เปิดลายแทง “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย”
อุดรธานี เมืองแห่งศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม
……………………………………………
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) ร่วมกับแอปพลิเคชั่น TikTok จัดกิจกรรม โครงการสร้างสรรค์ส่งเสริมสินค้า (Tourism Treasures throughout Thailand) หรือ “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” เชิญชวนบุคคลทั่วไป ร่วมสนุกกดไลก์ และแชร์วิดีโอ แนะนำขุมทรัพย์ท่องเที่ยวที่โดนใจตนเองไปยัง Facebook หรือ Instagram จากนั้น Hashtag #ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย โพสท์แชร์ พร้อมเขียนแคปชั่นสุดเจ๋งเล่าเหตุผล เพื่อบอกต่อกิจกรรมผ่านโซเชียลมีเดียให้เผยแพร่ออกไปในวงกว้าง
โดยผู้ร่วมสนุกจะมีสิทธิลุ้นรับแพ็กเกจท่องเที่ยวใน 4 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม (จังหวัดอุดรธานี), เส้นทางท่องเที่ยวเชิงมูลค่า (จังหวัดภูเก็ต), เส้นทางท่องเที่ยวธรรมชาติ (จังหวัดกาญจนบุรี) และเส้นทางท่องเที่ยวความสนใจพิเศษ (อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
ล่าสุด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้พาผู้โชคดี 10 ท่าน พร้อมสื่อมวลชน ร่วมเดินทางไปเบิกร่องโครงการขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย ในเส้นทางท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรม จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ได้เกิดการรับรู้แหล่งท่องเที่ยวที่เป็นขุมทรัพย์ท่องเที่ยวของไทย และบอกต่อผ่านโลกออนไลน์ในวงกว้าง
ด้วยความโชคดีที่ทางจังหวัดอุดรธานีได้บูรณะอาคารราชินูทิศ อันเก่าแก่อายุกว่า 90 ปี พร้อมจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ณ เวลานี้เสมือนกลับมามีชีวิต และเพิ่งเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมเมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จึงเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญทางประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้มาเยือนเข้าถึงรากเหง้าดินแดนศิลปะอุดรธานีแห่งนี้ได้ชัดเจน
ภายในพิพิธภัณฑ์สีเหลือง จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดอุดรธานี นับตั้งแต่ประวัติศาสตร์, โบราณคดี, ธรรมชาติวิทยา, ธรณีวิทยา, ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น, วิถีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม แม้ยุคไดโนเสาร์บ้านเชียงจะผ่านมากว่า 5,000 ปี ก็ยังมีเรื่องราวให้กล่าวขานผ่านแสง-สี-เสียง ให้ได้ประทับใจ
๐ หลงวัฒน์ : ข้าวนอกนา
“วัฒนธรรมอาหาร” จังหวัดอุดรธานี มีเรื่องราวมากมาย ผ่านประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ประเทศเพื่อนบ้าน หรือแม้แต่ความหวาดระแวงในสงคราม จนวิวัฒน์มาสู่เมนูอาหารเพื่อความอยู่รอด
ดังเช่น เส้นแป้งสีขาวข้น จมอยู่บนถ้วยชามใบโอ่ มีหมูยอ, ซึ่โครง ลอยคอโรยด้วยหอมเจียว และผักชีฝรั่งซอยหั่น บีบมะนาวปรุงรส เค็ม-เผ็ด ได้ตามอำเภอใจ คนเวียดนาม เรียก “เฝอ” คนลาว เรียก “ข้าวเปียก” แต่ไทยเราเรียก “ก๊วยเตี๋ยวญวน” อีกหนึ่งเมนูอาหารเวียดนามที่ขึ้นชื่อ ไม่ใช่แค่ “แหนมเนือง” ปัจจุบัน “ก๊วยเตี๋ยวญวน” เป็นอาหารเพื่อนบ้าน หารับประทานได้ทุกเวลาในจังหวัดอุดรธานี
