เชียงคาน จังหวัดเลย ได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนจาก Green Destinations เตรียมขึ้นรับเหรียญเงินในเวทีงานท่องเที่ยวระดับโลก (ITB Berlin 2024) ในเดือนมีนาคม 2567 นี้ ตอกย้ำผลสำเร็จใน การบูรณาการร่วมกันระหว่าง อพท. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคีเครือข่ายและชุมชนในพื้นที่ใน การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนตามมาตรฐานสากล ชูความโดดเด่นด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management)
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. ได้คัดเลือกพื้นที่เชียงคาน เป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวทางเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาตั้งแต่ปี 2562 โดยใช้กลไกการขับเคลื่อนขององค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management Organization: DMO) ทั้งในระดับจังหวัดและเชื่อมโยงสู่ระดับพื้นที่ และได้นำเสนอกรณีการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อวัฒนธรรมท้องถิ่น“ตักบาตรข้าวเหนียว” ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จนเกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี 2563 เชียงคานได้รับการจัดอันดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ 2020 Sustainable Destinations TOP 100 จาก Green Destinations หน่วยงานที่ทำหน้าที่รับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2014
ลุยยกระดับพื้นที่ร่วมกับกว่า 30 หน่วยงานอย่างต่อเนื่องจนสำเร็จ
ต่อมา อพท. ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงคาน ภายใต้แนวทางเกณฑ์ GSTC มาอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายความยั่งยืนในแผนที่นำทาง (Roadmap) และดำเนินการเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากลกับหน่วยงาน Green Destinations ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ภาคีเครือข่ายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกว่า 30 หน่วยงาน โดยในเดือนพฤศจิกายน 2566 อพท. ได้ร่วมกับเทศบาลตำบลเชียงคานส่งใบสมัครเชียงคานเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากลให้แก่หน่วยงาน Green Destinations
ล่าสุด อพท. ได้รับการแจ้งผลการประเมินของ Green Destinations ว่า “เชียงคานได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับ Silver Award” โดยระบุว่า เชียงคานมีความโดดเด่นในด้านการจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเข็มแข็งในการบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของ อพท. ที่มีหน้าที่ในการประสานงาน องค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (DMO) ทั้งในระดับจังหวัดและระดับท้องถิ่นทุก ภาคส่วน และที่สำคัญคือ องค์กรภาคประชาชนเพื่อการท่องเที่ยวเชียงคานอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์และร่วมเป็นเจ้าของ อย่างแท้จริง
เกณฑ์และมาตรฐานที่เข้มข้นของ Green Destinations
ผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า Green Destinations เป็นโปรแกรมการรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยว หรือ GSTC-Accredited Certification และโปรแกรมรับรองในระดับรางวัลของแหล่งท่องเที่ยว (Pre-certification benchmark Awards) เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน หรือ GSTC-Accredited โดยแหล่งท่องที่ยวจะต้องปฏิบัติตามแนวทางของมาตรฐาน Green Destinations ที่มีหลักเกณฑ์ 84 ข้อ ใน 6 หมวด ได้แก่ การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ธรรมชาติและทิวทัศน์ สิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ วัฒนธรรมและประเพณี ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม และธุรกิจและการให้บริการ โดยเบื้องต้นแหล่งท่องเที่ยวสามารถยื่นขอรับการประเมินรางวัล Green Destinations TOP 100 Stories
ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์พื้นฐาน 15 ข้อ และมีการประกาศผลในทุกปี มีแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่ได้รับรางวัล Green Destinations TOP 100 Stories แล้ว ได้แก่ ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน เกาะหมาก จังหวัดตราด และคลองท่อม จังหวัดกระบี่ โดยแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ จะมีการพัฒนาและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์มาตรฐานเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้รับรางวัลและการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ซึ่งมี 5 ระดับ คือ ระดับเหรียญทองแดง (Bronze ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเกณฑ์ทั้งหมด หรือ 50 ข้อ) ระดับเหรียญเงิน (Silver ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 หรือ 59 ข้อ) ระดับเหรียญทอง (Gold ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 80 หรือ 67 ข้อ) ระดับเหรียญทองคำขาว (Platinum ร้อยละ 90 หรือ 76 ข้อ) และสุดท้าย คือ การรับรองแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Green Destinations Certified) ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานครบทั้ง 84 ข้อ (ร้อยละ 100) ซึ่งถือเป็นการรับรองมาตรฐานเทียบเท่ากับเกณฑ์ GSTC ครบถ้วน
รางวัล Green Destinations Award แห่งแรกในอาเซียน
นับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่สำคัญของ อพท. ในการร่วมขับเคลื่อนและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษสู่มาตรฐานสากล และถือว่ารางวัลเหรียญเงิน Green Destinations ที่เชียงคานได้รับในครั้งนี้ เป็นรางวัลที่มีมาตรฐานเข้มข้นและได้ยากมาก เพราะปัจจุบันมีแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับรางวัลเพียง 122 แหล่งจากทั่วโลก และเชียงคาน จังหวัดเลยของประเทศไทยเรา เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งแรกของอาเซียนที่ได้รับรางวัล และเป็นแหล่งที่ 3 ของเอเชีย ที่ได้รับรางวัลหลังจากแหล่งท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นและไต้หวัน โดย อพท. และหน่วยงานภาคีเครือข่ายจะเข้าร่วมรับประกาศนียบัตรการรับรองมาตรฐานฯ อย่างเป็นทางการ ในงานมหกรรมการส่งเสริมการขายด้านการท่องเที่ยว (ITB Berlin 2024) ณ กรุงเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ในเดือนมีนาคม 2567 นี้
นอกจากนี้ อพท. ยังได้มีเป้าหมายในการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอื่นๆ ของ อพท. เพื่อเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับสากลต่อไป เช่น ตำบลเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน และอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น