สทนช. ติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.นครพนม พบพื้นที่ท่วมขังริมตลิ่ง 2,500 ไร่ ยังไม่กระทบบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร ยังต้องเฝ้าระวังฝนระลอกใหม่ เร่งบูรณาการหน่วยงานและประเทศสมาชิก MRC เฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
วันนี้ (13 ส.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดนครพนมว่า ตามที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและ สปป.ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักใน สปป.ลาว และในประเทศไทยเองก็มีฝนตกสะสมตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 67 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับบริเวณที่ประสบอุทกภัยเป็นบริเวณที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซากตามธรรมชาติของระบบนิเวศของในพื้นที่เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ/ป่าบุ่งป่าทาม เป็นจุดบรรจบของลำน้ำอูนและแม่น้ำสงคราม ทำให้เกิดสภาวะน้ำแม่น้ำสงครามหนุนและเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณ บ้านปากอูน หมู่ 4 และหมู่ 6 ต.ศรีสงคราม และบ้านท่าบ่อ หมู่ที่ 9 ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ริมตลิ่งประมาณ 2,500 ไร่ และจากการสำรวจไม่พบพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ เนื่องจากขณะนี้ ระดับในแม่น้ำโขงยังสูงอยู่ ทำให้น้ำในลำน้ำอูนและแม่น้ำสงครามไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ ระดับน้ำ ณ วันที่ 13 ส.ค.67 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ 9.07 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 2.93 ม.
จากการติดตามตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สถานีนครพนมฝั่งประเทศไทย ปริมาณน้ำไหลผ่าน 19,447 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ และระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัวจนถึงวันที่ 16 ส.ค.67 และ ในวันที่ 17 ส.ค.67 ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 – 20 เซนติเมตร ประกอบกับ ในวันที่ 16 -19 ส.ค.67 ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำสาขารวมถึงแม่น้ำโขง ซึ่งอาจเกิดภาวะน้ำท่วมขังและไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขง ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ได้อีก รวมทั้งจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขง ตั้งแต่จ.เชียงรายจนถึง จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องเฝ้าระวัง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำด้วย ซึ่ง สทนช. จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ได้มีการเตรียมการตั้งรับสถานการณ์ด้วย
“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการในฐานะสำนักเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 สทนช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ประสานงานกับประเทศสมาชิก MRC ช่วยเหลือในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง และติดตามสถานการณ์ ตลอดจนการแจ้งเตือน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย