วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เวลา 15.00 น. ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี
นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี มอบหมายให้ นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ลงพื้นที่เพื่อติดตามการเตรียมความพร้อมการปรับพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา พช.” แปลงตัวอย่างพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ระดับตําบล (Community Lab Model for quality of Life : CLM) ณ ศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) บ้านใหม่สารภี หมู่ที่ 3 ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี นางรัชดาวรรณ คำเอี่ยม พัฒนาการอำเภอสว่างวีระวงศ์ และเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนอำเภอ ให้การสนับสนุนการลงพื้นที่ในครั้งนี้
ซึ่งศูนย์เรียนรู้ทุนชุมชน (ศูนย์สารภีท่าช้าง) นั้น ถือเป็น 1 ใน 68 แปลง CLM ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 15 ไร่ โดยมีฐานเรียนรู้ทั้งหมด 10 ฐาน ประกอบด้วย คนมีไฟ / คนมีน้ำยา / คนเอาถ่าน / คนรักษ์แม่ธรณี / คนรักษ์แม่โพสพ / คนรักษ์สุขภาพ / คนหัวเห็ด / คนรักษ์ป่า / คนรักษ์น้ำ / คันนาทองคำ
จากนั้น เวลา 16.00 น. พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เยี่ยมชมตลาดหอมแผ่นดิน ในพื้นที่ “โคก หนอง นา” ของเอกชนที่นำผลผลิตทางการเกษตรมาจำหน่ายและยังเป็นแหล่งให้ประชาชนนำสินค้าและผลผลิตทางการเกษตรจำหน่ายในตลาดสร้างรายได้ให้แก่ผู้สัญจรไปมา ซึ่งนักพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ (นพต.) เอง ก็ได้นำสินค้าจากศูนย์สารภีท่าช้าง มาฝากจำหน่ายยังตลาดแห่งนี้ด้วย เช่น ผัก ต้นพันธุ์ผัก และต้นไม้ เป็นต้น ซึ่งตลาดหอมแผ่นดิน นั้น เกิดจากแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง โดยปรับพื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน เป็นแหล่งเรียนรู้โคก หนอง นา และเปิดเป็นตลาดเพื่อให้พี่น้องเกษตรกรมีจุดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนช่วยการสร้างอาชีพที่ยั่งยืนและยังการสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ในการเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนอีกด้วย
ส่งท้ายในเวลา 16.30 น. นายคมกริช ชินชนะ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ยังได้ติดตามการดำเนินการขุดปรับพื้นที่ กิจกรรมพัฒนาศูนย์เรียนรู้ทฤษฎีใหม่รูปแบบ “โคก หนอง นา” ครัวเรือนต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต (Household Lab Model for quality of life : HLM) แปลงนายมวล นาคีรักษ์ บ้านห้วยขาม หมู่ที่ 9 ตำบลแก่งโดม อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานึ พื้นที่แปลง 3 ไร่ สัดส่วน 1:2 ดินร่วนปนทราย ซึ่งดำเนินการขุดเสร็จแล้ว ปัจจุบันมีน้ำเต็มสระทั้ง 2 แห่ง โดยพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดมีขนาดพื้นที่จำนวน 24 ไร่ ซึ่งได้ทำนา ทำสวนผลไม้ และทำเกษตรพอเพียงอยู่ก่อนแล้ว พอมีโครงการฯ นี้ขึ้นมา จึงสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 3 ไร่ หลังจากนี้จะพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวเป็นศูนย์เรียนรู้ และตอนนี้ได้เริ่มเลี้ยง ปลา หอยขม ปลูกผลไม้ และปลูกผักต่างๆ มากมาย
โอกาสนี้ พัฒนาการจังหวัดอุบลราชธานี ได้พบปะกับเจ้าของแปลงในพื้นที่ โดยให้คำแนะนำการปลูกไม้ป่า 5 ระดับ ทฤษฎีบันได 9 ขั้นสู่ความพอเพียง พร้อมชื่นชมแปลงที่ดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแนวทางของหลักกสิกรรมธรรมชาติ และระยะเวลาที่กรมการพัฒนาชุมชนกำหนด หากมีเหตุขัดข้องหรือข้อสงสัย ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยทันที เพื่อหาทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน และมีแปลงตัวอย่างที่สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบแก่คนในพื้นที่ โดยเฉพาะการพึ่งตนเองและสร้างทางรอดในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปัจจุบัน