โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ร่วมกับ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม Heart Challenge Fun Run 2022 เดิน วิ่ง ให้หัวใจคนกรุงแข็งแรง เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต และป้องกันความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ เนื่องในวันหัวใจโลก World Heart Day 2022 โดยนำรายได้ทั้งหมดจากค่าสมัครวิ่ง มอบให้มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย
นายแพทย์เกรียงไกร เฮงรัศมี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนทั่วโลก และอันดับ 2 ในประเทศไทย โดยในอนาคตอาจมีแนวโน้มผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสาเหตุมาจากปัจจัยเสี่ยง เช่น อายุที่มากขึ้น มีภาวะอ้วน และไขมันสะสม สูบบุหรี่เป็นประจำ มีโรคประจำตัวคือเบาหวานและความดัน ขาดการออกกำลังกาย เกิดภาวะความเครียดบ่อยครั้ง จึงทำให้กลายเป็นโรคหัวใจในอนาคตได้
งาน Heart Challenge Fun Run 2022 เดิน วิ่ง ให้หัวใจคนกรุงแข็งแรง มีเส้นทางเป็นรูปหัวใจ ภายในสวนลุมพินี พร้อมกิจกรรมตรวจสุขภาพหัวใจ อาทิ ตรวจความดันโลหิต ตรวจน้ำตาลปลายนิ้ว การประเมินความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเบื้องต้น ประเมินความฟิตของปอดและหัวใจ ปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ให้คำแนะนำด้านโภชนาการ การสาธิตการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และฟังดนตรีในสวน โดย คุณโต๋ ศักดิ์สิทธิ์ เวชสุภาพร รายได้ทั้งหมดจากค่าสมัครวิ่ง มอบให้มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยไม่หักค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ รพ.หัวใจกรุงเทพ หวังให้กิจกรรมในครั้งนี้ทำให้ทุกคนรู้เท่าทันความเสี่ยง หันมาใส่ใจในสุขภาพและป้องกันให้ห่างไกลจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของตัวท่านเองและสมาชิกในครอบครัว และประชาชนคนไทย มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
แพทย์หญิงป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีความยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งของงานเดิน วิ่ง ให้หัวใจคนกรุงแข็งแรงในครั้งนี้ โดยนำทีมเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคหัวใจแก่ประชาชน ช่วยสร้างความตระหนักในการดูแลสุขภาพหัวใจให้แข็งแรง เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจ เพราะในอดีตโรคหัวใจจะเป็นโรคที่พบเจอได้บ่อยในผู้สูงอายุ แต่ปัจจุบันกลับพบว่าคนที่อายุน้อย หรือวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจได้มากเช่นกัน ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัยได้ทำหน้าที่ให้บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
รวมทั้งการสำรวจดูแลสุขภาพของประชาชนและสุขาภิบาลที่ดี ส่งเสริมให้ประชาชนพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพด้วยตนเอง มีการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ รวมถึงโรคหัวใจ ด้วยแบบประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด (CVD Risk score) เพื่อให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงสภาวะสุขภาพของตนเองและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