สทนช.ติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ จ.กำแพงเพชร

News Update social

สทนช.ลุยภาคเหนือ ติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำและผลการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ อ.คลองลาน และ อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร เร่งประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที กำชับท้องถิ่นเตรียมความพร้อมแผนงานเสนอผ่าน Thai Water Plan หวังแก้ไขปัญหาด้านน้ำในพื้นที่อย่างเป็นระบบ

นายอนันต์  เพ็ชร์หนู ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 1 (สทนช.ภาค 1) เป็นประธานการประชุมติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 จังหวัดกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 ร่วมกับ นายทรงเกียรติ ขำทอง ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการลุ่มน้ำ 3 กองบริหารจัดการลุ่มน้ำ สทนช. พร้อมด้วย นายอำเภอปางศิลาทอง ผู้แทนจากหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร อำเภอคลองลาน สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 1 กรมทรัพยากรน้ำ โครงการชลประทานกำแพงเพชร สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 7 ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 8 กำแพงเพชร สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดกำแพงเพชร สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดกำแพงเพชร การประปาส่วนภูมิภาคสาขากำแพงเพชร สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดกำแพงเพชร องค์การบริหารส่วนจังหวัดกำแพงเพชร องค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน องค์การบริหารส่วนตำบลป่าสัก องค์การบริหารส่วนตำบลคลองน้ำไหล องค์การบริหารส่วนตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน และองค์การบริหารส่วนตำบลหินดาด อำเภอปางศิลาทอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร เพื่อรับฟังสภาพปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ การเตรียมความพร้อม แนวทางแก้ไขและให้ความช่วยเหลือ

หลังจากนั้น ลงพื้นที่ติดตามการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ จำนวน 6 จุด ดังนี้ พื้นที่ตำบลโป่งน้ำร้อน อำเภอคลองลาน จำนวน 2 จุด ได้แก่ พื้นที่แหล่งต้นน้ำผลิตระบบประปาหมู่บ้าน บ้านสมุย หมู่ 7 และโครงการระบบกระจายน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ บ้านสมุย หมู่ 7 พื้นที่ตำบลสักงาม อำเภอคลองลาน จำนวน 1 จุด ได้แก่ ระบบประปาวัดท่ามะเขือ บ้านท่ามะเขือ หมู่ 3 พื้นที่ตำบลคลองน้ำไหล อำเภอคลองลาน จำนวน 1 จุด ได้แก่ พื้นที่ระบบประปาหมู่บ้าน บ้านคลองด้วน หมู่ 28 พื้นที่ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จำนวน 1 จุด ได้แก่ พื้นที่ขุดลอกขยายสระน้ำเพื่อผลิตระบบประปาหมู่บ้าน บ้านคลองปลาร้า หมู่ 13 และพื้นที่ตำบลหินดาต อำเภอปางศิลาทอง อีกจำนวน 1 จุด ได้แก่พื้นที่ระบบประปาหมู่บ้าน บ้านเขาน้ำอุ่น หมู่ 4

ผู้อำนวยการ สทนช.ภาค 1 กล่าวว่า สำหรับการลงพื้นที่ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อสั่งการของ ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ให้ติดตามพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 และการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร อีกทั้งข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ต่อสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบในเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ พบว่า บางพื้นที่คาดว่าจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในอีก 2 เดือนข้างหน้า เนื่องจากน้ำจะไม่พอใช้ พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตอำเภอคลองลาน และอำเภอปางศิลาทองยังขาดแหล่งกักเก็บน้ำ ปริมาณน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา และระบบประปาหมู่บ้านบางส่วนชำรุดเสียหาย อีกทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดข้อจำกัดในการพัฒนา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของทั้ง 2 ตำบล เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่อุทยาน ในการจัดทำโครงการจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้หารือร่วมกันและสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

โดยในระยะเร่งด่วน ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ได้ทำการแจกจ่ายน้ำให้กับประชาชนเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อน ส่วนในระยะยาว สทนช. ได้เสนอแนะให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเตรียมความพร้อมแผนงาน/โครงการเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ผ่านระบบ Thai Water Plan เพื่อแก้ไขปัญหาและรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและอุกทกภัยทั้งระยะกลางและระยะยาวอย่างเป็นระบบ และมอบหมายให้หน่วยงาน เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เร่งหาแนวทางจัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วย

อีกทั้ง สทนช. ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ซึ่งให้ความร่วมมือและให้การช่วยเหลือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรเครื่องมือในการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำและการสูบน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อแจกจ่ายให้กับประชาชนในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการเตรียมสำรวจพื้นที่เหมาะสมในการขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มแหล่งกระจายน้ำในกับประชาชนในพื้นที่ต่อไป