เปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิมๆ ให้ทันสมัยและล้ำกว่าใคร…บนเวทีนำเสนอแนวคิดฮาลาลในโลกยุคดิจิตัล กับงานฮาลาลที่ดีที่สุดในไทย “งานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและนวัตกรรมฮาลาล ปีที่ 10” หรือ “Thailand Halal Assembly 2023” ภายใต้ธีมงาน “ฮาลาลจากแนวคิดสู่ดิจิทัลสู่ความวางใจ” (Digitalizing Halal Initiatives for Fostering Halal Trust) คาดหวังให้ทุกคนเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น พร้อมผลักดันฮาลาลไทยยืนหนึ่งในตลาดโลก ระหว่างวันที่ 2 – 3 ธันวาคม 2566 ณ โรงแรมนูโว ซิตี โดยมี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานเปิดงาน
รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานจัดงาน Thailand Halal Assembly 2023 กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) ได้เป็นเจ้าภาพหลักจัดงานประชุมวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลที่ดีที่สุดในประเทศไทยตลอด 10 ปี จนเป็นงานอีเว้นใหญ่ปลายปีที่ไม่ควรพลาด ซึ่งในปีนี้ “Thailand Halal Assembly 2023” ภายใต้ธีม “ฮาลาลจากแนวคิดสู่ดิจิทัลสู่ความวางใจ” (Digitalizing Halal Initiatives for Fostering Halal Trust) เป็นการแสดงจุดเด่นของประเทศไทยในฐานะผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล และผู้พัฒนาระบบฮาลาลดิจิทัลอันเป็นไปตาม 3 มติคณะรัฐมนตรี ได้แก่ มติวันที่ 2 มิถุนายน 2558, วันที่ 10 กันยายน 2562 และวันที่ 8 สิงหาคม 2566 คาดหวังให้เกิดการเปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิมๆ ให้ทันสมัย และทำให้ทุกคนเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น
ภายในงานประกอบด้วย 3 การประชุมวิชาการ ได้แก่ 1) งานประชุมวิชาการนานาชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล The International Halal Science and Technology Conference 2023 (IHSATEC 2023) เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการและวิจัยเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ใน วารสารวิชาการระดับนานาชาติ ซึ่งในงานปีนี้ วารสาร JHASIB ฉบับปฐมฤกษ์ ค.ศ.2023 จะเปิดตัวผ่านทางออนไลน์รวมทั้งตีพิมพ์บางส่วน นับจากนี้ ศวฮ.จะนำเสนอวารสาร JHASIB ปีละ 2 ฉบับโดยรวบรวมบทความวิจัยและวิชาการที่นักวิจัยและนักวิชาการชาติต่างๆ นำเสนอในงาน THA แต่ละปี 2) The 16th Halal Science and Business International Conference (HASIB) พบกับ SPEAKER มากความสามารถจากนานาชาติ มากกว่า 10 ประเทศ กับหัวข้อน่าสนใจหลากหลายแขนง 3) การประชุมนานาชาติว่าด้วยมาตรฐานและการตรวจรับรองฮาลาล : The 9th International Halal Standards Convention
และการจัดนิทรรศการ showcase นวัตกรรมดิจิทัล 3 ชิ้น ได้แก่ (1) Thailand Diamond Halal Through HAL-Q Plus Halal Standardization System อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 2 มิถุนายน 2558, (2) Diamond Halal Blockchain อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 กันยายน 2562, (3) Halal Route อันเป็นผลจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 8 สิงหาคม 2566 ซึ่งจากการจัดนิทรรศการทั้ง 3 ชิ้นนี้ จะเห็นได้ชัดเจนว่า ศวฮ.ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเชื่อมั่นด้านฮาลาล (Halal Trust) เป็นปณิธานที่ไม่เคยสิ้นสุด นับเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 13 สิงหาคม 2546 อันเป็นวันที่ ศวฮ.ถือกำเนิดขึ้นมาโดยตลอดอย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลง และการจัดงานครั้งนี้เราเชื่อว่าจะเป็นการเปลี่ยนแนวคิดวิถีฮาลาลแบบเดิมๆ ให้ทันสมัยและล้ำกว่าใคร เพราะ Thailand Halal Assembly เป็นเสมือนเวทีนำเสนอแนวคิดฮาลาลในโลกยุคดิจิทัลที่จะทำให้ทุกคนเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้น
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ฮาลาลไม่ได้นับเฉพาะผู้บริโภคมุสลิมซึ่งมีอยู่ประมาณสองพันล้านคนหรือหนึ่งในสี่ของประชากรโลกเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์และบริการสำหรับประชากรโลกที่ไม่ใช่มุสลิมอีก 4,900 ล้านคน รวมเป็น 6,900 ล้านคนหรือ 88% ของประชากรโลก โดยผลิตภัณฑ์ฮาลาลด้านอาหารและการเกษตร มีมูลค่า 1.3 ล้านล้านเหรียญต่อปี รวมไปถึงผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่ไม่ใช่อาหาร (Non-food products) เป็นต้นว่า ผลิตภัณฑ์ครัวเรือน แฟชั่น คอสเมติกส์ ผลิตภัณฑ์ยาและการแพทย์ บรรจุภัณฑ์ ฯลฯ มีมูลค่าสูงถึง 76.4% ของมูลค่าเศรษฐกิจฮาลาลทั้งหมดหรือมีมูลค่า 4.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งการทำให้ทุกคนทั้งผู้บริโภคมุสลิมและไม่ใช้มุสลิมสามารถเข้าถึงฮาลาลได้มากขึ้นก็จะส่งผลให้อุตสาหกรรมฮาลาลไทยสามารถแข่งขันและยืนหนึ่งในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่มีคุณภาพในตลาดโลกได้ รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย
สำหรับผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาลและนวัตกรรมฮาลาล รวมถึงติดตามข่าวสารต่างๆ ของงานเพิ่มเติมได้ที่ www.Thailandhalalassembly.com , Facebook : Thailand Halal Assembly หรือโทร. 02-218-0618