วันที่ 15 มี.ค.67 เวลา 10.00 น. นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ และนางสาวศุภาญา ธนวัฒน์เสรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เปเปอร์คอร์รัส ผู้ก่อตั้งนิตยสารโอ-ลั้นลา ร่วมแถลงข่าวกิจกรรม “โอ-ลั้นลามาร์เก็ต ปล่อยพลังคนวัยซ่า” โดยมีตัวแทนสูงวัยไอดอล คุณอนุสร ตันเจริญ เจ้าของเพจลุงอ้วนกินกะเที่ยว คุณฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ ผู้ก่อตั้ง เจปัง ไอติมย่างเนย และคุณอรุณศรี ฉ่ำเฉียวกุล จิตอาสาไลน์แดนซ์ ร่วมพูดคุยสร้างแรงบันดาลใจ ณ บริเวณโถงชั้น 1 กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกับ นิตยสารโอ-ลั้นลา จัดงาน O-lunla Market ครั้งที่ 2 ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) 5-7 เมษายน 2567 และ O-lunla Market ครั้งที่ 3 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ 26-29 กันยายน 2567 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ปล่อยพลังคนวัยซ่า” (SA:Silver Age) พบกับหลากหลายความลั้นลาในงาน อาทิ ไอดอลวัยซ่าร่วมทอล์กสร้างแรงบันดาลใจ เริงลีลาศ ร้อง เต้น เล่นดนตรีโดยวัยซ่ารุ่นใหญ่ไฟกะพริบ เวิร์กชอปสุดพิเศษที่พลาดแล้วบอกได้คำเดียวว่าเสียดาย ตรวจสุขภาพ และร้านค้าของพ่อค้าแม่ค้าวัย 55+ ที่ทำด้วยรัก คัดด้วยใจนำสินค้ามาให้ชอปเพลินๆ กว่า 60 ร้านค้า
ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุ ตั้งแต่ พ.ศ. 2548 กล่าวคือ มีอัตราส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็นร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete- Aged Society) โดยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จำนวน 13 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 20.08 ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super – Aged Society) ในปี พ.ศ. 2576 และในปี พ.ศ. 2583 คาดว่าจะมีผู้สูงอายุ คิดเป็นร้อยละ 31.37 ของประชากรทั้งหมด
นางสาวแรมรุ้ง วรวัธ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ภารกิจของกรมคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุครอบคลุมใน 5 มิติ ประกอบด้วย มิติทางสุขภาพมิติทางสังคม มิติมิติทางสิ่งแวดล้อม มิติทางเศรษฐกิจ และมิติทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม การร่วมจัดกิจกรรม โอ-ลั้นลา มาร์เก็ต ในปี 2567 นี้ เนื่องจากกิจกรรมนี้ตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในมิติทางเศรษฐกิจ
หากถอดบทเรียนประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงอายุก่อนประเทศไทย จะพบปัญหาคล้ายคลึงกันคือ ปัญหาขาดแคลนแรงงานวัยทำงาน อัตราการพึ่งพิงของผู้สูงอายุมากขึ้น ภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศเพิ่มขึ้น ตลอดจนปัญหาด้านการเงินส่วนบุคคลที่ไม่ได้ออมไว้มากพอสำหรับวัยเกษียณ แต่การแก้ไขปัญหาหรือช่วยเหลือผู้สูงอายุด้วยการสงเคราะห์นั้นใช้งบประมาณสูงมากและทำเท่าใดก็ไม่เพียงพอ วิธีการที่ดีกว่าก็คือการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพที่ดี และส่งเสริมการมีงานทำ
“ข้อมูลอ้างอิงจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า คนไทยหลังวัยเกษียณควรมีเงินออมขั้นต่ำ 4 ล้านบาท ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุไทยจำนวนมากไม่ได้เตรียมพร้อมในด้านการเงิน กรมจึงทำงานเชิงรุก สนับสนุนการสร้างอาชีพ การขยายเวลาการทำงาน ตลอดจนการออมและการลงทุนกับหน่วยงานพันธมิตร”
กรมกิจการผู้สูงอายุ ร่วมกับ นิตยสารโอ-ลั้นลา จัดกิจกรรมโอ-ลั้นลามาร์เก็ต เพื่อเป็นต้นแบบการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงและมีศักยภาพได้ฟื้นฟูทักษะ (Reskill) หรือพบอาชีพใหม่ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีความสามารถในการสร้างรายได้ เป็นฟันเฟืองสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเป็นพลังที่จะทำให้ประเทศมีความเข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน
นางสาวศุภาญา ธนวัฒน์เสรี ผู้ร่วมก่อตั้งนิตยสารโอ-ลั้นลา กล่าวว่าโอ-ลั้นลาเชื่อมั่นใน “พลังสร้างสรรค์” ของผู้สูงอายุ จึงได้จัดทำนิตยสารนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2558 เพื่อนำเรื่องราวของผู้สูงอายุที่เปี่ยมประสบการณ์ มองโลกเชิงบวก และกล้าทำสิ่งใหม่ในวัยใกล้เกษียณมานำเสนอทั้งในรูปแบบนิตยสารฟรีก็อปปี้ สื่อออนไลน์ และพัฒนาสู่กิจกรรมออนกราวด์ต่างๆ อาทิ เวิร์กช็อป ทริปท่องเที่ยว การจัดสัมมนาปัจฉิมนิเทศ เป็นต้น โอ-ลั้นลามาร์เก็ต เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ตอกย้ำให้เห็น “พลัง” ของผู้สูงวัย สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิต พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และยังช่วยปูทางการสร้าง “อาชีพที่สอง (Second Career)” หลังเกษียณ เพื่อพึ่งพิงตนเองได้ในอนาคต
“โอ-ลั้นลามาร์เก็ต ถูกออกแบบให้เป็น ‘มากกว่าตลาด’ คือ คอมมูนิตี้หรือชุมชนปล่อยพลังคนวัยซ่า มีสีสันและกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการแสดงเอนเตอร์เทนเมนท์โดยผู้สูงวัย ทอล์กสร้างแรงบันดาลใจจากสูงวัยไอดอล เวิร์ก ชอปสุขภาพ เวิร์กชอปศิลปะด้านภูมิปัญญาที่ทรงคุณค่า”
ทั้งนี้ จากการจัดโอ-ลั้นลา มาร์เก็ต ครั้งที่ 1 เมื่อเดือนมีนาคม 2566 และได้รับการตอบรับที่ดี ในปี 2567 จึงดำเนินการต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้
• ครั้งที่ 2 ระหว่างวันศุกร์ที่ 5 – วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน 2567 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง
• ครั้งที่ 3 ระหว่างวันพฤหัสที่ 26 – วันอาทิตย์ที่ 29 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์
เอ็ม ดิสทริค ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ เป็นอีกหนึ่งพันธมิตรที่ร่วมส่งเสริมและเตรียมพร้อมสังคมผู้สูงอายุโดยสนับสนุนให้ผู้สูงอายุที่แข็งแรงได้ทำงานต่อเนื่อง หรือพบอาชีพที่สอง นอกจากเป็นการเตรียมพร้อมทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้สูงอายุเห็นคุณค่าในตัวเองมากที่สุด ยังเป็นการกระตุ้นเตือนการวางแผนการเงินเพื่อใช้ยามเกษียณ
เอ็ม ดิสทริค ศูนย์การค้า เอ็มควอเทียร์ มีความยินดีสำหรับการเปิดพื้นที่สำหรับทุกๆกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้สังคม และขอขอบคุณผู้จัดทำนิตยสารโอ-ลั้นลา และกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เช่นกัน ที่นำกิจกรรม โอ-ลั้นลา มาร์เก็ต ปล่อยพลังวัยคนซ่า ครั้งที่ 3 มาจัดที่เอ็มควอเทียร์ ระหว่างวันที่ 26-29 กันยายน นี้ โดยเอ็มควอเทียร์หวังเป็นอย่างยิ่งว่า กิจกรรมดังกล่าวที่ทีมงานนิตยสารโอ-ลั้นลาจัดขึ้น จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคอมมูนิตี้สุขุมวิท ทั้งในกลุ่มคนไทยและ Expat ในประเทศ ตลอดจนนักท่องเที่ยว รวมถึงผู้สนใจ
#Highlightในงาน O-lunla Market ปล่อยพลังคนวัยซ่า ครั้งที่ 2
เชิญร่วมรับฟังการแบ่งปันประสบการณ์ ปล่อยพลังคนวัยซ่า กับ สูงวัยไอดอล อาทิ
– คุณอรุณศรี ฉ่ำเฉียวกุล จิตอาสาไลน์แดนซ์ ใช้การเต้นจุดพลังวัยซ่า
– ดร. สง่า ดามาพงษ์ นักโภชนาการแถวหน้าของไทย
– คุณฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ เริ่มธุรกิจใหม่ เจปัง ไอติมย่างเนย ในวัย 58+
-ช้อปเพลิน เจริญพุง กับร้านค้าโดยพ่อค้าแม่ขายวัยใส วัย 55 +
-สมัครงานกับองค์กรสายตาไกลรับสูงวัยเข้าทำงาน
ลีลาศ
-การแสดง ดนตรี เต้น เล่น ร้อง จากวัยซ่ารุ่นใหญ่ไฟกะพริบ
-Exclusive Workshop สร้างอาชีพ สร้างสุขภาพ
บรรยายสุขภาพ ฯลฯ
งานนี้ วัยซ่า และลูกหลาน ต้องไม่พลาด !!!!! ครั้งที่ 2 วันที่ 5–7 เมษายน 2567 ณ สถานีรถไฟหัวลำโพง และ ครั้งที่ 3 วันที่ 26–29 กันยายน 2567 ณ ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์
#กรมกิจการผู้สูงอายุ #Olunlaclub #OlunlaMarket #ปล่อยพลังคนวัยซ่า
สูงวัยไอดอล
“วัย” ไม่ใช่อุปสรรคในการเริ่มต้น สองท่านนี้คือตัวอย่าง ของสูงวัยไอดอล ที่เริ่มต้นอาชีพใหม่ในวัยใกล้เกษียณ
คุณฐิติรักษ์ รวีพงศ์ธราวุธ (ป้าอ้วน) ผู้ร่วมก่อตั้ง เจ-ปัง ไอติมย่างเนย วัย 65 ปี ในอดีตเคยทำธุรกิจเสื้อยืดแบรนด์ “เป่ายิ้งฉุบ” ด้วยเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย จึงวางมือ และส่งมอบธุรกิจนี้ให้หลาน ในวัย 58 ปี ป้าอ้วนยังคงไม่หยุดนิ่ง และมองหาสิ่งใหม่ในชีวิตเพื่อให้สมองยังได้ทำงานและมีชีวิตชีวา ด้วยเป็นคนชอบรับประทานไอศกรีม เธอและน้องชายจึงไปลงคอร์สเรียนไอศกรีม ก่อนมาเปิดร้านที่ตลาดวังหลัง ช่วงเวลานั้นเอง เกิดวิกฤตโควิด-19 ร้านไอศกรีมจึงได้รับผลกระทบทางด้านยอดขาย
