“หมอเพื่อน – กอบกุลยา” ผอ.ศูนย์ดูแลสมดุลลำไส้ รพ.พญาไท 2 เปิดตัวการรักษาด้วย Probiotics เฉพาะบุคคลอย่างเป็นทางการแห่งแรกของไทย 

education Lifestyle News Update social

เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 เวลา 14.00 น. ที่ผ่านมา ศูนย์ดูแลสมดุลลำไส้ โรงพยาบาลพญาไท 2 ในเครือโรงพยาบาล พญาไท – เปาโล เปิดตัวการรักษาด้วย Probiotics เฉพาะบุคคล​อย่างเป็นทางการแห่งแรกในไทย นำทีมโดยมี แพทย์หญิง กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี (หมอเพื่อน) ผู้อำนวยการ ศูนย์ Premier Life Center โรงพยาบาลพญาไท 2 พร้อมด้วยคุณธัญญาเรศ เองตระกูล นักแสดง และดีเจชื่อดัง เป็นแขกรับเชิญพิเศษร่วมเสวนา โดย นายแพทย์ ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผู้อำนวยการฝ่ายมาตรฐานการแพทย์กลุ่ม 5 และผอ.ฝ่ายสนับสนุนการแพทย์โรงพยาบาลพญาไท 2 ร่วมเปิดงานในครั้งนี้ สำหรับการรักษาด้วย Probiotics เฉพาะบุคคล​เป็นการพัฒนาด้านการดูแลรักษาคนไข้เฉพาะบุคคลอย่างเต็มรูปแบบ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่มีความพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ครบครัน ตลอดจนการดูแลคนไข้อย่างใกล้ชิด และบริการที่เป็นเลิศตามมาตรฐานสากล

มนุษย์เริ่มรู้จักจุลินทรีย์ว่าเป็นแบคทีเรียตัวร้ายที่ก่อให้เกิดโรค ตั้งแต่สมัยหลุยส์ ปาสเตอร์ ต่อมาในปี 2007 สถาบันเฉพาะแห่งชาติอเมริกา The Human Genome Project ได้มีการค้นคว้าวิจัยทำการวิเคราะห์และจำแนกชื่อยีนของจุลินทรีย์ รวมทั้งประโยชน์ของจุลินทรีย์แต่ละสายพันธุ์ จนค้นพบว่ามนุษย์มียีนอยู่ทั้งหมดประมาณ 20,000 ยีน ซึ่งมีจำนวนเท่ากับยีนในแมลงวัน แต่ยีนของมนุษย์นั้นมีโครงสร้างที่ซับซ้อนกว่า ในขณะที่ที่จุลินทรีย์ในตัวแมลงวันมีมากกว่ามนุษย์ถึง 1,000 เท่า จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาสนใจจุลินทรีย์ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ จุลินทรีย์ที่ไม่ก่อประโยชน์และโทษ และจุลินทรีย์ตัวร้ายที่ทำให้เกิดโทษต่อร่างกาย สำหรับจุลินทรีย์ที่ให้ประโยชน์นั้น จะเรียกว่า Probiotic

 

พญ. กอบกุลยา จึงประเสริฐศรี (หมอเพื่อน)  ผู้อำนวยการ ศูนย์ Premier Life Center โรงพยาบาลพญาไท 2 เปิดเผยว่า เมื่อเรายังอยู่ในครรภ์มารดา จำนวนจุลินทรีย์ยังคงเป็นศูนย์ “0” แต่ทันใดที่คลอดออกมาเพียง 2 ชั่วโมงก็จะมีจำนวนจุลินทรีย์ 10,000 ล้านตัว ที่เกิดขึ้นจากบุคคลแรกที่สัมผัสทารก เสื้อผ้าที่ทารกสวมใส่ อากาศที่เราหายใจ และเพิ่มเป็น 100 ล้านล้านตัว เมื่อครบ 1 สัปดาห์ เท่ากับเราทุกคน ณ ตอนนี้ จุลินทรีย์สามารถสร้างขึ้นได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต แต่จะเป็นจุลินทรีย์ชนิดดีหรือร้ายก็ขึ้นกับตัวเรานั่นเอง เช่น หากดื่มแอลกอฮอล์มาก พักผ่อนน้อย มีภาวะเครียด ก็จะเป็นจุลินทรีย์ร้ายที่มาทำลายจุลินทรีย์ตัวดีให้หายไปเรื่อยๆ

