เลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาว บูรณาการหน่วยงานปรับแผนบริหารจัดน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำท่วมออกจากพื้นที่ ลดผลกระทบประชาชน
วันนี้ (7 ต.ค. 66) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำเขื่อนลำปาวและพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ร่วมกับ นายธวัชชัย รอดงามรองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์ ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนลำปาว สำนักงานชลประทานที่ 6 จ.กาฬสินธุ์ ว่า เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้รับจากผลกระทบฝนตกหนักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ปริมาณน้ำเขื่อนลำปาวเกินความจุเก็บกัก ซึ่งต้องมีการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อรักษาเสถียรภาพของตัวเขื่อน ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่เหนือเขื่อน 6 อำเภอ 24 ตำบล 134 หมู่บ้าน และพื้นที่ท้ายเขื่อน 5 อำเภอ 31 ตำบล 199 หมู่บ้าน
ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้บูรณาการแนวทางการช่วยเหลือเร่งด่วน โดยได้ติดตั้งเรื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบน้ำช่วยเหลือพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัด สนับสนุนเรือท้องแบนช่วยเหลือในการเดินทางสัญจรของประชาชน รวมทั้งการบริหารด้านสาธารณสุข ช่วยบรรเทาความเครียดต่อสถานการณ์น้ำท่วมด้วย ทั้งนี้ ได้สั่งการให้กรมชลประทานปรับลดอัตราการระบายน้ำเพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบน้ำท่วมบริเวณท้ายเขื่อนลำปาว และลดปริมาณน้ำที่ไหลลงลำน้ำชีแลละลำน้ำมูล
“จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงประชาชนที่ได้รับผลกระทบและได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำท่วมให้เร็วที่สุดและเร่งให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัย รวมทั้งเตรียมการฟื้นฟูหลังประสบอุทกภัย พร้อมให้นโยบายในการปรับแนวคิดหรือวิธีการใหม่ๆ โดยเฉพาะมิติของการระบายน้ำที่จะต้องพัฒนาให้ดีขึ้นเพื่อการบริหารจัดการน้ำในอนาคตที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันเขื่อนลำปาวมีปริมาณน้ำอยู่ที่ 2,005 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 101 ของความจุที่ระดับเก็บกัก ซึ่งมีปริมาณเกินความจุที่ระดับเก็บกัก 25 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ฝนของกรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่าช่วงหลังจากวันที่ 8 ต.ค. 66 สถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มเบาบางลง ซึ่งจะช่วยไม่ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำในระยาว โดยการเพิ่มศักยภาพของพื้นที่ลุ่มต่ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนลำปาว ให้พิจารณาพัฒนาเป็นพื้นที่แก้มลิงมีทางน้ำเข้าออก สำหรับใช้กักเก็บน้ำช่วงน้ำหลาก ซึ่งจะทำให้ในอนาคตสามารถบริหารจัดการน้ำได้ง่ายขึ้น รวมทั้งการปรับปฏิทินการเพาะปลูกข้าวให้เร็วขึ้น และส่งเสริมอาชีพในการทำประมงเพื่อสร้างอาชีพทางเลือกให้กับเกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซากต่อไป นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการขับเคลื่อนแนวทางการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนให้รับสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง และต้องเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับรับมือผลกระทบเอลนีโญด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว