… มาแล้ว มาแล้ว รับปากกันแล้วว่าถ้าไปที่ไหน… จะมาบอกเล่าเรื่องราวเช็คอินแหล่งเที่ยวกัน คราวนี้ ช.ส.ท. – ชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยวพาไปเยือนเมืองสามหมอก จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นความร่วมมือกับทาง ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอนและชมรม ฯ ที่พาเรานำร่อง นำหนาวเหนือมาฝากกัน นอกจากนี้ยังนำสิ่งของเครื่องกันหนาว ผ้าห่ม รองเท้าให้น้องๆ และคุณครูที่โรงเรียน บ้านท่าตาฝั่ง โรงเรียนชายขอบที่อยู่ไกลโพ้นนนนน ในโอกาสที่ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 40 ของชมรมฯ ด้วย
Day 1
พร้อมแล้วไปกันเลยจร้า …
สำหรับกองบก.B Trip News และ www.thailandstory.info แล้ว มีโอกาสขึ้นมาเยือนแม่ฮ่องสอนก็หลายครั้งหลายครา ทั้งที่มากับคณะ มากับทีม และขับรถเที่ยวละเรื่อยกันขึ้นมาเอง ที่สำคัญคือมากันเป็นอาทิตย์ แต่ครั้งนี้เราเดินทางกันด้วยรถไฟตู้นอน รถด่วนพิเศษอุตราวิถี กรุงเทพอภิวัฒน์ – เชียงใหม่ เดินทางในหกโมงเย็นไปแอ่วเหนือถึงเชียงใหม่กันก็เช้าพอดิบพอดี
พี่แอ๋ว – คุณวรางคณา สุเมธวัน ประธานชมรมฯ บอกว่า “นอกจากจะพาสื่อมวลชนขึ้นไปแล้ว ครั้งนี้ชมรมฯ ยังพาคณะนักท่องเที่ยววัยเก๋าขึ้นไปเที่ยวด้วย รวมๆ กับสื่อมวลชนก็ 80 กว่าคน กับกิจกรรม“สุขทันที …..ที่เที่ยวแม่ฮ่องสอน” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ 21 – 24 พย. โดยได้รับการสนับสนุนจากททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน ตามโครงการ Doister Style จัดกิจกรรม/เส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อเชิญชวนกลุ่มสมาชิกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ไปทั้งเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน โดยไฮไลท์อยู่ที่แม่ฮ่องสอน ช่วงนี้เป็นเทศกาลทุ่งดอกบัวตองบาน นอกจากไปชื่นชมความงามที่นั่นยังมีนำรองเท้าและผ้าห่มผืนใหญ่ พร้อมสตางค์ค่าขนมไปมอบให้น้อง ๆ เป็นโรงเรียนที่อยู่ชายขอบเป็นชนเผ่า ที่นั่นอากาศหนาวเย็นทั้งปี ครั้งนี้เราก็จะได้ร่วมกันทำบุญด้วย”
โดยคร่าวๆ ของทริป หลังจากขบวนรถไฟด่วนพิเศษฯ ไปถึงเชียงใหม่ จะแนะนำสถานที่เที่ยวกันก่อนที่เชียงใหม่ ค่อยๆ ไปตามเส้นทางแม่สะเรียงแล้ว ขึ้นไปยังแม่ฮ่องสอน ไปเยือนปาย ไปสัมผัสลมหนาวที่หยุนไหล บนหมู่บ้านสันติชล หมู่บ้านจีนยูนนาน
รถไฟตู้นอนที่เราเดินทาง วันนี้มีแต่ต่างชาติที่ต้องมนต์เชียงใหม่เช่นเดียวกับเรา ส่งเสียงคุยฟุ้งกันไม่ได้ศัพท์ (เพราะฟังไม่ออก ) เท่าที่ฟังสำเนียงน่าจะไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษ แต่น่าจะเป็นเยอรมัน หรือรัสเซีย หรืออะไรสักอย่าง 555
