กทม. : วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนจาก 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ร่วมเสนอแนวทางการการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ นำเสนอรูปธรรมกลไกและปัจจัยที่ส่งเสริมการพัฒนาเมือง สังคม และคุณภาพชีวิต โดยให้ความสำคัญกับบทบาทของชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัด พม. ระบุรัฐบาลไทยมีนโยบายและให้ความสำคัญในการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้กับคนทุกกลุ่มวัย ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท ทิศทางข้างหน้าคือการเติมพลังจากภาคเอกชนร่วมสนับสนุน ขณะที่ผู้แทนจากนานาประเทศได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้พร้อมนำกลับไปวางทิศทางขับเคลื่อนบ้านโดยชุมชนทั้งในเมืองและชนบทต่อกระทรวง พม.
โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับมูลนิธิศูนย์ศึกษาที่อยู่อาศัยแห่งเอเซีย มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย วิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันอาศรมศิลป์ และเครือข่ายสถาปนิกชุมชน (CAN) หน่วยงานภาคีสนับสนุนและองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ UN-ESCAP, UN-HABITAT, International CO-Habitat Network, Development Planning Unit, University College of London, Habitat for Humanity ร่วมจัด การประชุมสัมมนาระหว่างประเทศการพัฒนาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing Conference) : “คำตอบคือชาวชุมชน ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แก้ไขปัญหาควายากจน สร้างคนและชุมชนที่เข้มแข็ง กุญแจสู่ความยั่งยืน” ชูประเด็น “การพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้ที่ชุมชนเป็นหลัก (Collective Housing)” ที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1 – 4 กรกฎาคม 2567
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า พม. สนับสนุน ภาคประชาชนเรื่องที่อยู่อาศัย ในหลายมิติ ทั้งพื้นที่ริมรางรถไฟ ริมน้ำ โดยมี พอช. เป็นองค์กรที่ร่วมขับเคลื่อนกับองค์กรชุมชนกลุ่มเป้าหมายในทุกมิติ ประชาชนพยายามสะท้อนปัญหาต่างๆ ด้านที่อยู่อาศัย รัฐก็ต้องรับฟัง มีการทำโครงการบ้านสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบท ในโครงการบ้านพอเพียง บ้านมั่นคง ยังมีโครงการสนับสนุนภายใต้สถานการณ์วิกฤติ เช่น ไฟไหม้ น้ำท่วม เป็นต้น การเคหะสร้างบ้านราคาย่อมเยา
“ในขณะที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยก็มีตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิ์ที่ดิน เช่น ที่ดินของส่วนราชการกรมเจ้าท่า กรมธนารักษ์ ที่ดินในที่ดิน สปก. ฯลฯ พอช. เองมีหน้าที่ประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับข้อบังคับ และกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ตลอดจนการส่งเสริมระบบสวัสดิการสังคมเพื่อให้ประชาชนนั้นมีระบบการดูแลจากภาครัฐเช่นกัน”
ด้าน นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ระบุว่า ในบทบาทของ พอช. มีหน้าที่ในการหนุนเสริมขบวนองค์กรชุมชนให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกเรื่อง เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยเป็นอีกประเด็นที่สำคัญ การที่จะให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น เรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัยนั้นต้องมาก่อน รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการจัดที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือผู้ที่ไม่ได้อยู่ในที่ดินของตัวเอง รัฐบาลให้โอกาสประชาชนในการลุกขึ้นมาจัดการตนเอง สะท้อนความต้องการ มีการสนับสนุนเงินอุดหนุน การพัฒนาคุณภาพพื้นฐานให้กับประชาชน กระบวนการพัฒนาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย สิ่งสำคัญคือการรวมตัวของพี่น้ององค์กรชุมชน ในการจัดการตนเอง และรัฐหนุนเสริมให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง
“การพัฒนาคุณภาพชีวิตในเรื่องอื่นๆ การสร้างอาชีพ รายได้ การดูแลเด็ก ผู้สูงอายุ คนเปราะบาง รวมถึงการจัดสวัสดิการชุมชนของตนเอง ถึงแม้ว่ารัฐบาลจัดสวัสดิการให้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลมีการหนุนเสริมให้ประชาชนร่วมเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาในการจัดสวัสดิการชุมชน สำหรับภาคธุรกิจ เอกชน มีทิศทางและแนวทางในการมาร่วมงานกับภาครัฐ และ พอช. ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตไปพร้อมกันด้วย”
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน บอกว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยภายใต้กระทรวง พม. ด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยนั้นเป็นประเด็นทางสังคม ไม่ใช่เพียงแค่การก่อสร้างหรือสร้างบ้านเพียงอย่างเดียว มีนโยบายในการสนับสนุนหนุนเสริมความต้องการของประชาชน ให้คนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน การมีบ้านเป็นความมั่นคงของมนุษย์ มีการร่วมวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน และขยายผลไปทั่วประเทศ 77 จังหวัด มีการทำงานร่วมกันของท้องถิ่น มีกลไกหลายระดับ มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในระดับจังหวัด เป็นเหมือนการกระจายอำนาจในการพัฒนาที่อยู่อาศัย และภาครัฐมาสนับสนุน
“เราเองก็มีข้อมูลในทุกหมู่บ้าน ตำบล จังหวัด และมีการส่งต่อและแลกเปลี่ยนกัน เป็นสิ่งที่ชุมชนนำมาเสนอเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนให้สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้”
ในการนี้ วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นวันสุดท้ายของการสัมมนาในครั้งนี้ มีการนำเสนอและเสนอทิศทางการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เช่น การเสนอและผลักดันนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ ในการสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนที่กว้างขวางมากขึ้น ระบบการเงินในการพัฒนาที่อยู่อาศัย ความร่วมมือของเครือข่ายชุมชนระดับนานาชาติ โดยมีบทสรุปที่น่าสนใจ ดังนี้
- บทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนบ้านโดยชุมชนที่กว้างขวางมากขึ้นโดยการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลา และการสร้างบ้านโดยชุมชนต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจของทุกคน อาจจะมีการวางวิสัยทัศน์ร่วมกัน ทั้งระบบการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการเงิน รวมถึงผู้กำหนดนโยบายต้องพัฒนาความรู้ของตนเองด้วยเช่นกัน ต้องมีสถาบันในประเทศและระหว่างประเทศในการพัฒนาบ้าน จากความต้องการของประชาชน เพราะบ้านเป็นเรื่องของสิทธิ มีความมั่นคงทางสังคม ที่ทุกคนต้องมีความเท่าเทียมกัน ตลอดจนการใช้ที่ดินที่ไม่เกิดประโฌยชน์ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น เราทุกคนมีสิทธิ์มีบ้านที่พอเพียง ทั้งในพื้นที่เขตเมืองและชนบท เราไม่ได้มองถึงคนที่มีรายได้น้อยเท่านั้น แต่มองถึงคนที่มีความยากลำบากในการหาบ้านในระบบตลาด และต้องมีการขยายผลบ้านโดยชุมชน
- การมีกลไกในการขับเคลื่อนงานที่ทุกระดับเป็นการหาวิธีการทำงานใหม่ๆ นอกเหนือจากภาครัฐ เช่น การขับเคลื่อนร่วมกับเทศบาล ท้องถิ่น ฯลฯ มีแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้อยู่ในแผนปฏิบัติการ และเสนอต่อระดับนโยบาย
- กฎหมาย หรือระเบียบมีการเสนอเรื่องการปลดล๊อกสิทธิที่ดิน และมีเครื่องมือต่างๆ ในการเข้าถึงที่ดินในระยะยาวได้ ไม่ว่าจะเป็นที่ดินของภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงความสามารถในการเข้าถึงเงินกองทุนของภาครัฐ เพื่อให้มีการเงินที่ยืดหยุ่น
- ความร่วมมือในการส่งเสริมความรู้และงานวิจัยสิ่งที่จะต้องดำเนินการคือ (1) การผลักดัน การส่งเสริมการมีส่วนร่วม ซึ่งต้องคำนึงในหลายมิติ มีการพุ่งเป้าไปที่ระดับประเทศ (2) ความรู้ในการทำงาน จะมีวิธีการอธิบายให้คนภายนอก เข้าใจความรู้ในการทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เช่น การจัดทำเอกสาร เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นั้นเข้าใจ มีการอบรมเพื่อทำความเข้าใจว่าเราทำอะไร อย่างไรบ้าง (3) ความรู้ในวิชาชีพ ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ซึ่งการสร้างคนรุ่นใหม่ในการส่งเสริมให้คนทำงานด้านนี้ หรือเกี่ยวกับสถาปนิกชุมชน มหาวิทยาลัยควรมีหลักสูตรดังกล่าว มีการผลิตคนที่มีความสนใจด้านนี้มากขึ้น (4) ความรู้ด้านวิชาการ มีระบบการศึกษายุค 80-90 มองว่าเครื่องมือที่อยู่ในปัจจุบันอาจจะล้าหลังไป เราต้องวางระบบความรู้ที่เท่าทัน และมีข้อเสนอเพิ่มเติมคือ การนำบทเรียนจากการขับเคลื่อนผ่านหน่วยงาน กลไก มายกระดับ โดยการทำงานร่วมกัน และเราต้องหาเหตุผลในการสร้างบ้านโดยชุมชน นำเสนอผลมูลค่าทางจิตใจ คุณค่าในการอยู่ร่วมกัน จะมีกระบวนการหรือกลไกร่วมกัน สุดท้ายอาจจะมีการตั้งคณะทำงานร่วม ที่มาจากหลายภาคส่วน เป้าหมายคือ อยากสร้างวาระความรู้ทั่วไปของพวกเรามาแลกเปลี่ยนกัน และอาจจะมีการทำวิจัยเพิ่มเติม ให้ทุกคนมีส่วนร่วมและสามารถนำไปปรับใช้ได้ มีการเติมเติมได้อย่างต่อเนื่อง
- ความร่วมมือของเครือข่ายชุมชนระดับนานาชาติจะต้องมีการสร้างเครือข่ายทั้งในพื้นที่เมืองและชนบท ให้หน่วยงานระหว่างประเทศมีการทำงานร่วมกันมากขึ้น ร่วมผลักดันบ้านโดยชุมชนระดับประเทศ การแชร์เครื่องมือต่างๆ เกี่ยวกับข้อมูล องค์ความรู้ในประเด็นบ้านโดยชุมชน รวมถึงการพัฒนาขีดความสามารถร่วมกันของเครือข่าย