สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ครบรอบ 62 ปี พร้อมก้าวเข้าสู่ปี 63 ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป
วันที่ 28 ตุลาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องในโอกาส“วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 62 ปี” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วช. ได้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศให้พัฒนาขึ้น สร้างฐานความรู้ที่มีคุณค่าสามารถประยุกต์และพัฒนาวิทยาการที่เหมาะสม รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ
นอกจากนี้ วช. มีภารกิจสำคัญเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศ รวมถึง การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ NRIIS (National Research and Inter System) ที่สามารถบริหารจัดการทุนวิจัยในแบบออนไลน์ ได้ 100% และ วช. จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล
กิจกรรม “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 62 ปี” วช.ยังคงให้ความสำคัญในกิจกรรมการให้ความรู้ด้านการวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงจัดกิจกรรมดังนี้ กิจกรรมการเสวนาความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศและการเปิดให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางด้าน ววน. ของประเทศ นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสิน หัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
การบรรยายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด กิจกรรม Research Knowledge Management : เรื่อง “การใช้ประโยชน์ไม้อย่างคุ้มค่า” และเรื่อง “เทคนิคการทำปุ๋ยหมักและการปลูกพืชครัว” กิจกรรม NRCT Talk : เรื่อง เซ็นเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลประดิษฐ์คิดค้น 2564 และเรื่อง ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง รางวัลเหรียญทอง การประกวดเวทีนานาชาติ
นอกจากนี้ วช. ยังจัดกิจกรรมเปิดมุมวิจัยรักษ์โลก ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการปรับภาพลักษณ์องค์กร การรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดพลาสติก ลดโลกร้อน รวมทั้งการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ โดยนำเก้าอี้และกระถางต้นไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้ขยะ ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง แผ่นปูพื้นและเก้าอี้ที่มีส่วนของขยะพลาสติกจากทะเลเพื่อสร้างมูลค่า ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ มาใช้ในมุมวิจัยรักษ์โลกดังกล่าว และภายในงานยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ ลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลงานวิจัย เรื่อง “การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยต้นไม้ที่ลดฝุ่นนี้ปลูกในบริเวณ วช. ได้แก่ต้นพลูปีกนก ต้นเฟิร์นขนนก ต้นคล้าแววมยุรา ต้นคริสติน่า ต้นตีนเป็ด ต้นโมก ต้นยางอินเดีย ต้นกวักมรกต ต้นหมากเหลืองและพรมกำมะยี่
สำหรับผู้ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้รับผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. อาทิ ต้นกล้าฟ้าทะลายโจร ของ รองศาสตราจารย์ ดุสิต อธินุวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้ากาก N-Breeze M02 ของ ดร.วรส อินทะลันตา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, น้ำมังคุดชิงธง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง ,และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ ของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อเผยแพร่ภารกิจ หน้าที่ ผลงานวิจัยและกิจกรรม วช. ต่อสาธารณชน และนำไปใช้ให้ประโยชน์ และสร้างความภาคภูมิใจให้นักวิจัย และนักวิชาการ พร้อมรำลึกถึงวันครบรอบ 62 ปี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)