สสส.จัดรูทพาชม Healty Space เน้นคุณภาพ เพื่อสุขภาพคนเมือง  

Lifestyle News Update social

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจของการประชุม เครือข่ายกองทุนสร้างเสริมสุขภาพนานาชาติ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2566  ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัด  คือกิจกรรม Field Visit โดยได้นำคณะผู้แทนเครือข่าย สสส.ลงพื้นที่สุขภาวะ ที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของคนเมือง อาทิ “Healthy Station อุโมงค์ปอด MRT ลุมพินี”  ที่ช่วยให้ทุกคนรู้จักผลกระทบของบุหรี่ และที่ “สวนป่าเบญจกิติ  พื้นที่สาธารณะ ปอดใหญ่ใจกลางเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้  รูทนี้มีผู้เข้าร่วม อาทิ ตัวแทนจากประเทศเกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ตองกา ฯลฯ

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เผยว่า ความสำคัญของ“พื้นที่สุขภาวะ” หรือ Healthy Space คือเป็นพื้นที่ส่วนกลางของชุมชนที่ดึงดูดให้ผู้คนออกมาใช้สอยและทำกิจกรรมร่วมกัน กระตุ้นให้ออกมาเคลื่อนไหวร่างกาย เดิน ปั่นจักรยาน และสันทนาการอื่นๆ เพราะหากออกกำลังกายไม่เพียงพอ มีความเสี่ยงสูงที่ก่อให้เกิดโรค NCDs สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพื่อทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพของประชาชน ทุกวัย ให้สามารถเข้าถึงสถานที่ ในเมืองอย่างปลอดภัยและอย่างเท่าเทียม จึงเป็นเรื่องสำคัญ

“วันนี้อยากให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้เห็นพื้นที่จริง ในการสร้างพื้นที่สุขภาวะ ที่คนไทยได้ประโยชน์ ทุกคนรู้ว่าการมีสุขภาพดีเริ่มมาจากภายใน แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือสิ่งแวดล้อมภายนอก เราอยากเห็นเมืองที่มีสุขภาพดี เช่นทางเดินสวนสาธารณะ กทม.เป็นตัวอย่างที่ดีในการนำองค์ความรู้ วิชาการที่มีการพัฒนาสู่นโยบายและกระจายให้เห็นในหลายพื้นที่ ซึ่งทุกอย่างที่ทำ เรารับฟังเสียงจากประชาชนที่มีส่วนให้ไอเดียและสุดท้ายคือการนำไปสู่การใช้จริง และได้เห็นทิศทางในอนาคตด้วยว่าการที่จะขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นสวนสาธารณะขนาดใหญ่ ต้องมีความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งในเชิงวิชาการจากมหาวิทยาลัย นักวิชาการ ประชาชนโดยรอบ”

ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. ย้ำว่าหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดความสำเร็จในการทำพื้นที่สุขภาวะของ กทม. คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน โดยนำเสียงสะท้อนจากความต้องการของประชาชน ไปศึกษาข้อมูล และออกแบบช่วยกันปรับปรุงพัฒนา พร้อมทั้งได้พยายามหาโมเดลใหม่ๆ

“กทม. มีขนส่งสาธารณะหลายรูปแบบ เราเลือกให้เขาดูว่า สามารถจะเชื่อมโยงกันได้ทั้งทางรถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน สวนสาธารณะ สถานที่ประชุม สามารถที่จะเดินเชื่อมไปยังถนนต่างๆ ซึ่งจะทำให้เห็นภาพการพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองเดินได้-เมืองเดินดี ว่าเป็นได้จริง โดยพยายามจะเชื่อมคนกับสถานที่ ไม่ใช่เชื่อมรถกับสถานที่ ทำอย่างไรให้คนได้ใช้ประโยชน์ ได้เดิน มีสุขภาพดี ได้เศรษฐกิจที่ดี และได้สิ่งแวดล้อมที่ดีด้วย แสดงให้เห็นถึงการวางแผนแบบเป็นระบบ ซึ่งต้องชื่นชม กทม. และรัฐบาลที่จะขยายแนวคิดนี้ สู่วงกว้าง