ส่วนอาหารเช้า เมนู “ไข่กระทะ” กับขนมปังฝรั่งเศส ยังคงตอกย้ำวัฒนธรรมอาหารตะวันตก ที่คนไทยรับตกทอดมาจากทหารจีไอ ในยุคสงครามปราบคอมมิวนิสต์ ที่อย่างน้อยยามเช้าพระอาทิตย์เฉิดฉาย ได้เห็นอาหารเช้า ไข่ดาว-หมูแฮม เหล่านักรบต่างแดน ก็ได้มโนเพลินใจเสมือนว่าอยู่ในมาตุภูมิบ้านเกิด
๐ ศาลปู่-ย่า : ชาติพันธุ์คนโพ้นทะเล
อุดรธานี เป็นหนึ่งในจังหวัดของไทย ที่ชาวจีนอพยพมาจากแผ่นดินใหญ่ได้เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารมาร่วมเกือบร้อยปี แหล่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจของชาวจีนโพ้นทะเล คือ ศาลเจ้าปู่-ย่า สถานีที่เก็บรักษามังกรทองยาวถึง 99 เมตร ซึ่งใช้แสดงในงานทุ่งศรีเมืองในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี
การกราบไหว้ขอพร ต้องจุดธูป 30 ดอก ปัก 6 จุด แต่ละจุด ปักกระถางธูปกลาง 3 ดอก ซ้าย-ขวา แห่งละ 1 ดอก สิ่งศักดิ์สิทธิ์จุดแรก “ทีตีแป่บ้อ” คือ “ศาลเทพยดาฟ้าดิน” จุดที่สอง คือ “ปึงเถ่ากงม่า” หรือ ”เจ้าปู่เจ้าย่า” จุดที่สาม คือ “ศาลเจ้าพ่อหนองบัว” จุดที่สี่ คือ “ตี่จู๋เอี๊ย” จุดที่ห้า คือ พระสังกัจจายน์ ซึ่งได้ขุดพบใต้ต้นไทรในบริเวณศาลเจ้าปู่-ย่า เมื่อ พ.ศ.2530 และ จุดที่หก คือ “ฉั่งง่วนส่วย” ครบถ้วนร่วมสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวจีนในอุดรธานี
จากนั้นก็เดินไปชื่นชมความงามศูนย์วัฒนธรรมไทยจีน สถานที่ตกแต่งจำลองบรรยากาศจีน ร่ายล้อมด้วยพืชพันธุ์ไม้ ต้นหลิว, ต้นเครามังกร, ต้นไผดำ, ประทัดจีน, หงส์ฟู่ บ, โกเนีย, โป๊ยเซียน, เทียนหอม ที่รายล้อมสระบัว และบ่อปลาคาร์ฟจักรพรรดิ์ สระเหมือนยกเมืองจีนมาไว้ใจกลางอุดร
๐ คำชะโนด : ตัวเลขแห่งศรัทธา
อีกหนึ่งสถานที่ ซิกเนเจอร์ ที่คนไทยหลายคนต้องการไปสัมผัส ในบาทวิถีแห่งชีวิต และความเชื่อ ความศรัทธาต่อพญาศรีสุทโธนาคราช ผู้ขุดแม่น้ำโขง “คำชะโนด” หรือป่าคำชะโนด จังหวัดอุดรธานี สถานที่ท่องเที่ยวศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพนับถือของพี่น้องชาวอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านที่ยอมข้ามลำน้ำโขว มาสักการะดินแดนลี้ลับแห่งนี้
คำชะโนด ตั้งอยู่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เชื่อกันว่าเป็นดินแดนของพญานาค เป็นทางเชื่อมต่อเมืองบาดาล ปกครองรักษาโดยพญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี ผืนป่าลอยน้ำปกคลุมด้วยต้นคำชะโนด สูงตระหง่านขนาดใหญ่อยู่ทั่วบริเวณ พันธุ์ไม้คล้ายปาล์ม สูงราว 20 เมตร มีใบเหมือนใบตาล ลำต้นเหมือนมะพร้าว ลูกคล้ายหมากเม็ดเล็ก มีที่นี่เพียงแห่งเดียวในโลก
ทริป “ขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย” ครั้งนี้ คุณอัครฉัตร ขันธะมูล ประธานสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย ภาคอีสานเขต 3 ผู้เลื่อมใสและศรัทธาเจ้าปู่ศรีสุทโธ แกนนำในการปรับปรุงภูมิทัศน์ จัดระเบียบคำชะโนด ได้ให้การต้อนรับ และเชิญ ปู่เขียว หรือคุณลุงสุวัฒน์ เกินดี ผู้นำจิตวิญญาณของชาวอำเภอบ้านดุง มาเป็นเจ้าพิธีบวงสรวง พญานาคราชปู่ศรีสุทโธ และองค์แม่ศรีปทุมมานาคราชเทวี
