สวยงามคราวนั้น

 เปิดใจเจ้าเมืองปัตตานี “พาตีเมาะ สะดียามู”

ปิดท้ายค่ำคืนนี้ อย่างประทับใจกับการร่วมโต๊ะทานอาหารค่ำ โดยผู้ว่าฯ  “พาตีเมาะ สะดียามู” ด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีเยี่ยม งานนี้คณะของเรา จึงได้รับประทานอาหารพื้นถิ่น ไม่ว่าจะเป็นขนมจีนน้ำยาใต้ สเต๊กร้านดังของเมือง ข้าวยำรสเลิศ รวมถึงทุเรียนทรายขาว ทุเรียนชื่อดังของท้องถิ่น

นอกจากนี้ ท่านผู้ว่าฯ ยังพาชมสินค้าผลิตภัณฑ์จากชุมชนสำหรับการจำหน่ายออนไลน์  ที่ผู้ว่าฯ ไลฟ์สดขายเองและนำทีมคนรุ่นใหม่ที่ผู้ว่าฯ ตั้งเข้ามาช่วยในการไลฟ์สด เพื่อจำหน่ายผลิตภัณฑ์ช่วยเหลือคนในพื้นที่

พร้อมกันนี้ ท่านผู้ว่าฯ ยังได้ตอบคำถามสื่อมวลชนในหลายๆเรื่อง นอกจากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเมืองปัตตานีแล้ว สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นข้อกังวลของนักท่องเที่ยวอยู่คือ ความปลอดภัย ซึ่งผู้ว่าฯ กล่าวถึงการสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัย ในฐานะเจ้าเมืองปัตตานี ว่า “ความไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย ก็ยอมรับว่าปัตตานีนั้นความยาวนานในด้านสถานการณ์จังหวัดในสามชายแดนภาคใต้ของเราที่มีมานานเกือบยี่สิบปี ที่ผ่านมาล้วนนำพาถึงความรู้สึกความรุนแรงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ว่าฯ เองก็เจอเวลาไปกรุงเทพฯ เขาจะถามว่า ปัตตานีปลอดภัยหรือ จะไม่มีว่าปัตตานีเป็นอย่างไรบ้าง นี่คือความจริงที่เกิดขึ้นกับสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่ใช่เพียงปัตตานี

…ไปได้หรือ …ปลอดภัยหรือ …มีการระเบิดกันหรือไม่ เป็นคำถามพื้นฐานที่เกิดขึ้นกับเรา”

ผู้ว่าฯ ปัตตานี ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า “หลายปีมานี้ความเบาบางเป็นส่วนหนึ่ง เป็นคำตอบว่าเราค่อนข้างจะไม่มีเหตุการณ์ต่างๆ สถานการณ์จะนิ่งหรือไม่ก็ยังไม่ได้นิ่ง แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า ภายใต้การดูแล ความพร้อม และชุมชนสังคมบ้านเรา สิ่งที่จะเกิดขึ้นเราเชื่อมั่นว่าเราจะดูแลความปลอดภัย ของพี่น้อง ด้วยพี่น้องของเรา

โดยหลังสถานการณ์ต่างๆ ทางจังหวัด ก็มีการจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานสมโภชน์เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว การจัดงานของดีปัตตานี สีสันแห่งสายน้ำปัตตานี และอื่น ๆ ในแต่ละวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยือนเมืองปัตตานีประมาณ 30,000 – 40,000 คน ทุกวันนี้มีนักท่องเที่ยวที่ท่องเที่ยวอยู่ในปัตตานีทุกวัน นี่คือกระแสที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

คำถามทีว่า ปลอดภัยหรือไม่ ก็ต้องเป็นไปในความรู้สึกความเชื่อมั่น ถึงได้เชิญชวนว่า อยากให้ลองมาสักครั้งในเมืองปัตตานี คำว่าลองสักครั้ง คือสิ่งที่เราอยากนำเรียนพี่น้องประชาชนทุกคน ลองดูแล้วจะเจอในสิ่งที่เป็นจริงได้ เพราะเราไม่สามารถแก้ไขในความกลัวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเข้ามาเยือนจะทำให้เข้าใจและสัมผัสได้ อยากให้ดูในปัจจุบัน จะทำให้เราก้าวผ่านความกลัวได้

ส่วนใหญ่จะเกิดจากความรู้ที่ได้มาเยือน และบอกต่อ ก็อยากเชิญชวนท่านเข้ามาสัมผัสด้วยตนเอง ขณะเดียวกันเราในฐานะเจ้าของบ้าน เรียนรู้กับชาวบ้านร่วมกันว่าเราจะต้องมาช่วยกัน สร้างสภาวแวดล้อมที่อยู่กับคนทั้งประเทศที่อยู่กับความกลัว ไม่ง่ายที่จะสามารถแก้ไขได้โดยวันเวลาจะคลี่คลายไป นี่คือสิ่งที่มุมมองในมุมว่า วันนี้การสร้างบรรยากาศ กิจกรรม ในความสัมพันธ์ของคน สำคัญที่สุดคือคนข้างในปัตตานี  ความสัมพันธ์จากความหลากหลาย ทางความคิด ปฏิบัติ พฤติกรรม หลากหลายวัฒนธรรม

แต่เราจะแสวงจุดร่วมกัน จะสงวนให้เกียรติและเคารพในจุดต่างของกันและกัน โดยปกติผู้ว่าฯ เองในมิติของกิจกรรมต่างๆ  ผู้ว่าฯ จะไปร่วมงานทุกครั้ง เพื่อการหลอมรวมและลดช่องว่างทางวัฒนธรรมเหล่านั้น เมื่อคนข้างในลดช่องว่างแล้ว เพื่อสานสัมพันธ์ความต่างนี้ให้เป็นความต่างที่อยู่ร่วมกันได้ แล้วคนข้างนอกก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้เอง”