ป้าอ้วน มองข้ามปัญหาด้านยอดขาย เดินหน้าผลิตไอศกรีมเพื่อมอบให้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานต่อสู้กับโควิด-19 ไอศกรีมของป้าอ้วนได้รับคำชื่นชมโดดเด่นที่รสชาติกลมกล่อม ไม่หวานมาก โดยใช้น้ำตาลอ้อยออร์แกนิก เมื่อหลานชายกลับมาจากต่างประเทศ ได้ร่วมเสนอไอเดียเพิ่มมูลค่าให้ไอศกรีม โดยนำขนมปังมาย่างกับเนยหอมๆ ให้ความรู้สึกเหมือนวัยเด็กที่กินไอศกรีมคู่ขนมปัง ปรับชื่อร้านเป็น “เจ-ปัง” และใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่
จากร้านสาขาแรกที่วังหลัง ปัจจุบัน เจ-ปัง ไอติมย่างเนยสูตรเฉพาะของครอบครัว ขยายสาขาสู่ห้างสรรพสินค้าชั้นนำกว่า 20 สาขา และน้อยคนนักอาจจะทราบว่า ร้านไอติมย่างเนยที่โด่งดังครองใจวัยรุ่น เกิดจากการเริ่มต้นและทำงานร่วมกันของคนสองรุ่น “ทำงานกับคนรุ่นใหม่ เราต้องเชื่อและมั่นใจในรุ่นเขา”
คุณอนันต์ วิวัฒนผล (ลุงพล) ผู้ผลิตน้ำข้าวโพด Uncle Pol Shop วัย 65 ปี อดีตนักธุรกิจผลิตโคมไฟประหยัดพลังงานที่ประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ สต๊อกสินค้าจมน้ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ความเครียดสะสมได้ทำลายสุขภาพกายและใจ ร่างกายซูบผอมและตรวจพบว่าเป็นมะเร็งกระดูกชนิดร้ายแรงเมื่อปี 2558 ทีมแพทย์แจ้งว่าสามารถมีชีวิตอยู่ต่อได้อีกเพียง 3-6 เดือน คุณอนันต์ใช้เวลาช่วงนั้นทำความดีทุกวันเพื่อเตรียมพร้อมวาระสุดท้าย จิตใจที่ผ่อนคลายลงทำให้มีความสุขมากขึ้น และเปิดรับการรักษาตามคำแนะนำของหมอและการรักษาทางเลือกที่ตนเองอ่านค้นคว้าเพิ่มเติม
การสู้กับมะเร็งดำเนินมาถึงขั้นที่ต้องยอมสูญเสียขาเพื่อรักษาชีวิต ลุงพลเตือนสติกับตัวเองไม่ให้จมจ่อมพ่ายแพ้กับโรคร้าย ทำอย่างไรก็ได้ให้ชีวิตห่างไกลจากการเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงตัดสินใจลุกขึ้นฝึกขับรถด้วยเท้าซ้ายเพียงข้างเดียว เมื่อทำได้ ความมั่นใจและกำลังใจค่อยๆ ฟื้นคืน
ระหว่างการฟื้นฟูร่างกายจากเคมีบำบัด ลุงพลได้รับรู้ข้อมูลประโยชน์ของน้ำข้าวโพดที่มีแอนติออกซิแดนท์สูง และเมื่อศึกษาเชิงลึกพบว่า “วัตถุดิบ” ที่ดีจะทำให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำข้าวโพดที่แตกต่างจากท้องตลาด นั่นคือเลือกใช้ข้าวโพดที่มีอายุไม่เกิน 65 วัน และตัดจากไร่ส่งมาถึงโรงผลิตไม่เกิน 12 ชั่วโมง ทำการคั้นพร้อมซาง เพราะจมูกเมล็ดข้าวโพดที่ติดอยู่กับซาง อุดมไปด้วยสารอาหารที่เสริมสร้างเซลล์
ปัจจุบันลุงพลมีโรงงานผลิตน้ำข้าวโพดขนาดเล็กอยู่ที่จังหวัดราชบุรี โดยรับข้าวโพดสดมาจากอำเภอสวนผึ้ง และนำน้ำข้าวโพดออกขายตามตลาดนัดและงานอีเวนต์ต่างๆ “กำลังใจ อาจหาได้จากคนรอบข้าง แต่ความเข้มแข็ง ต้องสร้างจากใจของเราเอง”