ส่วนกลุ่มกะเหรี่ยงสื่ออย่างเรา ก็หันหน้าคุยกันเอง ยาวไป การเดินทางด้วยรถไฟก็พาให้เพลิดเพลินจำเริญใจดีแท้ เพราะนอกจากระหว่างเดินทางจะได้เดินเล่นยืดเส้นยืดสาย ทายทักเพื่อนร่วมโบกี้กันแล้ว ยังเดินเล่นไปนั่งชมวิว ชิมอาหารในโบกี้ขบวน ซึ่งเขาเปิดถึง 22.00 น. ในทุกวัน และ non alcohol แม้แต่เบียร์ก็ขายแบบเบียร์ไม่มีอัลกอฮอลล์ ยี่ห้อดาวแดง เอาไว้พอเป็นกระสัย
เวลานอนใครที่ปีนขึ้นไปอยู่ชั้นบน ก็ให้ความรู้สึกราวกับอยู่บนเปลยวน แกว่งไกวไปมา เยิ๊บเยิ๊บ สลับกับหยุดนิ่งแล้วก็เยิ๊บ เยิ๊บ น่าจะทำให้หลายคนนอนหลับฝันพริ้มได้เต็มอิ่ม เพราะแอบได้ยินเสียงกรนมาจากเตียงใกล้เคียงด้วย แต่ฟังไม่ได้ศัพท์อีกเช่นเคย น่าจะกรนเป็นภาษาอื่น
หวัดดี… “เจียงใหม่” เจ๊า
ปรู๊น ปรู๊น… แล้วเราก็มาถึงที่เชียงใหม่กันในช่วงเช้า กองทัพเดินด้วยท้อง เราพบกับเจ้าหน้าที่ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน น้องแป้งและน้องสอง มาคอยต้อนเราไปยังร้านโจ๊กชื่อดัง “โจ๊กต้นพยอม” ( ใช้คำว่าต้อนไม่ผิดคะ เพราะแต่ละนายแต่ละนาง ต่างสาละวนกับการเก็บภาพกันจนไม่ค่อยจะฟังเสียงเรียกสักเท่าไหร่ ขยันคะ… งาน Tik Tok ต้องมา อิอิ )
วัดพระธาตุดอยคำ
หลังจากทานอาหารเช้ากันอิ่มหนำ จุดแรกเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้มาเยือน คือ วัดพระธาตุดอยคำ เดิมมีชื่อว่า วัดสุวรรณบรรพต สร้างขึ้นใน พ.ศ.1230 เป็นวัดเก่าแก่อายุกว่า 1,300 ปี ตั้งอยู่บริเวณดอยคำ หลังอุทยานหลวงราชพฤกษ์ ตำบล แม่เหี๊ยะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
ในวัดมีพระพุทธรูปที่สำคัญ คือ พระเจ้าทันใจ หรือเรียกว่า หลวงพ่อทันใจ มีความเชื่อว่าหากได้ขอพรกับพระเจ้าทันใจแล้ว จะสำเร็จตามต้องการทุกอย่าง เมื่อสำเร็จตามต้องการแล้ว ทุกคนจะมาถวายดอกมะลิ
นั่นทำให้ก่อนขึ้นถึงวัด จะมีร้านค้าจำหน่ายพวงมะลิร้อยเรียงราย ตั้งรอกันท่าไว้ตั้งแต่ต้นทาง นอกจากจะเป็นมะลิร้อยพวงยาวราคาพวงละ 10 บาทแล้ว ยังมีการจัดทำเป็นพานพุ่ม งดงาม สนนราคาก็มีหลายหลัก
“ถ้าบน จะบน 50 พวงขึ้นไป ส่วนเมื่อแก้บนก็แล้วแต่ว่าบนกันเอาไว้จำนวนเท่าไหร่ บางคนบนกันเอาไว้เป็นหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น แม้แต่หลักแสนก็มี”
อุทยานแห่งชาติออบหลวง
หลังจากนั้นคณะวัยเก๋าที่เดินทางมาด้วยเครื่องบินก็มาสมทบกับสหายจากโบกี้รถไฟที่ร้านอาหาร ครัวเมืองทอง ก่อนถึง อุทยานแห่งชาติออบหลวง
ข้อมูลจากพี่วิ ( Wikipedia) บอกว่า อุทยานแห่งชาติออบหลวง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอจอมทอง อำเภอฮอด และอำเภอแม่แจ่ม ห่างจากตัวจังหวัดเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ราว 100 กิโลเมตร พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและสูงชัน
ออบหลวง ตรงกับคำว่า Gorge ซึ่งเป็นศัพท์เฉพาะทางธรณีวิทยา มีความหมายว่า หุบเขาขนาดเล็กที่แคบและลึก ประกอบขึ้นด้วยผาหินสูงชัน เกิดอยู่ในพื้นที่ภูเขา มีขนาดเล็กกว่าหุบผาชัน (Canyon)