“เรายังไม่ได้ตั้งเป้าเรื่องพื้นที่สุขภาวะว่าจะต้องมีกี่แห่ง แต่ตั้งเป้าหมายเชิงคุณภาพ ให้เห็นตัวอย่างของการขับเคลื่อน ขณะนี้จะเห็นว่าหลายๆ จังหวัดมีไอเดียในการวางแผนว่าจะมีสวนตรงไหน มีการพัฒนาทางเดินอย่างไรในจังหวัดของตัวเอง
โดยมีกทม. เป็นต้นแบบแนวคิดในการกระจายต่อ อย่างเช่น ร้อยเอ็ด ภูเก็ต เชียงราย ก็มีการพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ที่สำคัญเป็นเมืองที่ทุกคนเข้ามาใช้ชีวิตได้ คนพื้นถิ่นก็ได้ประโยชน์ คนที่ไปท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์เศรษฐกิจก็ดีขึ้น” ผู้ช่วยผู้จัดการ ชี้ให้เห็นทิศทางการขับเคลื่อนของพื้นที่สุขภาวะในอนาคต

ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่าโดยพื้นฐานของเมืองที่น่าอยู่คือ การทำให้พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร
เข้าถึงผู้คนได้ทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะมาออกกำลังกาย เดินไปทำงาน มีอากาศที่ไม่ร้อนเกินไป มีฝุ่นที่ไม่เยอะเกินไป การจราจรไม่มาเบียดบังพื้นที่ที่คนทั่วไปสามารถเดินได้ มีพื้นที่เศรษฐกิจของแต่ละย่านของเมือง เชื่อมร้อยไปกับการมีพื้นที่ที่ปลอดภัย สอดคล้องกับนโยบาย 9 ด้าน 9 ดีของ กทม.

“Healthy City สามารถบูรณาการ กับ พื้นที่สุขภาวะของสสส.ได้ การมีสุขภาพดีจะเกี่ยวข้องกับการใช้พื้นที่อย่างไร ซึ่งก็เกี่ยวข้องกันหมด เราต้องทำให้พื้นที่มาสนับสนุนในการดูแลสุขภาพ และทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม  เราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เห็นได้จากที่ทางผู้ว่าฯ กทม มีนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและเป็นต้นไม้ดูดฝุ่นทั่ว กทม.

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาพื้นที่เป็นสวนขนาดเล็กกระจายในหลายพื้นที่ ตอนนี้ทำได้ 55 แห่ง  เป้าหมายคือ 200 กว่าแห่ง สวนเหล่านี้มีคนมาออกกำลังกายใช้พื้นที่มากขึ้น และกำลังจะติดตั้งเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าตามสวนให้มากขึ้น พร้อมทั้งดูแลเรื่องความปลอดภัย มีไฟส่องสว่าง ที่สำคัญเราทำให้สวนกลายเป็นพื้นที่สำหรับครอบครัวมาทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น มีดนตรี มีเทศกาล ทำพื้นที่ให้สนุก ให้รู้สึกว่าแต่เป็นพื้นที่ที่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้

“ต้องขอขอบคุณ สสส. ที่ช่วยสนับสนุน กทม. ในหลายด้าน รวบรวมคนทำงาน ทั้ง นักวิชาการ ภาคเครือข่ายประชาชน ภาคประชาสังคม ภาครัฐอื่นๆ หรือแม้หน่วยงานองค์กรระหว่างประเทศ คนที่มีไอเดีย เข้ามาช่วยคิดงาน เพิ่มสีสันความหลากหลาย และเป็นกระบอกเสียงของภาคประชาชนที่รวมกลุ่มกัน ทำให้ทำงานง่ายขึ้น” รองผู้ว่าฯ ทวิดา กล่าวทิ้งท้าย