พญ. กอบกุลยา กล่าวถึงประโยชน์ของ Probiotics หรือจุลินทรีย์ชนิดดีว่า “โดยทั่วไปแล้ว Probiotics มีประโยชน์ในการปรับสมดุลของจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารและลำไส้ใหญ่ ที่มีผลดีต่อสุขภาพรวมของร่างกาย โดยสรุปบทบาทสำคัญต่อสุขภาพ 6 ด้าน คือ 1. จุลินทรีย์ดีอำนวยการสร้างวิตามินให้กับมนุษย์ ทั้งวิตามิน B1, B6 ,B12, Folic และ วิตามิน K  2. ช่วยในเรื่องผิวพรรณ เพราะมีความเชื่อมต่อกันระหว่าง Gut-Brain-Skin Axis คือความเชื่อมโยงทางการแพทย์ระหว่างลำไส้ สมอง และผิวหนัง  3. เป็นแหล่งภูมิคุ้มกัน ที่สำคัญที่สุดของร่างกาย เพราะ 70% ของ Secretory IgA Antibody ที่ฆ่าเชื้อโรค สร้างจากต่อมน้ำเหลืองที่ผนังลำไส้ 4. ควบคุมความหิว อิ่ม เพราะจุลินทรีย์ดีสามารถสร้างกรดไขมันขนาดสั้น  Acetate , Butyrate สั่งการสมอง ให้สร้างฮอร์โมนควบคุมความหิว อิ่ม Cholecystokinin และ Peptide yy ได้

  1. สมดุลในเรื่องของอารมณ์ (Gut – Brain Axis) เพราะลำไส้สามารถสร้างสารสื่อประสาทสมอง Serotonin ได้เช่นเดียวกันกับสมอง  6. ช่วยในเรื่องของการป้องกันมะเร็ง เพราะจุลินทรีย์ที่ดีจะทำให้โปรตีนที่เรารับประทานเข้าไป ไม่ผันไปเป็นสาร Nitrosamine หรือ สารก่อมะเร็ง

โดยในแต่ละวัน จุลินทรีย์ในร่างกายจะไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงตลอดทั้งปริมาณและชนิด ตาม Lifestyle และการใช้ชีวิต ความต้องการ Probiotics ในแต่ละบุคคลจึงแตกต่างกันออกไปตามสภาวะสุขภาพ ดังนั้นการเติม Probiotics ให้แต่ละคนจึงมีความจำเป็นต้องเติมให้ เหมาะสมในเฉพาะบุคคล ซึ่งในปัจจุบันเราจะมีข้อมูลในเรื่องของสายพันธุ์ที่ถูกค้นคว้าแล้วจากจำนวนกว่า  35,000 สายพันธุ์ เราพอจะรู้ว่าแต่ละสายพันธุ์จะช่วยในเรื่องอะไรบ้าง ก็นำเอามาปรับใช้ในทางการรักษา  เช่น บางคนมีปัญหาเรื่องการย่อยอาหาร มีภาวะซึมเศร้า ปัญหาการนอนหลับ เป็นต้น

ดังนั้นการใช้  Probiotics เฉพาะบุคคล คือการเลือกสายพันธุ์ของจุลินทรีย์ดีที่สุดสำหรับความต้องการของแต่ละคน นั่นเอง เพื่อให้ตรงจุดและความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของแต่ละบุคคลให้ได้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมาก ที่สุด ซึ่งควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้ชำนาญการ โดยแพทย์จะทำการประเมิน ตรวจสุขภาพ พร้อมให้ คำแนะนำและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมของแต่ละบุคคล รวมไปถึงการติดตามและประเมินผลลัพธ์ของ การใช้ Probiotics ในระยะยาว”


 ด้าน นพ.ทวนทศพร สุวรรณจูฑะ ผอ.ฝ่ายมาตรฐานการแพทย์กลุ่ม 5 และผอ.ฝ่ายสนับสนุนการแพทย์โรงพยาบาลพญาไท2 เปิดเผยถึงเทรนด์สุขภาพของคนยุคปัจจุบันว่า “สุขภาพและ Probiotics เป็นเรื่องที่คนหลายคนให้ความสำคัญอย่างมากเนื่องจากการใส่ใจดูแลสุขภาพและเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและมากขึ้นผ่านช่องทางต่างๆ การใช้ Probiotics เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคบางโรค และถือเป็นอีกทางเลือกที่มีประโยชน์ในการเสริมสุขภาพลำไส้และระบบภูมิคุ้มกัน ไม่ต้องรับประทานยา ซึ่งโรงพยาบาลพญาไท 2 ในเครือรพ. พญาไท – เปาโล เป็นแห่งแรกในไทยที่เปิดให้บริการดูแลรักษา Probiotics เฉพาะบุคคล

ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากมายในตลาดเกี่ยวกับการรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในร่างกาย ซึ่งเป็นแบบรวม แต่หากให้แนะนำ ควรตรวจสอบว่าร่างกายของเราขาดจุลินทรีย์ชนิดใด แล้วจึงเลือกเติมจุลินทรีย์ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งวิธีการตรวจคือ การตรวจอุจจาระ ก็สามารถทราบได้ว่าเรามีจุลินทรีย์สายพันธุ์ใดบ้าง มีตัวร้าย ตัวดี จำนวนมากน้อยแค่ไหน แล้วนำมาวิเคราะห์ร่วมกับอาการของผู้ป่วย เพื่อนำไปปรับและผลิต Probiotics สายพันธุ์ที่เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วย พร้อมทั้งคุณหมอจะแนะนำวิธีการใช้ชีวิต ปรับพฤติกรรมอย่างเหมาะสมของแต่ละบุคคล”