ในภาวะที่โลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ภายใต้ผลกระทบจากภัยโควิดและสงคราม ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะกับชีวิต ความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การเปลี่ยนไปของภูมิรัฐศาสตร์ของโลก รวมทั้งกระทบระบบต่างๆที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นระบบการเงินการธนาคาร ระบบสาธารณสุข ระบบพลังงาน ระบบขนส่ง การสื่อสาร หรือระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเท่านั้น หากแต่ยังกระทบกับระบบการศึกษาของโลกนี้ด้วย
ถ้ามองในมุมลบ ผลกระทบเหล่านี้ทำให้การศึกษาขาดประสิทธิภาพในการจัดการ ด้อยโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาของคน และความมีคุณภาพที่เสื่อมถอยลงแต่อันที่จริงในสภาวะที่มีปัญหาเช่นนี้ เป็นโอกาสทองของการจัดการศึกษาด้วยโดยเฉพาะระบบการศึกษาของไทย ขึ้นอยู่กับเราใช้โอกาสนั้นเป็นโอกาสในมุมบวกหรือเป็นปัญหาอุปสรรคในมุมลบ
ประเด็นที่น่าจะนำมาพูดคุย อภิปรายและถกแถลงกันในเบื้องต้น มีปรากฏการณ์ที่เราน่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในมุมบวกได้ เรื่องแรกๆคือ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งนับเป็นโชคดีที่วันนี้นวัตกรรมด้านคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสาร มีความเจริญถึงขีดสูงสุด ในอดีตโรงเรียนสอนโดยใช้ชอล์คและกระดานดำ ใช้หนังสือเป็นสื่อตำราเรียนแต่เมื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเกิดขึ้น เราสามารถเรียนรู้ได้ ทุกที่ ทุกเวลา ความรู้หลากหลายลอยอยู่ในอากาศ ขึ้นอยู่กับใครจะฉกฉวยนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการสร้างความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนให้ได้มากที่สุด ด้วยสถานการณ์โควิด ครูต้องปรับตัวเรียนรู้วิธีการใช้งาน ความสามารถของครูในการใช้เทคโนโลยีมีมากขึ้นจากเดิมซึ่งเราคาดว่าครูที่มีอายุมากจะขาดความถนัดในการใช้สื่อเทคโนโลยี แต่เมื่อการเรียนการสอนส่วนใหญ่ต้องจัดผ่านระบบออนไลน์ ครูในปัจจุบันจึงมีความสามารถทั้งการผลิตสื่อการเรียนการสอน การจัดการศึกษา ผ่านระบบออนไลน์ รู้จักใช้แอพพลิเคชั่นต่างๆ อาทิ ZOOM , Google meet, Microsofe team ฯลฯ และอื่นๆ ภาวการณ์เหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้ครูทุกคนสามารถใช้สื่อการเรียนรู้ในลักษณะนี้ได้
และในวันนี้เมื่อโลกเริ่มปรับเข้าสู่ภาวะปกติ เราควรจะใช้โอกาสนี้ ธำรงความมีสมรรถนะเหล่านี้ไว้ให้คงอยู่กับตัวครูตลอดไป อย่าปล่อยให้ต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ เพราะโอกาสทองที่เป็นแรงขับให้ครูสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีในลักษณะนี้ จะไม่เกิดขึ้นอีกในอนาคต สิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการให้เกิดอย่างต่อเนื่องคือ การอบรมพัฒนาครูให้สามารถจัดการเรียนการสอนด้วยแอพพลิเคชั่นใหม่ๆได้ ครูสามารถผลิตสื่อ ทั้งสื่อพื้นฐานและสื่อมัลติมีเดีย มีการวางระบบ WIFI ให้ครอบคลุมเเละใช้ฟรีทั้งประทศ มีระบบ Streaming เพื่อใช้สอนสด
รวมทั้งมีเวบไซด์ที่เป็นคลังความรู้ระดับประเทศ ปรับสถานีวิทยุโทรทัศน์ให้เป็นช่องทางการศึกษาเพื่อให้ความรู้เเก่เด็กและเยาวชนทั้งประเทศ การส่งเสริมให้โรงเรียนมีห้อง Smart classroom มีคอมพิวเตอร์เพื่อการจัดการศึกษาอย่างเพียงพอ โดยใช้ระบบ Cloud Funding รับบริจาคหรือระดมทุนจัดหาให้เด็กที่ขาดเเคลน สร้างระบบ Virtual school ซึ่งเป็นโรงเรียนเสมือนจริงที่ใช้เทคโนโลยีและ AI มาช่วยจัดการความรู้ ควบคู่ไปกับโรงเรียนปกติ มีการค้นหาศักยภาพและจุดอ่อนของเด็ก จากนั้นจะต้องติวเข้มเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับเด็ก ทั้งนี้หมายรวมถึงศักยภาพของเด็กทุกด้าน มิใช่วิชาการเพียงอย่างเดียว สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ควรจะทำและต้องรีบทำ
นอกจากเรื่องของสื่อเทคโนโลยี ความถดถอยด้านความรู้ของเด็กในภาวะโควิดก็เป็นโอกาสทอง กล่าวคือหากมองในมุมลบ เด็กในช่วงสองสามปีที่ผ่านมามีความรู้และสมรรถนะที่ต่ำกว่าปกติ อันเกิดจากขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง แต่สำหรับระบบการศึกษาไทย ในมุมบวกคือทุกคนไปตั้งหลักที่จุดเริ่มต้นเหมือนกัน ไม่มีใครเก่งหรือด้อยกว่าใคร ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก ซึ่งจากเดิมเราอยู่ในระดับกลางๆค่อนไปในทางต่ำ
