“เปิดโลกสมานฉันท์” เรียนรู้ประวัติศาสตร์พหุวัฒนธรรม

education News Update

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2565 ดร. กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ดร. กนกวรรณ วิลาวัลย์) และเป็นเลขานุการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต์” ซึ่งมีพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นประธานกรรมการอำนวยการโครงการ ร่วมกิจกรรมกับนักโบราณคดีจากอุทยานประวัติศาสตร์และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎพระนครศรีอยุธยา โดยนำเยาวชนจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากค่ายเยาวชน รุ่นที่ 39 ในโครงการ “สานใจไทย สํูใจใต้” เข้าเยี่ยมชมและศึกษาแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา อาทิ กุโบร์เจ้าพระยาบวรราชนายก (เฉกอะหมัด ) จุฬาราชมนตรีท่านเเรก วัดใหญ่ชัยมงคลซึ่งมีพระมหาเจดีย์ชัยมงคลที่สมเด็จพระนเรศวรให้ทหารที่ตามเสด็จไม่ทันในการเข้าสู่วงล้อมของพม่าในการทำยุทธหัตถีร่วมกันสร้างเพื่อไถ่โทษ และเป็นการประกาศชัยชนะ วัดมหาธาตุ วัดพระศรีสรรเพ็ชร เจดีย์วัดสามปลื้ม และสถานที่สำคัญบริเวณเกาะเมืองและอุทยานประวัติศาสตร์

จากนั้นได้มีการมอบหมายภารกิจให้เยาวชนร่วมวิเคราะห์ ถึงเเนวทางการใช้ชีวิตร่วมกันของประชาชนซึ่งมาจากหลากหลายวัฒนธรรม หลายเชื้อชาติ หลายภาษา ที่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุขและร่วมสร้างอาณาจักรอโยธยาให้เจริญรุ่งเรือง

 

ที่ปรึกษา รมช.ศธ. กล่าวกับเยาวชน 5 จังหวัดชายแดนใต้ว่า “การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตย่อมเป็นบทเรียนสำหรับปัจจุบัน และชี้นำแนวทางการก้าวต่อไปในอนาคต สังคมไทยต้องก้าวผ่านประวัติศาสตร์บาดหมางไปสู่การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อความสมานฉันท์ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยุธยา ทำให้เข้าใจถึงวิถีชีวิตพหุวัฒนธรรมของชุมชนที่มีเชื้อชาติต่างกันไม่ว่าจะเป็นชาวไทย จีน ญี่ปุ่น เปอร์เซีย โปรตุเกต ฮอลันดา ฯลฯ ตลอดจนนับถือศาสนาที่หลากหลาย อาทิ พุทธ คริสต์ และอิสลาม รวมทั้งการปรับตัวของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ สิ่งเหล่านี้จึงควรเป็นต้นแบบของความสมานฉันท์ และสันติสุข ซึ่งเชื่อว่าเด็กและเยาวชนจะสามารถนำสิ่งที่เห็นไปวิเคราะห์และประยุกต์ใช้ในท้องถิ่นของตนเองได้ในอนาคต”