เมื่อวันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2567 เวลา 08.30 –16.30 น. มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชน แห่งประเทศไทยฯ และสถาบันเครือข่ายฯ จัดประชุมวิชาการและนำเสนอบทความวิจัยระดับชาติครั้งที่ 11 และระดับนานาชาติครั้งที่ 9 (NEUNIC 2024) ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วย BCG model ” The 11th National and the 9th International Conference on Research and Innovation : The Development of Community Economy with BCG Model (โดยใช้รูปแบบการนำเสนอผลงานแบบออนไลน์) เพื่อเป็นเวทีในการนำเสนอผลงาน การวิจัยและแลกเปลี่ยนความรู้ ประสบการณ์ด้านการวิจัยของคณาจารย์ นักวิจัย และนิสิต นักศึกษาในระดับชาติ โดยได้รับเกียรติจาก นายวันนี นนท์ศิริ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธาน
ผศ.ดร.กนกอร บุญมี อธิการดีมหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า เป็นครั้งที่ 11 ในระดับชาติ และนานาชาติเป็นครั้งที่ 9 ภายใต้หัวข้อเรื่อง การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนด้วย BCG Model เป็นการจัดประชุมทางวิชาการและนำเสนอผลงานในรูปแบบออนไลน์ โดยทุกครั้งได้รับความร่วมมือจากเจ้าภาพร่วมเป็นจำนวนมาก “ทุกครั้งที่ผ่านมานั้น ได้รับความร่วมมือจากเจ้าภาพร่วมเป็นจำนวนมาก และในปีนี้ก็เช่นเดียวกันมีเจ้าภาพร่วมทั้งสิ้น 34 สถาบันทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีผู้สนใจส่งบทความและผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 98 บทความ โดยเป็นบทความในประเทศและต่างประเทศ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมทั้งการบรรยายพิเศษจากท่านประธาน และผู้ทรงคุณวุฒิทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเข้าร่วมอภิปรายภายใต้หัวข้อการจัดงาน มีกิจกรรมการนำเสนอผลงานวิจัยและวิชาการ โดยแบ่งห้องย่อยออกไปจำนวน 5 กลุ่มสาขาและการจัดนำเสนอผลงานนิทรรศการแบบออนไลน์ ในรูปแบบ Metaverse โลกเสมือนจริง”
ขณะเดียวกันยังคงมีการแบ่งกลุ่ม งานวิจัยและวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์/การศึกษาค้นคว้าอิสระ ทั้งระดับชาติ และนานาชาติ ได้แบ่งเป็น กลุ่มประกอบด้วย (1) ด้านการศึกษา (ED) เช่น การบริหารการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรและการสอน การวัดและการประเมินผลการศึกษาและนวัตกรรมทางการศึกษา (2) ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ (HS) เช่น พยาบาลศาสตร์ แพทย์ศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ เภสัชศาสตร์ และเทคนิคการแพทย์ (3) ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ST) เช่น วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี (4) ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (HSS) เช่น นิติศาสตร์ ศิลปศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิเทศศาสตร์ และ (5) ด้านบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ (BE) เช่น บริหารธุรกิจ การจัดการท่องเที่ยวและโรงแรม และเศรษฐศาสตร์ โดยมีสถาบันเจ้าภาพร่วมจัดประชุมฯ จำนวน 34 สถาบันทั้งในและต่างประเทศ และมีผู้ส่งบทความที่ผ่านการประเมินจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 105 บทความ ดร.ธีนิดา บัณฑรวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ กล่าวรายงาน