ปู่เขียว ยังเล่าถึงตำนานพญาศรีสุทโธนาคราช ผู้ขุดแม่น้ำโขงใช้ป่าคำชะโนด และนำพาคณะข้ามสะพานปูนรูปปั้นพญานาค 2 ตัว 7 เศียร พาไปชมจุดเชื่อมต่อระหว่างเมืองบาดาล และโลกมนุษย์ ก่อนจะเข้ามาด้านในของป่าคำชะโนด ตรงบริเวณศาลเจ้าปูศรีสุทโธ ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศเดินทางเข้ามากราบไหว้กันไม่ขาดสาย บริเวณรากต้นมะเดื่อขนาดใหญ่ ชาวบ้านต่างถูไถรากไม้ใหญ่ค้นหาตัวเลขนำโชค
ส่วนบริเวณ “บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์” ที่ตั้งอยู่กลางเกาะ มีน้ำใต้ดินพุ่งไหลอยู่ตลอดเวลา ประชาชนส่วนใหญ่ยังตักน้ำใส่ขวด เพื่อเก็บกลับไปสักการะ เพราะเชื่อว่าเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
๐ บ้านเชียง : เสพศิลป์ เพื่อสืบสาน
คำกล่าวที่ว่า มองไปข้างหน้า “อย่างมีความหวัง” มองไปข้างหลัง “อย่างมีบทเรียน” ดูจะสอดคล้องกับแหล่งท่องเที่ยวจุดสุดท้ายของทริปขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย จังหวัดอุดรธานี
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ บ้านเชียง การค้นพบโบราณวัตถุที่มีความสำคัญทางโบราณคดีและก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณหมู่บ้านเชียง เริ่มต้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500 เมื่อราษฎรชาวบ้านเชียง พบเห็นเศษภาชนะดินเผาที่มีลวดลายเขียนสีแดงจำนวนมาก และได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่โรงเรียนประชาบาล
กระทั่ง พ.ศ. 2509 มิสเตอร์ สตีเฟน ยัง แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาศึกษาและได้เก็บเศษภาชนะวิเคราะห์ และลงความเห็นเป็นเศษภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ (Neotelhic Period) กรมศิลปากร จึงดำเนินการขุดค้นทางโบราณคดีที่บ้านเชียง และส่งโบราณวัตถุไปหาอายุที่มหาวิทยาลัยเพนซินเวเนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าเป็นวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ 3 ระยะใหญ่ คือ สมัยต้นบ้านเชียง อายุระหว่าง 5,600-3,000 ปี, สมัยกลางบ้านเชียง อายุระหว่าง 3,000-2,300 ปี และ สมัยปลายบ้านเชียง อายุระหว่าง 2,300-1,800 ปี
ข่าวการขุดพบโบราณวัตถุที่บ้านเชียงกระจายเป็นวงกว้าง ทำให้เกิดปัญหาในการลักลอบขุด คาดการณ์ว่ามีโบราณวัตถุมากถึง 2 ตัน รัฐบาลไทยได้มีการปรับปรุงหลุมขุดค้นที่วัดโพธิ์ศรีใน ทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานกลางแจ้งแห่งแรกในประเทศไทย
กระทั่งเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2515 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการขุดค้นที่บ้านเชียง การเสด็จประพาสดังกล่าวได้กระตุ้นและความตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ซึ่งกำลังประสบปัญหาการลักลอบค้าโบราณวัตถุในขณะนั้น
ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จึงเกิดพิพิธภัณฑ์บ้านเชียง เพื่อการดำเนินตามพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงได้จดทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ. 2535 ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ รัฐนิวเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา
เหล่านี้ คือ สิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานทางศิลปวัฒนธรรม หรืออารยธรรมขุมทรัพย์ท่องเที่ยวไทย ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ณ ดินแดนหมากแข้ง อุดรธานี!!