ส่วนชื่อ เป็นภาษาพื้นเมือง ประกอบด้วย 2 คำรวมกัน คำว่าออบ หรือ อ๊อบ แปลว่า ข่องแคบ ส่วนคำว่า หลวง แปลว่า ขนาดใหญ่ รวมๆ ก็แปลว่าช่องขนาดใหญ่
เป็นช่องแคบเขาขาดมีหน้าผาหินขนาบลำน้ำแม่แจ่ม หน้าผาสูง เบื้องล่างมีสายน้ำแม่แจ่มหรือแม่น้ำสลักหินได้กัดเซาะสลักเสลาจนเกิดรูปร่างลวดลายที่สวยงามแปลกตา หน้าผาทั้งสองฝั่งลักษณะคล้ายหน้าคนหันหน้าเข้าหากัน มีฟิลโรแมนติคดูแล้วราวกับคนสองคนกำลังจูจุ๊บกันอีกด้วย ( โปรดจินตนาการตามคะ )
โดยสะพานข้ามช่องแคบมีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 32 เมตร และส่วนที่แคบที่สุด ประมาณ 2 เมตร
“ น้ำเชี่ยวมากจริง ๆ“ พี่อู๋ – พูลผล แพรทอง บอกก่อนจะเดินขึ้นไปยังสะพานเชื่อมสองผาชันด้านบน
สวนสนบ่อแก้ว
ไม่ไกลกับออบหลวง แวะกันต่อที่ “สถานีวนวัฒนวิจัยบ่อแก้ว” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำรวจวัตถุดิบ เพื่อทำเยื่อกระดาษ ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 2,072 ไร่ ภายในสถานีจะพบแปลงทดลองปลูกพืชจำพวกสนและยูคาลิปตัสจำนวนมาก แสงสวยลอดทิวสนที่เรียงรายสวยงาม จนช่างภาพอดใจบ่ไหวจริงๆเจ๊า
แม้จะมีโอกาสแวะเพียงแค่เวลาสั้น ๆ สั้นมากกกกก
“ขึ้นรถได้แล้วคะ เดี๋ยวไม่ทัน เร็ว ๆ ” แม่แอ๊ว ประธานชมรมฯ โดดลงรถตู้มาต้อนให้รีบขึ้นรถ เพราะเรามีภารกิจที่สำคัญสำหรับวันนี้และต้องลงเรือล่องลำน้ำสาละวิน หากมืดจะเป็นอันตราย
ล่องลำน้ำสาละวิน
ด้วยถือเป็นภารกิจหลัก ที่ชมรมฯ เตรียมการกันมาเป็นแรมเดือนตั้งแต่การประสานงาน การจัดซื้ออุปกรณ์กันหนาวสำหรับนำมามอบให้กับน้องๆ ที่โรงเรียน บ้านท่าตาฝั่ง เนื่องในวาระก้าวเข้าสู่ปีที่ 40 ของชมรมฯ ที่เกิดจากความตั้งใจมากๆ ของประธานชมรมฯ ซึ่งนำคณะมาทำบุญโดย หมวดต๊อบ – ว่าที่ร้อยตรีภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ที่จัดเส้นทางพิชิต 4088 โค้งในทริปนี้
#บ้านท่าตาฝั่ง เป็นชุมชนชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงปกาเกอะญอ (สะกอ) หมู่บ้านที่อยู่ติดแม่น้ำสาละวิน การจะไปยังโรงเรียนแห่งนี้ สามารถเดินทางด้วยรถยนต์ได้แต่หนทางไกลและลำบากกว่าต้องใช้ออฟโรดทำให้ไม่สะดวกสำหรับจำนวนคณะใหญ่กว่า 80 ชีวิต
การเดินทางจึงต้องใช้ เรือหางยาว ที่มีหนุ่ม ๆ เคี้ยวหมากแดงเป็นนายท้าย ล่องตามลำน้ำสาละวิน จากออบหลวงไปสู่ท่าเรือที่หมู่บ้านแห่งนี้ก็ใช้เวลานับชั่วโมง และต้องนั่งเรือหางยาวอีก 45 นาที กว่าจะค่อย ๆ ตะปัดตุเป๋ลงเรือ ซึ่งเป็นท่าน้ำที่ไม่ได้ทำสวยหรู ยังคงเป็นเนินทรายสลับสายน้ำสาละวินที่กัดเซาะบางส่วนขึ้นมา
ก็ทำเอาคณะวัยเก๋า และวัยไม่เก๋าอย่างเรา เกือบจะลื่นล้มหกคะเมนกันไป เรียกว่า แอดเวนเจอร์กันสุด ๆ แต่ทุกคนต่างมุ่งหน้าแบบบ่ยั่น ด้วยหัวใจดวงเดียวกัน