ผู้ว่าฯ กล่าวเชิญชวนให้มาเยือนปัตตานีอีกครั้ง ว่า “อยากเชิญชวนให้มาสัมผัสเมืองปัตตานี ในวิถีที่เราอยู่ บนพื้นฐานความหลากหลายของการอยู่ร่วมกัน ในความหลากหลายของวัฒนธรรม หรือแม้แต่เครื่องแต่งกายก็ยังมีความแตกต่างกัน แต่… สิ่งเหล่านี้อยากบอกคำเดียวเลยว่า ความแตกต่างไม่ใช่ความแตกแยก ความแตกต่างคือเสน่ห์ของเมือง ความหลากหลายแต่ไม่ใช่ความแตกแยก

ความแตกต่างไม่ใช่การเลือกปฏิบัติ แต่เป็นความแตกต่างในการใช้ชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในวิถีของคนปัตตานี

โดยแสวงจุดร่วมกันไม่ว่าจะอาหารการกิน การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ผู้ว่าฯ เดินเยอะมาก เพื่อสานสัมพันธ์และหลอมรวมกัน ต้องการชี้ว่า สิ่งเดียวที่ผู้ว่าฯ คิดมาตลอดคือการเคารพในความเป็นมนุษย์ร่วมกัน หลักนี้เป็นหลักในการทำงาน การเคารพในความต่าง เคารพในความเป็นมนุษย์ร่วมกัน คือการให้เกียรติกัน”

Day 3

… วันสุดท้ายสำหรับการเดินทางมาเยือนวิถีแห่งวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้กันแล้ว ก่อนเดินทางไปยังหาดใหญ่ สงขลาเพื่อขึ้นเครื่องกลับกทม. ทางผู้จัดให้เราได้เข้าไปสักการะ เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ที่ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองปัตตานี

สายมูเสร็จก็วิ่งไปถ่ายภาพ สตรีทอาร์ต ที่ ชุมชนคุณธรรมหัวตลาด มีบ้านเลขที่ 1 บ้านของเจ้าของโรงแรม CS Hotel  โรงแรมชื่อดังในปัตตานี แม้วันนี้จะปิดบ้าน ถ่ายภาพได้แค่เพียงภายนอก แต่แค่สีสันของบ้านเรือน การตกแต่งของแต่ละร้าน อย่าง “โหย่วฮุ่ย” ที่ลุกขึ้นเชิญชวนให้เราแวะเข้ามาถ่ายรูปได้อย่างมีไมตรี หรือจะหาซื้ออาหารแห้งของฝากจากปัตตานี ก็มีให้จับจ่ายใช้สอยกัน  ก่อนจะไปละลายทรัพย์กันต่อที่ตลาดกิมหยง หาดใหญ่

…. การมาเยือนสามจังหวัดแดนใต้ครั้งนี้ … ไม่ใช่เพียงคำยืนยันจากท่านเจ้าเมืองปัตตานีที่เน้นย้ำถึงความพร้อมของการเปิดเมืองเท่านั้น เราเองมีโอกาสได้มาสัมผัสโดยประสบการณ์ตรง ทำให้เห็นว่า… ไม่ว่าจะชาวไทยพุทธ หรือไทยมุสลิม หรือไทยเชื้อสายจีนในปัตตานี สิ่งที่ได้เห็นคือ ความมีอัธยาศัยไมตรี รอยยิ้มของแต่ละคน ที่ได้เข้าไปสัมผัสล้วนเป็นการตอกย้ำให้กับนักเดินทางได้มุ่งหน้าเข้ามาสู่ปัตตานีทั้งสิ้น

….ดังที่ท่านผู้ว่าฯ กล่าวเอาไว้ว่า “ปัตตานีหลากหลายด้านวัฒนธรรม มีผลไม้ที่เลื่องชื่อ มีศาสนสถานที่โดดเด่น  มีธรรมชาติที่งดงาม ล้วนแต่รอการเข้ามาเยือน เราเชื่อมั่นความร่วมมือร่วมใจของคนปัตตานีว่า คนปัตตานีพร้อมรับนักท่องเที่ยวให้เข้ามาสัมผัสกับปัตตานี มารับลมหายใจที่สะอาดบริสุทธิ์ที่ปัตตานีกันคะ” 

นาริฐา จ้อยเอม เรื่องและภาพ 

——————————

ขอขอบคุณ

ท่านพาตีเมาะ  สะดียามู   ผู้ว่าราชาการจังหวัดปัตตานี

พันเอกชลัช  ศรีวิเชียร  รองเสนาธิการ กอ.รมน.

คุณนารีนาถ  มั่นใจเกษตร (คุณนับ)  เจ้าของร้านอาหารมายาวี/บ้านสวนมายาวี

คุณหนึ่งฤทัย  อับดุลบุตร (คุณอูม)  เหลนเจ้าเมืองยะหริ่ง

คุณธาราทิพย์  ปาตัน  (ซูอ้วน)  เจ้าของร้าน ZU UAN 

GISBH อิควาน ดีไลท์ 

ดร.รชต ลาตีฟี  AMC Group

บริษัท 9 หน้าดี จำกัด  คุณชดา  บูรณะพิมพ์  และ คุณรุ่งนภา  ปักษี   ผู้บริหาร และผู้จัดโครงการ

คุณธานัท เด่นสันติกุล ผู้บริหาร แหลมทอง รังนกไทย