ก.แรงงาน ติวเข้มเจ้าหน้าที่คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ มุ่งไทยสู่เทียร์ 1

News Update social

วันที่ 14 มิถุนายน 2566 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้ นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานพิธีเปิดโครงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ รุ่นที่ 3 และบรรยายหัวข้อ “นโยบายการป้องกันและแก้ไขการบังคับใช้แรงงานหรือการบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน”เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามหลักกฎหมายและหลักสากล มาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) แผนปฏิบัติการว่าด้วยการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) และมีทักษะการคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ร่วมกับทีมสหวิชาชีพ โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรม ได้แก่ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่สำนักงานแรงงานจังหวัด สำนักงานจัดหางานจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด 19 จังหวัด และหน่วยงานสหวิชาชีพ โอกาสนี้มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงแรงงาน ร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดด้วย ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร

นายวรรณรัตน์ฯ กล่าวว่า กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานสำคัญและเป็นหน่วยงานหลักในการต่อต้านการค้ามนุษย์ภายใต้ยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านความมั่นคง โดยรับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักในการป้องกันการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ ในการยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลและป้องกันไม่ให้แรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงานทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคนำมาตรฐานการปฏิบัติงาน (SOP) ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ด้านแรงงานและการบังคับใช้แรงงาน และการนำแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติฯ (NRM) นำไปใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการบังคับใช้แรงงานหรือบริการและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ด้านแรงงานร่วมกับทีมสหวิชาชีพ ซึ่งเป็นการยกระดับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขั้นต่ำในกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ค.ศ. 2000 (TVPA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

 

นายวรรณรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน พร้อมที่จะร่วมผนึกกำลังกับทุกภาคส่วน ในการขับเคลื่อนการต่อต้านการค้ามนุษย์ ขจัดการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในประเทศไทย และเพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานขั้นต่ำของสหรัฐฯ และได้รับการจัดอันดับในรายงานการค้ามนุษย์ให้อยู่ในระดับ Tier 1 ต่อไป