กพท. มอบใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศให้ บริษัท แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด ชูมาตรฐานสากล พร้อมสยายปีก Air Cargo รองรับการเติบโตของธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ หนุนส่งออกสินค้าไทย มุ่งเน้นความรวดเร็ว ปลอดภัย ติดตามได้ ประกาศเพิ่มฝูงบินอีก 4 ลำ เริ่มให้บริการ Q2 ปีหน้า
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2565 ณ ห้องประชุมสุวรรณภูมิ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย นายทศพล วงศ์กิติกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด หรือ สายการบินบัดเจ็ตไลน์ เข้ารับมอบใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence หรือ AOL) จาก นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ เพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ภายใต้มาตรฐานการบินในระดับสากล
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ หรือ AOL เป็นหนึ่งในใบอนุญาตสำหรับการประกอบกิจการการบินพลเรือนที่มีความสำคัญสำหรับกิจการสายการบิน โดยมีกฎระเบียบและข้อกำหนดต่าง ๆ ตามกฎหมาย ภายใต้มาตรฐานสากล เป็นการยืนยันว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนสำหรับการดำเนินธุรกิจที่แท้จริง สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มาตรฐานสู่ความยั่งยืน” ของ กพท. ในการส่งเสริมและพัฒนากิจการการบินพลเรือนให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการรักษาและพัฒนาระบบกำกับดูแลที่เป็นธรรม เป็นไปมาตรฐานสากล ติดตามและปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อแนะนำที่พึงปฏิบัติขององค์กรระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
“ใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ มีความสำคัญมากสำหรับการประกอบกิจการสายการบิน ทุกครั้งที่มีสายการบินได้รับมอบ จึงหมายถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ตอกย้ำถึงความเชื่อมั่นในการดำเนินงานของ กทพ. และกิจการสายการบินในประเทศไทย ภายใต้มาตรฐานสากล” ผอ.กพท. กล่าว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยหลังสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2565 นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น โดยเฉพาะเที่ยวบินในประเทศที่มีความคึกคักจากภาคการท่องเที่ยว ปัจจุบันตัวเลขฟื้นตัวประมาณ 80% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีตัวเลขกลับมาราว 50%
ขณะเดียวกัน การเติบโตของบริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจสายการบินสามารถประคับประคองตัวในช่วงโควิด-19 โดยสายการบินหลายแห่งเริ่มปรับรูปแบบการให้บริการจากการขนส่งผู้โดยสารมาเป็นการขนส่งสินค้าเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ประกอบกับกระแสความนิยมในการซื้อขายออนไลน์ที่ขยายตัวทั่วโลก รวมทั้งศักยภาพในการส่งออกสินค้าไทย ที่มีโอกาสเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง
นายทศพล วงศ์กิติกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอร์ อินเตอร์ทรานสปอร์ต จำกัด (สายการบินบัดเจ็ตไลน์) กล่าวว่า สายการบินบัดเจ็ตไลน์เป็นสายการบินของคนไทย 100 % ดำเนินธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร (Passenger Carrier) ขนาดเล็ก ในลักษณะ Air Taxi มาเป็นเวลา 7 ปี โดยมีเครื่องบินจำนวน 3 ลำ ปัจจุบันได้ขยายธุรกิจสู่บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ (Air Cargo) เนื่องจากเล็งเห็นโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมการขนส่งทางอากาศ จากปัจจัยการเติบโตของการซื้อ-ขายผ่าน E-Commerce Platform โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่ต้องการรับสินค้าที่รวดเร็ว รวมทั้งสินค้าที่เน่าเสียง่าย เช่น สินค้าทางการเกษตร ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบของการขนส่งโดยเครื่องบิน
บริษัทฯ ได้เริ่มเตรียมแผนการดำเนินธุรกิจรับขนส่งสินค้าทางอากาศในระดับภูมิภาคของประเทศไทยและระหว่างประเทศตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา และได้จัดตั้งสายการบินเพื่อรับ-ส่ง สินค้าทางอากาศ ใช้ชื่อทางการค้าว่า “Budget Lines Cargo” อยู่ในฝูงบินของ บริษัท แอร์ อินเตอร์ ทรานสปอร์ต จำกัด ให้บริการรับเคลื่อนย้ายสินค้าทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็นหีบห่อ, สิ่งตีพิมพ์, สินค้าเน่าเสียง่าย เช่น เนื้อสัตว์หรือพืชผลทางการเกษตร, สารเคมีและก๊าซภายใต้แรงดัน รวมไปถึงสินค้าอันตรายที่ได้รับอนุญาตให้ขนย้ายทางอากาศได้ ด้วยอากาศยานที่ออกแบบเพื่อการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะ
การเข้ารับใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ถือเป็นการปฏิบัติตามมาตรฐานในการประกอบกิจการภายใต้กฎหมายที่กำหนด เตรียมพร้อมสำหรับการให้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศที่จะเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2566 สำหรับแผนดำเนินงาน 5 ปีแรก บริษัทฯ จะทำการบินด้วยอากาศยานแบบโบอิ้ง 737-800 จำนวน 4 ลำ ไปยังประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีปริมาณการขนส่งลำละ 20-22 ตันต่อเที่ยวบิน โดยบริษัทฯ จะให้ความสำคัญต่อความตรงเวลา สินค้าปลอดภัย สามารถติดตามสินค้าได้ และมีราคาที่สามารถแข่งขันได้
“ประเทศไทยอยู่ในพิกัดที่ค่อนข้างดีมาก มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางอากาศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ทางอาหาร มีผลผลิตทางการเกษตรจำนวนมากที่ยังเป็นโอกาสในการส่งออก คาดว่าการเติบโตของธุรกิจการขนส่งทางอากาศ จะมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยเป็นกลับมาเป็นศูนย์กลางของการขนส่งทางอากาศได้ในอนาคต” นายทศพล กล่าว