เเต่เมื่อเกิดสภาวการณ์โควิด ทุกประเทศจำเป็นต้องมาเริ่มตั้งหลักใหม่เช่นเดียวกัน ฉะนั้นถือได้ว่าทุกคนออกจากจุดสตาร์ทใหม่พร้อมกัน จำเป็นต้องมีกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดันภายใต้โอกาสทองนี้คือ การ reset ระบบการจัดการกันใหม่ ซึ่งสิ่งที่เราควรทำคือ จัดให้มีระบบ tutoring หรือสอนเสริมให้กับเด็กที่ Learning Loss การนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้เหมือนที่หลายประเทศ เช่นสิงคโปร์ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ ฯลฯ ได้เริ่มสร้างนวัตกรรมใหม่ และเอามาใช้เเล้วในปัจจุบัน
ขณะที่เรายังติดอยู่ที่กรอบเนื้อหาเดิม โครงสร้างหลักสูตรเดิม และวิธีเรียนแบบเดิมๆ โรงเรียนต้องปรับเปลื่ยนเป็น Digital School หรือ Virtual School มีการอบรมพัฒนาครูให้สามารถจัดการศึกษาแบบ Active learning ได้ มีการปรับหลักสูตร ปรับกระบวนการจัดการศึกษาใหม่ ตัดวิชาหรือเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออก ลดความแข็งตัวของโครงสร้างหลักสูตร มีวิชาที่เน้นการสร้างสื่อหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในการบริหารจัดการเรียนรู้ ต้องสร้างสมรรถนะใหม่ให้เด็กสามารถไปแสวงหาความรู้ซึ่งมีอยู่มากมาย ภายใต้กรอบเเนวทางของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ต้องส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้มีความสามารถตามศักยภาพของแต่ละคน ในลักษณะของทฤษฎีพหุปัญญา นั่นคือ ให้เด็กได้เรียนรู้ในเรื่องที่ถนัดและสนใจ เพื่อสามารถเเสดงศักยภาพสูงสุดออกมาได้
สิ่งที่เป็นโอกาสทองประการสำคัญเรื่องสุดท้าย คือความเปลี่ยนแปลงของชีวิตปกติใหม่หรือ New Normal ซึ่งเป็นความคุ้นชินของคนในเจนเนอเรชั่นใหม่ การจัดการศึกษาในอนาคตจึงจำเป็นจะต้องตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนในสิ่งที่เด็กอยากรู้เเละสามารถนำไปใช้ได้ในโลกอนาคต ต้องมีการปรับสภาพของโรงเรียน ให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็กอย่างแท้จริง ลดกิจกรรมเชิงพิธีการ และระเบียบที่อาจล้าหลังเเต่เรายึดติดกันมานาน มีกระบวนการสร้างโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กมีประสิทธิภาพในการเรียนรู้สูงสุด การกำหนดวิชาเรียน ใช้วิชาหลักตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด หากแต่วิชาเลือกเสรีควรเป็นไปตามบริบทของพื้นที่
กิจกรรมที่จัดให้นักเรียนต้องสอดคล้องและตรงกับความต้องการของผู้เรียน มีรูปแบบกิจกรรมชมรมที่หลากหลาย มีการเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออก เช่นการเเต่งชุดไปรเวทในการมาเรียนที่โรงเรียนเป็นบางวันหรือบางกิจกรรม มีกิจกรรมส่งเสริมศิลปะ ดนตรี กีฬา จิตอาสา อาชีพ และการแสดงออกสำหรับเด็ก สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความพร้อมในการแข่งขันกับนานาประเทศ แต่พยายามให้แนวคิดในมิติของการส่งเสริมความเป็นไทย ความมีมารยาท ความกตัญญูต่อบุพการี ความมีน้ำใจ และการมีอัตลักษณ์ของความเป็นไทย ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ผ่านระบบกรรมการนักเรียน หรือกิจกรรมชมรมที่เปิดโอกาสให้แสดงออกถึงความคิดเห็นและความต้องการ โดยมีครูคอยดูแลในลักษณะของกัลยาณมิตร
ความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาอันสั้น เทคโนโลยี โรคอุบัติใหม่ หรือสงครามทั้งที่ต้องใช้อาวุธและสงครามเศรษฐกิจ ส่งแรงกระเพื่อมไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก เปรียบเสมือนวิกฤตที่เราทุกคนจำเป็นต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สิ่งเหล่านี้หากมองในมุมบวกก็คือโอกาสทองของพวกเราทุกคนที่จะได้ตั้งหลักใหม่ เป็นโอกาสทองที่ระบบการศึกษาจำเป็นจะต้องนำมาใช้โดยเปลี่ยนมุมคิดจากลบเป็นบวก และพยายามอย่าทิ้งโอกาสทองตรงนี้ไปโดยเปล่าประโยชน์ เพื่อเราจะได้ตั้งต้นใหม่ และพยายามทำให้ดีที่สุด เพื่อให้สถานศึกษาเป็นสถานศึกษาที่ดี ครูมีคุณภาพ อันจะนำมาซึ่งการสร้างเด็กคุณภาพของสังคมได้ต่อไป