“พลเอก ประวิตร” นั่งหัวโต๊ะ ถก กนช. เห็นชอบร่างแผนหลักฯ กว๊านพะเยา / เวียงหนองหล่ม  ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ

News Update social

เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 65 เวลา 14.30 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วย ผู้แทนจากกรมชลประทาน กรุงเทพมหานคร การประปาส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์    

พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุม กนช. ครั้งที่ 4 ในวันนี้ เป็นครั้งสุดท้ายของปี 2565 โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินงานภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี การดำเนินงานตาม 13 มาตรการฤดูฝน และ 10 มาตรการฤดูแล้ง และการดำเนินการในด้านอื่นๆ ที่สำคัญ อีกทั้ง ยังได้ร่วมกันพิจารณาและมีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูกว๊านพะเยา จ.พะเยา พื้นที่ประมาณ 12,831 ไร่ แบ่งเป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี ใน 5 ด้าน 15 แผนงาน รวม 172 โครงการ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากแบบอย่างความสำเร็จของโครงการพัฒนากว๊านพะเยา ที่ขับเคลื่อนโดยมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ที่ผ่านมา เมื่อดำเนินโครงการตามแผนหลักฯแล้วเสร็จจะเพิ่มความจุเก็บกักพื้นที่ตอนบนอีก 6.546 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มปริมาตรเก็บกักในกว๊านพะเยา 9.275 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำที่สามารถบำบัดได้ 1.62 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 154,981 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 160,000 ครัวเรือน ปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้เพิ่มมูลค่าไม่น้อยกว่า 43.8 ล้านบาท/ปี ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 31,776 ไร่

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบแผนหลักการพัฒนาและฟื้นฟูเวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย มีเนื้อที่ 14,091 ไร่ จำนวน 65 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มความจุเก็บกักเป็น 24.22 ล้าน ลบ.ม. (เพิ่มขึ้น 17.83 ล้าน ลบ.ม.) ปริมาณน้ำที่ผันเข้าพื้นที่ 35.00 ล้าน ลบ.ม./ปี พื้นที่รับประโยชน์ 49,792 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ 14,531 ครัวเรือน ลดความเสียหายจากพื้นที่น้ำท่วม 13,300 ไร่

รวมทั้งยังได้เห็นชอบโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่สำคัญ ได้แก่ 1.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกตอนล่าง ดำเนินการ 6 ปี (ปี67–72) 2.โครงการปรับปรุงระบบชลประทานเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ดำเนินการ 4 ปี (ปี68–71) 3.โครงการภายใต้แนวคิดในการพัฒนาการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แผนงานกลุ่มที่ 1 ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ งานปรับปรุงระบบสูบน้ำ ระบบไฟฟ้า และระบบเก็บขยะ สถานีสูบน้ำพระโขนง ระยะที่ 1 (เร่งด่วน) โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองหนองบอน ช่วงจากคลองประเวศบุรีรมย์ถึงบึงหนองบอนเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำคลองหนองบอน และโครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองมะขามเทศ ช่วงจากคลองประเวศบุรีรมย์ถึงบึงหนองบอน

4.โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาพังงา–ภูเก็ต และ 5.การขอขยายระยะเวลาและขยายกรอบวงเงินโครงการคลองระบายน้ำหลากบางบาล-บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเมื่อโครงการทั้งหมดผ่านความเห็นชอบจาก กนช. แล้ว หน่วยงานเจ้าของโครงการจะต้องดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุมวันนี้ยังได้ร่วมกันพิจารณาแผนปฏิบัติการด้านทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบกลั่นกรองแล้ว จำนวน 63,614 รายการ สามารถเพิ่มความจุกักเก็บน้ำได้ 1,401.09 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 6.23 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 5.64 ล้านครัวเรือน พื้นที่ได้รับการป้องกัน 5.39 ล้านไร่  โดยให้ สทนช. นำ (ร่าง) แผนปฏิบัติการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป สำหรับแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง ปี 2565/2566 ให้ใช้แนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำรองรับฤดูแล้ง ปี 2565/2566 ตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำเห็นชอบ ไปพลางก่อนอย่างเคร่งครัด เพื่อเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ในช่วงฤดูแล้งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที และให้คณะกรรมการลุ่มน้ำเร่งรัดจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำแล้ง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมให้สมบูรณ์ทั้ง 22 ลุ่มน้ำโดยเร็ว

ทั้งนี้ ยังได้ร่วมกันพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยมีแนวทางที่สำคัญในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำหรือพื้นที่หน่วงน้ำให้มากขึ้น นอกจากจะเป็นการลดปัญหาน้ำหลากเข้าท่วมพื้นที่ชุมชน-พื้นที่เศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งได้อีกด้วย โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตรเพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการทำการเพาะปลูกได้อย่างมั่นคงมากขึ้น สำหรับการดำเนินงานในระยะเร่งด่วน ปี 2566 เห็นควรให้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อนำไปดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ ในช่วงฤดูฝนปี 2566 จำนวน 227 โครงการ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการในปีถัดไปด้วย