SACIT ชวนผู้ผลิตและผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI  ร่วมกิจกรรม “SACIT Concept 2024 : Geographical Indications of Art and Craft”

Art Business Lifestyle News Update social

สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ สศท. ชวนผู้ผลิต หรือ ผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI ได้แก่ ครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม กลุ่มสมาชิกของ สศท. ช่างฝีมือ ชุมชนหัตถกรรม ผู้ประกอบการทั่วไป ร่วมกับ นักออกแบบ ได้แก่ นักสร้างสรรค์ และนักออกแบบผลิตภัณฑ์ กลุ่มพันธมิตรเครือข่ายองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยพร้อมบรรจุภัณฑ์ ผสานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นกับนวัตกรรมด้วยความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ มีมาตราฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย เกิดคุณค่าและความยั่งยืน

นางสาวนฤดี ภู่รัตนรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย กล่าวว่า โครงการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์เพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ กิจกรรม SACIT Concept 2024 : Geographical Indications of Art and Craft ดำเนินการเป็น Craft Design Matching การจับคู่กันระหว่าง ผู้ผลิต หรือผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม GI กับ นักออกแบบ โดยร่วมกันออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมบรรจุภัณฑ์ ที่เกิดจากการสืบสาน ต่อยอดองค์ความรู้งานศิลปหัตถกรรมแบบดั้งเดิมที่ได้รับการต่อยอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น (From Root to Route) ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของคุณรุ่นใหม่ให้มีความชัดเจนและพัฒนาให้เกิดความร่วมสมัย นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่สอดรับกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ในปีนี้ เราได้ออกแบบโครงการภายใต้แนวคิด

GI Smart Craft Combinations: คราฟต์ ผสมผสาน อย่างชาญฉลาด คือ การสร้างเครือข่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมให้เพิ่มมากขึ้น ระหว่าง กลุ่มผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการด้านศิลปหัตถกรรม และนักออกแบบ เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ในรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ วัสดุ วัตถุดิบ การทำสี และการพัฒนาศักยภาพให้กับผู้ประกอบการศิลปหัตถกรรมไทย พร้อมยกระดับเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทย ให้สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ ภายใต้การกำกับดูแลของผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราคาดหวังจะได้เห็นผลงานศิลปหัตถกรรมการออกแบบใหม่ ๆ ที่ฉีกกรอบเดิม และสร้างสรรค์อย่างเต็มที่ ทุกผลงานที่ผ่านเข้ารอบและพัฒนาจะได้เข้าร่วมแสดงนิทรรศการและทดสอบตลาด รวมถึงจัดทำหนังสือรวบรวมองค์ความรู้ จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์

โครงการนี้ได้รับเกียรติจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละด้านร่วมพิจารณารอบคัดเลือก และรอบจับคู่ Pitching & Matching คณะกรรมการดำเนินการ พิจารณาข้อมูลเพื่อจับคู่ ผู้ประกอบการสินค้าหัตถกรรม จำนวน 3 ราย ต่อนักออกแบบ จำนวน 1 ราย

ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัครและส่งสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ – 1 พฤษภาคม 2567 ผ่านทาง https://www.sacit.or.th/th/detail/2024-04-19-17-44-37?event-project=1

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ ฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรม สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน)

ที่อยู่ 59 หมู่ 4 ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13290 ; โทรศัพท์. 0 3536 7054-9; โทรสาร. 0 3536 7050-1; สายด่วน. 1289; อีเมล. info@sacit.or.th