อว. จับมือ สธ. ถอดรหัสบทวิเคราะห์ COVID-19 “องค์การอนามัยโลก…เจออะไรที่ประเทศจีน”
จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่มีต้นกำเนิดจากประเทศจีน และ
มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันพบว่ามีการระบาดไปแล้วกว่า 81 ประเทศทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า
9 หมื่นคน ซึ่งมากกว่าร้อยละ 80 เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศจีน และเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2563 องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้ประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็น “ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ” (Public Health Emergency of International Concern) โดย WHO ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญระหว่างประเทศไปยังประเทศจีนเพื่อตรวจสอบสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และ WHO ได้เผยแพร่ “รายงานการสอบสวนโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจีน” เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2563
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรค COVID-19 กระทรวง
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับ Dr.Daniel Kertesz ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายแพทย์ศุภมิตร ชุณห์สุทธิวัฒน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค รวมทั้ง ผู้เชี่ยวชาญจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ร่วมกันจัดเวทีเสวนาวิชาการรูปแบบใหม่ถอดรหัสบทวิเคราะห์ COVID-19 “องค์การอนามัยโลก…เจออะไรที่ประเทศจีน”
เพื่อรองรับสถานการณ์ยุค COVID-19 เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2563 ผ่านทาง Facebook Live โดยระดมผู้เชี่ยวชาญทางด้านต่าง ๆ ร่วมกันวิเคราะห์ประเด็นที่ปรากฏในรายงานการสอบสวนโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในจีน ซึ่งมีหัวข้อที่น่าสนใจ ดังนี้
• เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นเชื้อที่มาจากสัตว์ (Zoonotic) รหัสพันธุกรรมของเชื้อ
มีความคล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสโคโรนาจากสัตว์ โดยเฉพาะเชื้อในค้างคาว (96%) และการศึกษาเชื้อจากผู้ป่วย 104 รายพบว่ายังไม่กลายพันธุ์โดยคล้ายคลึงกันมากกว่าร้อยละ 99.9
• วันที่ 30 ธ.ค.2562 เป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดเริ่มที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย และหลังจาก
การสืบสวนโรค การตรวจสอบย้อนหลัง และยืนยันผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าน่าจะมีผู้ติดเชื้อครั้งแรกประมาณ วันที่ 8 ธ.ค.2562
• โรคได้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วในระยะแรก จนในปัจจุบันสามารถควบคุมการระบาดได้แล้ว
• บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 2,055 ราย จาก 476 โรงพยาบาลทั่วประเทศจีน ส่วนใหญ่ติดเชื้อในช่วงต้นของการระบาด มีการระดมกำลังครั้งใหญ่เคลื่อนย้ายบุคลากรทางการแพทย์มากกว่า 40,000 คนเข้าไปในอู่ฮั่นเพื่อช่วยควบคุมการระบาด
• กลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว เป็นกลุ่มเสี่ยงต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากมีอัตราการตายสูงกว่ากลุ่มอื่น
• จีนแบ่งการดำเนินการเป็น 3 ระยะ ระยะแรก เพื่อควบคุมแหล่งเริ่มต้นของเชื้อและตัด
การแพร่เชื้อ ระยะที่สอง เพื่อชะลอความรุนแรงและความเร็วของการระบาด และระยะที่สาม เพื่อฟื้นฟูและ
เตรียมกลับสู่สภาวะปกติ
• บทเรียนจากประเทศจีนสำหรับประเทศที่การระบาดอยู่ที่ระยะที่สอง ให้เริ่มใช้กลไกการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินในระดับประเทศ เฝ้าระวังและค้นหาผู้ติดเชื้ออย่างเข้มงวด ให้ข้อมูลและความรู้
แก่ประชาชน สอดส่องและค้นหาโรคในกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มอื่น ๆ เตรียมแผนการและซักซ้อมการปฏิบัติมาตรการ
ต่าง ๆ จนถึงระดับสูงสุด
ยังมีรายละเอียดการค้นพบอีกมากในรายงานขององค์การอนามัยโลกดังกล่าว
จากที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นบทเรียนสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนที่สำคัญเพื่อ
การเตรียมตัวรองรับสถานการณ์ COVID-19 ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงเป็นการถอดบทเรียนและสร้างองค์ความรู้
สร้างความเข้าใจ และแนวทางป้องกันสำหรับอนาคตต่อไป