TCELS เสริมแกร่งอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ตอบรับเมกะเทรนด์โลก ผนึก สวทช. และ วว. จัดกิจกรรม CIB2024 โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรม เครื่องสำอางสมุนไพร เวชสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการอย่างครบวงจร เชื่อมมิติด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มโอกาสในการขยายตลาด หนุนทักษะและองค์ความรู้สู่ความสำเร็จ เปิดเวที Pitching พร้อมโอกาสแสดงงานจริงในต่างประเทศ รับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 25 พ.ค.2567
นางสาวไปยดา หาญชัยสุขสกุล รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS: Thailand Center of Excellence for Life Sciences) เปิดเผยว่า TCELS ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอางจากสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ภายใต้ “โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประจำปี 2567” (Cosmeceutical and Herbal Innovation with Business Link: CIB2024)
โครงการดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรม เครื่องสำอางจากสมุนไพร เวชสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ (Life Science) ภายใต้การกำกับดูแลของ TCELS ให้มีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสในการขยายตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สมุนไพรไทยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสอดคล้องกับเทรนด์ของตลาด และความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาพัฒนาสินค้าและบริการ ส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ หรือผู้ประกอบการไทยกับนานาชาติ และสร้างโอกาสในการขยายตลาดในระดับสากล รวมถึงเกิดการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ
“ตลาดสุขภาพและความงามในประเทศไทยเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญ ทั้งด้านมูลค่าตลาดที่สูงและด้านการเติบโตที่สูงอย่างต่อเนื่อง โครงการ CIB2024 สามารถยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการ ต่อยอดความสำเร็จของผลงานวิจัยและพัฒนาของคนไทย สนับสนุนการเติบโตของสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรที่สามารถปลูกได้ในประเทศ นำไปสู่การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตอบรับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ หนุนความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพ ซึ่งเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ใหญ่ของโลกที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” นางสาวไปยดา กล่าว
ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง TCELS ให้ข้อมูลว่า “กิจกรรมในโครงการ CIB2024 ประกอบด้วย งานสัมมนาการเตรียมข้อมูลผลิตภัณฑ์และมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกไปยังประเทศยุโรป โดยมุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น มาตรฐาน COSMOS (Cosmetic Organic and Natural Standard) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ทำธุรกิจอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ” เพื่อวิเคราะห์ช่องว่างทางธุรกิจ เทคนิคการปิดช่องว่าง และเพิ่มผลผลิตของธุรกิจ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “เจรจาธุรกิจอย่างไรให้ได้งาน” เพื่อเสริมสร้างทักษะการเจรจาธุรกิจ เรียนรู้กระบวนการเจรจาต่อรอง และวิธีนำเสนอสินค้าและบริการ
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมพบที่ปรึกษา (เเบบ One on One) เพื่อทำการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและวินิจฉัยปัญหาทางธุรกิจ การเงิน การวางกลยุทธ์ การตลาด การบริหารองค์กร และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกิจกรรม Pitching เพื่อนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ นักลงทุน และผู้ที่สนใจทั่วไป”
สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครเข้าร่วมโครงการ ต้องเป็นผู้ประกอบการไทย SMEs ตามนิยามของ สสว. ในกลุ่ม เวชสำอาง เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และสารสกัดสมุนไพร ที่มีส่วนประกอบหรือวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีผลทดสอบประสิทธิภาพ และความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ หรือมีส่วนประกอบสำคัญของสารสกัดจากพืชหรือสมุนไพรที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นและผ่านการรับรองมาตรฐาน โดยเป็นบริษัทที่ดำเนินกิจการมาแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ปี และมีการส่งงบการเงินกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างสม่ำเสมอ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดี และขอสงวนสิทธิสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเข้าร่วมโครงการ CIB เท่านั้น
ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ CIB2024 จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ การพบที่ปรึกษาทางธุรกิจ ด้านมาตรฐานและเทคโนโลยีจากทั้งในและต่างประเทศ แบบ One on One โอกาสในการนำเสนอผลงานกับนักลงทุนชั้นนำ รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายทางธุรกิจเพื่อขยายฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้ประกอบการที่ได้รับคะแนน Pitching สูงสุด 3 รางวัล จะได้รับการสนับสนุนพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงานนวัตกรรมทั้งในและต่างประเทศจาก TCELS อีกด้วย
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วม “โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเครื่องสำอาง สารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ ประจำปี 2567” สามารถลงทะเบียนได้ตั้งเเต่วันนี้ – 25 พฤษภาคม 2567 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 0 2644 5499 ต่อ 217 E-mail: [email protected]
TCELS มุ่งขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ “อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในสิบอุตสาหกรรมหลักที่สามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้คนและสิ่งแวดล้อม “TCELS MAKE EVERY LIFE BETTER” ศึกษารายละเอียดและบริการของ TCELS ได้ที่ www.tcels.or.th Facebook: TCELS THAILAND