รมว.พม.ยันจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเหมือนเดิม พร้อมรับข้อเสนอภาคประชาชนเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

News Update social

วันนี้ (23 ก.ย. 64) เวลา 12.00 น. นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ครั้งที่ 3/2564 เปิดเผยว่า วันนี้ ที่ประชุมมีการพิจารณาเรื่องแนวทางการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ โดยได้มอบให้อนุกรรมการกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับการแต่งตั้งไปดำเนินการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น และรายงานกลับมาภายใน 30 วัน โดยได้รับข้อเสนอจากการตีความทางกฎหมายจากสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ไปศึกษาในเรื่องดังกล่าว อีกทั้งเช้าวันนี้ระหว่างการประชุม มีเครือข่ายสลัม 4 ภาค มายื่นข้อเสนอของภาคประชาชนต่อนโยบายการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ตนได้อ่านข้อเสนอทั้ง 4 ข้อให้ที่ประชุมได้รับฟัง พร้อมกันนี้ ที่ประชุมยังได้หารือกันว่า การจะเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือระบบจำเป็นต้องทำด้วยความรอบคอบ เราไม่ได้มองเพียงมิติกฎหมายเท่านั้น เรามองในมิติเศรษฐกิจ สังคม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือยึดประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก อีกทั้งตัวแทนของภาคประชาชนที่มายื่นข้อเสนอนั้น ตนได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขอเวลาให้ภาคประชาชนได้นำเสนอข้อมูล วิเคราะห์ผลดีผลเสีย ผลกระทบ มาให้กับคณะอนุกรรมการฯ พิจารณา ซึ่งทางภาคประชาชนได้แจ้งว่า จะนำมาเสนอภายในวันที่ 30 กันยายนนี้

นายจุติ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนอยากจะสื่อสารให้กับประชาชนทราบคือ อย่ากังวลใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบต่อท่าน การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุยังคงเหมือนเดิมจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะต้องใช้ทุกส่วน หมายถึงทั้งในส่วนของรัฐบาลและรัฐสภาด้วย ฉะนั้นใครที่เคยได้รับสิทธิยังได้รับตลอดอย่างต่อเนื่อง ขออย่าได้กังวลกับข่าวที่ออกมา เพราะทราบความจริงเพียงบางส่วนไม่ทราบครบทุกส่วน รัฐบาลชุดนี้รับฟังความเห็นของภาคประชาชนเสมอ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อวานนี้ 22 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ข้อสั่งการกับทุกกระทรวงในคณะรัฐมนตรีว่า ขอให้ระบบราชการได้ปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก และเน้นย้ำว่าอย่าให้มีช่องระหว่างข้าราชการกับประชาชน แต่ขอให้เน้นประชาชนได้เห็นว่า เดิมเราทำงานร่วมกับภาคประชาชน เราไม่เคยมีช่องว่าง ดังนั้น หากมีอะไรที่ต้องนำเสนอ เราพร้อมที่จะรับฟัง แต่บ้านเมืองอยู่ด้วยกฎหมาย กฎระเบียบ เราต้องฟังเสียงข้างน้อย แต่ก็ต้องเคารพสิทธิเสียงข้างมากด้วยเช่นกัน

นายจุติ กล่าวต่อไปอีกว่า ที่ประชุมวันนี้ เรามีความเห็นเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่หลากหลายมาก เรามีคณะอนุกรรมการ 30 กว่าท่าน และมีนักวิชาการในแต่ละเรื่องมาร่วมแสดงความเห็นด้วย ตนเชื่อว่าความเห็นของทุกคนมีความปราถนาดีต่อประเทศ และเน้นย้ำเสมอว่า จะทำอะไรก็ตามต้องยึดประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ในส่วนข้อเสนอที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอเข้ามาในที่ประชุม เป็นแนวทางที่ตีความทางกฎหมาย ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า ปัจจุบัน ระบบสวัสดิการ ปี 2564 ประโยชน์ที่ประชาชนได้รับนั้น มากกว่าระบบสวัสดิการของปีที่ผ่านๆ มาอย่างมาก เราต้องนำเข้ามาพิจารณาด้วย โดยในวันนี้ เราจะนำเอาความเห็นใหม่ในที่ประชุมมารวมกับความเห็นของภาคประชาชนเข้าไปประกอบกัน

นายจุติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้าที่มีการยึดเกณฑ์รายได้ขั้นต่ำเป็นองค์ประกอบของความเห็น เป็นข้อเสนอในที่ประชุมได้รับทราบ ซึ่งในที่ประชุมได้รับทราบและพิจารณาแล้วว่า ยังไม่มีความเห็นที่ครอบคลุมพอ ซึ่งทางอนุกรรมการฯ ต้องนำความเห็นต่างๆ มารวมกัน มาดูว่ามิติกฎหมายมีผลกระทบอย่างไร ผนวกกับว่าเราได้ให้ความสำคัญกับภาคประชาชนที่เสนอความเห็นมาเพิ่มเติม ทั้งนี้ ทางอนุกรรมการฯ ได้เสนอเข้ามา 3 แนวทางตามที่เป็นข่าว เรื่องของเส้นแบ่งความยากจน เรื่องของรายได้ และเรื่องของภาษี ซึ่งมีผลกระทบต่างกัน มีผลดี ผลเสียแตกต่างกัน เราต้องยึดความถูกต้องไว้ก่อน ซึ่งในวันที่ 30 กันยายนนี้ ทางภาคประชาชนจะมายื่นข้อเสนออีกรอบ พร้อมวิเคราะห์ผลกระทบ และตนจะเอาเอกสารเหล่านั้นส่งไปให้กับอนุกรรมการฯ ทุกคนไปศึกษา ซึ่งกรอบเวลาศึกษาคือเร็วที่สุด และต้องทำด้วยความรอบคอบ