รมว.ดีอี หารือคณะนักธุรกิจบริษัทสมาชิกสภาธุรกิจสหรัฐ – อาเซียน ขยายความร่วมมือด้าน เทคโนโลยีดิจิทัลของไทย พร้อมเร่งสร้างให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมดิจิทัลบนเวทีโลก มุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพสูงและทันสมัย เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและการลงทุน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (รมว.ดีอี) เปิดเผยภายหลังการร่วมหารือกับ H.E. Ambassador Brian D. McFeeters (ret.) รองประธานอาวุโสและผู้อำนวยการภูมิภาคของสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (U.S. – ASEAN Business Council: USABC) และคณะนักธุรกิจสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน ในโอกาสการเยือนประเทศไทยและเข้าเยี่ยมคารวะ เพื่อหารือความร่วมมือด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศไทยกับ USABC พร้อมฟังนโยบายภาพรวมและเป้าหมายการดำเนินงานของรัฐบาลและกระทรวงฯ ด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างสหรัฐอเมริกาและไทย การส่งเสริมการลงทุนและการเติบโตด้านเศรษฐกิจ รวมถึงโอกาสในการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมถึงร่วมหารือในประเด็นอุปสรรคทางด้านการค้าในการกำหนดให้ประเทศไทยเป็นผู้นำประเทศปลายทางของการลงทุน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ ได้ตอบข้อซักถามของผู้แทน USABC ว่า รัฐบาลมีกรอบนโยบาย ระยะสั้น คือ การมุ่งเน้นการกระตุ้นการใช้จ่าย และเร่งแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าของประชาชนอย่างเร่งด่วนและรวดเร็ว ซึ่งกระทรวงฯ มีบทบาทสำคัญในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนที่สำคัญของกระทรวงฯ คือ การผลักดันการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการหลอกลวงผ่านสื่อออนไลน์ (Online scam) โดยได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti-Online Scam Operation Center: AOC) เพื่อให้มีการดำเนินการในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ เป็นศูนย์แบบ One Stop Service สามารถดำเนินการปิดกั้นอายัดบัญชีให้แก่ประชาชนได้ทันที
สำหรับกรอบนโยบายระยะกลางและระยะยาว รัฐบาลมีเป้าหมายในการเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชน ผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทุกคน กระทรวงฯ จึงได้กำหนดนโยบายในการเป็นเครื่องยนต์ใหม่ของประเทศไทย “The Growth Engine of Thailand” เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ 3 ด้าน (1) การยกระดับขีดความสามารถด้านดิจิทัลในการสร้างข้อได้เปรียบในการแข่งขันของประเทศ (Thailand Competitiveness) มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์ของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
โดยผลักดันนโยบาย Go Cloud First ส่งเสริมให้มีการใช้ Public Cloud มุ่งเน้นการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเชื่อมโยงบริการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริการประชาชน และอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (2) การสร้างความมั่นคงและปลอดภัยของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล (Safety & Security) ให้ความสำคัญในการป้องกันและการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชนให้มีความปลอดภัยในการดำรงชีวิตและการประกอบธุรกิจ และเตรียมความพร้อมภาครัฐและภาคเอกชนในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (3) การเพิ่มศักยภาพทุนมนุษย์ของประเทศด้านดิจิทัล (Human Capital) เร่งสร้างกำลังคนวิชาชีพดิจิทัล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลให้มีความก้าวหน้าและเข้มแข็ง รวมถึงการพัฒนาให้ประชาชนได้รับการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่เหมาะสม เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงไปสู่เศรษฐกิจใหม่
นายประเสริฐ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกระทรวงฯ อยู่ระหว่างการขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ ทั้งทางบกและทางทะเล มีระบบเคเบิลภาคพื้นข้ามพรมแดน (Cross-border terrestrial cables) และระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ (International submarine cables) ให้บริการเชื่อมต่อระบบสื่อสารเชื่อมโยงกับประเทศอื่น ๆ ทั้งในเอเชียและยุโรป เพื่อให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเส้นทางดิจิทัลที่มีศักยภาพของโลก รวมถึงเร่งสร้างให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายการค้าและการลงทุนของอุตสาหกรรมดิจิทัลในเวทีโลก (Advanced Digital Technology Destination) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้เอื้อต่อการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมและรองรับอุตสาหกรรมใหม่ และเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการ ได้แก่ โครงการไทยแลนด์ดิจิทัลวัลเล่ย์ การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม Cloud Innovation & Service และ Data Center บนฐานพลังงานสะอาด และการจัดทำ (ร่าง) มาตรการส่งเสริมการลงทุนและการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี 5G ที่สนับสนุนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาศักยภาพกำลังคน ซึ่งกระทรวงฯ มีความเชื่อมั่นว่า การหารือในวันนี้จะนำไปสู่ความร่วมมือทางด้านการพัฒนากำลังคน การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการลงทุนในประเทศไทยเพื่อที่จะก้าวไปสู่ประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอนาคต