กระทรวงดีอี – ดีป้า ชู ‘สีคิ้วสมาร์ทลีฟวิ่ง’ ต้นแบบการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะอย่างเป็นรูปธรรม

News Update social

กระทรวงดีอี  ดีป้า ชูผลการการดำเนินโครงการสีคิ้วสมาร์ทลีฟวิ่ง (SIKHIO SMART LIVING) พลิกโฉมเมืองสีคิ้วสู่เมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ ยกระดับด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมืองในภาคประชาชน สังคมและท้องถิ่น  

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เผยว่า การดำเนินโครงการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ การบริหารจัดการเมือง ภาคประชาชน สังคม และท้องถิ่น ในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว  (SIKHIO SMART LIVING) ที่ดำเนินการโดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวงดีอี) โดย ดีป้า มุ่งเน้นการมีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองเป็นหลัก โดย ดีป้า ทำหน้าที่เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เชื่อมโยงให้เมืองเข้าถึงโซลูชันเพื่อการพัฒนาเมือง ได้เลือกลองเลือกใช้จนเกิดเป็นความเข้าใจ และนำมาบูรณาการเข้ากับการบริหารจัดการเมืองให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเมืองได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาเมืองครอบคลุม 3 มิติหลัก ได้แก่ ด้านความปลอดภัย ด้านบริการภาครัฐ และด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง (City Data Platform: CDP) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดีขึ้น

ด้านความปลอดภัย ได้ดำเนินการยกระดับซอฟต์แวร์ของกล้อง CCTV ทั้งหมดในอำเภอสีคิ้ว จำนวน 52 ตัว เพื่อยกระดับเมืองให้มีความปลอดภัยมากขึ้น โดยนำ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการตรวจจับรถและบุคคล เช่น สี ยี่ห้อรถ ประเภทของรถ เพศ ช่วงอายุ สีของเสื้อผ้าที่สวมใส่ เป็นต้น กรณีเกิดเหตุ จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ตรวจจับคนร้ายได้อย่างทันท่วงที   และการพัฒนาภายใต้โครงการนี้ยังได้มีการนำ LINE OA มาติดตั้งและประสานรับแจ้งเรื่องร้องทุกข์ร้องเรียน โดยตลอดการดำเนินโครงการกว่า 180 วัน หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถรับแจ้งเหตุมากกว่า 700 เคส โดยเหตุที่ได้รับแจ้งมากที่สุดคือ ไฟฟ้าสาธารณะดับ ซึ่งระบบดังกล่าวนอกจากประชาชนได้รับการแก้ปัญหาที่เร็วขึ้นแล้ว ผู้มีส่วนในการบริหารเมืองสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ เพื่อวางแผน และแก้ปัญหาในระยะยาวต่อไป

ด้านบริการภาครัฐ ทำการออกแบบระบบงาน (Software Design Document) ให้สามารถเชื่อมโยงการรับและส่งข้อมูลของเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ เช่น จำนวนกล้อง CCTV ถังดับเพลิง และเสาไฟส่องสว่าง ทำให้ติดตามสถานะของปัญหาและจัดการปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ด้านการบริหารจัดการข้อมูลเมือง โดยการสร้างแดชบอร์ด (Dashboard) เพื่อรวบรวมและบริการจัดการปัญหาของเมือง เช่น ปัญหาไฟฟ้า ทางเท้าชำรุด ขยะสาธารณะ ฯลฯ ซึ่งช่วยให้ทำให้สามารถจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาตามความเร่งด่วนและความถี่ที่เกิดขึ้นได้ นอกกจากนี้ยังมีแดชบอร์ดเกี่ยวกับข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อมูลความสูงพุ่มไม้ ข้อมูลด้านสัตว์เลี้ยง ทำให้ง่ายต่อจัดซื้อวัคซีนสัตว์เลี้ยงเพื่อให้บริการกับประชาชน รวมไปถึงข้อมูลด้านสวัสดิการของประชาชน ในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะสามารถทราบถึงตำแหน่งที่ตั้ง และจัดส่งทีมช่วยเหลือหรือให้บริการทางการแพทย์ได้อย่างเหมาะสมและทันเวลา

ทั้งนี้ โครงการสีคิ้วสมาร์ทลีฟวิ่ง (SIKHIO SMART LIVING) ถือเป็นอีกหนึ่งต้นแบบของการดำเนินงานด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะประเทศไทยที่มุ่งเน้นความสำเร็จที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของเมืองเอง ไม่ว่าจะเป็นผู้นำเมืองที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาเมือง การกำหนดนโยบายขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการ รวมถึงบริบทของเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนได้อย่างตรงจุดและยั่งยืน