โดยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมลดลง เนื่องจากหมดฤดูกาลและเปลี่ยนอาชีพมาทำงานนอกภาคเกษตรแทน
นางสาวสุวรรณี วังกานต์ รองผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า สำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจภาวะการทำงานของประชากร หรือสำรวจแรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยทำการสำรวจเป็นรายเดือนเพื่อให้สามารถติดตามภาวะการมีงานทำของประชากรได้อย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอผลการสำรวจในระดับภาค และประเทศ ซึ่งผลการสำรวจในเดือนมกราคม 2567 สรุปได้ดังนี้
โครงสร้างกำลังแรงงานของประชากรในเดือนมกราคม 2567 ผู้มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 59.07 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานหรือผู้ที่พร้อมจะทำงาน 39.81 ล้านคน ประกอบด้วยผู้มีงานทำ 39.13 ล้านคน ผู้ว่างงาน 0.43 ล้านคน และผู้ที่รอฤดูกาล 0.25 ล้านคน ส่วนผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงานหรือผู้ที่ไม่พร้อมทำงาน 19.26 ล้านคน ได้แก่ แม่บ้าน นักเรียน ยังเด็ก/ชรา ป่วย/พิการ เป็นต้น ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ผู้มีงานทำลดลง 1.00 ล้านคน(จาก 40.13 ล้านคน เป็น 39.13 ล้านคน) โดยผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรม ลดลงจำนวน 2.25 ล้านคน และผู้มีงานทำนอกภาคเกษตรกรรม เพิ่มขึ้นจำนวน 1.25 ล้านคน
เมื่อพิจารณาถึงชั่วโมงการทำงานของผู้มีงานทำต่อสัปดาห์ในเดือนมกราคม 2567 พบว่า ผู้ทำงานตั้งแต่ 35-49 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวน 18.70 ล้านคน หรือร้อยละ 47.8 ของผู้มีงานทำทั้งหมด และผู้ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงลงไปต่อสัปดาห์มีจำนวน 15.92 ล้านคน (ร้อยละ 40.7) สำหรับผู้ที่ทำงาน 50 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์ มีจำนวน 4.51 ล้านคน (ร้อยละ 11.5)
ในด้านการว่างงาน เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่า ในภาพรวมจำนวนผู้ว่างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 1.11 แสนคน (จาก 3.21 แสนคน เป็น 4.32 แสนคน) โดยอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.8 เป็นร้อยละ 1.1 ทั้งนี้หากกล่าวถึงประสบการณ์ในการทำงาน พบว่า เป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานจากนอกภาคเกษตรมาก่อน โดยเฉพาะภาคการบริการและการค้า ซึ่งเป็นอาชีพที่ยังไม่มีความมั่นคงมากนักจึงมีโอกาสในการเปลี่ยนงานได้ง่าย สังเกตจากเหตุผลของลูกจ้างที่ออกจากงานเนื่องจากการลาออก ทำให้จำนวนและอัตราการว่างงานทั้งวัยเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) และวัยผู้ใหญ่ (อายุ 25 ปีขึ้นไป) เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเพศชายและเพศหญิงก็มีอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเช่นกัน
พบกับข้อมูลเพิ่มเติมที่ www.nso.go.th