เวลาผ่านไป… ผ่านไป…
การเดินทางแข่งกับแสงอาทิตย์ใกล้ลับเหลี่ยมเขา เรือหางยาวที่มีไว้สำหรับขนวัวขนควายตามวิถีชุมชน ตอนนี้ได้ปรับมาเป็นพาหนะสำหรับเดินทางในครั้งนี้หลายลำ สายน้ำสาละวินกระเซ็นปะทะหน้ากันเป็นระลอก แลฝั่งตรงข้ามไทยแลนด์เป็นเมียนมา มีธงเป็นสัญลักษณ์เป็นระยะ ๆ พร้อมกับทหารพม่าบางส่วนที่เฝ้าสังเกตการณ์การมาเยือนของกะเหรี่ยงพันธุ์ไทยอย่างเรา
เวลาผ่านไป … จนกระทั่ง เห็นอาคารสองชั้นที่โผล่ขึ้นมาเหนือคุ้งน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติผืนเขียว บอกตรง ๆ ว่า ดีใจเหลือเกินที่ได้มาและยิ่งเห็นแววตาของน้อง ๆ ที่รอคอยพวกเรา หัวใจมันเบ่งบานจนบอกไม่ถูก
“คุณครูพาเด็กๆ มารอตั้งแต่ช่วงบ่าย เขาตื่นเต้นมากที่พี่ ๆ จะมา” หมวดต๊อบ ผอ. และทีมงานคณะททท. บอก เมื่อเห็นคณะมาถึง เพราะทางทีมททท. ได้ขับรถกะบะขนอุปกรณ์กันหนาวมารอท่าอยู่แล้ว
… แต่ตอนนี้เย็นย่ำแล้ว อดเสียใจไม่ได้ที่เรามัวแต่ไปแวะนู่นนี่นั่น ปล่อยให้น้อง ๆ รอจนกระทั่งป่านนี้
“ขอโทษ” และ”ขอบคุณคะ” ที่ทำให้เราได้เจอกัน
สำหรับโรงเรียน “บ้านท่าตาฝั่ง” โรงเรียนชายขอบสาละวิน ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง ยังรอคอยผู้มาเยือน หากใครที่มาเที่ยวแม่ฮ่องสอน หนาวนี้ก่อนออกจากเมือง ติดไม้ติดมือผ้าห่มกันหนาวไปแจกชาวบ้านแจกเด็ก ๆ บ้างก็ดีนะ เที่ยวไป ทำบุญไป สุขใจจริงๆ หรือจะไปเที่ยว “กอเซโล” แหล่งชมวิวทะเลหมอกสุดสวย สามารถประสานกับพี่เอก – กอเซโล ได้ที่เบอร์โทร 0861813766
แต่ขอบอกว่า หากจะนั่งเรือล่องลำน้ำสาละวิน จะไม่อนุญาตให้ล่องเรือตอนกลางคืน เนื่องจากอาจเกิดอันตรายได้ อีกทั้งต้องประสานงานกับทางทหารฝั่งเมียนมา มิเช่นนั้นคุณจะเจอไฟดวงใหญ่จากฝั่งเมียนมาสาดส่องเข้าหน้าให้ตื่นตระหนกตัวแข็งทื่อได้ … เหมือนเรา
และแล้ว… ก็กลับมาได้อย่างตลอดรอดฝั่งในแบบทุลักทุเลียนมาก ทั้งการขับเรือในสภาพมืดมิดมีเพียงดวงดาวนำทาง ทั้งหวาดผวาจากคนริมฝั่งชาติเพื่อนบ้าน งานนี้ต้องขอบคุณท่านที่ประสานงานกันอย่างเต็มกำลัง
สาธุ….
Day 2
วันที่สองของการเดินทาง วันนี้ตื่นมารับกลิ่นอายลมหนาวกันที่แม่สะเรียง คณะแบ่งเป็นพักสองรีสอร์ทซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน ส่วนหนึ่งพักที่ Riverhouse – Teakhouse ( บ้านไม้แดง ) อีกส่วนพัก ABOVE THE SEA Boutique Hotel โรงแรมเล็กๆ แต่ดีไซน์ได้น่ารัก ที่พักสะอาดสะอ้าน ถูกใจใครหลายคน
Riverhouse – Teakhouse ( บ้านไม้แดง )
ABOVE THE SEA Boutique Hotel
.. หลังอาหารเช้า การเดินทางของวันใหม่ก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง
เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋าเพราะคืนนี้เราจะไปพักกันที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน แต่ก่อนจะไปถึงจะมีจุดถ่ายภาพทะเลหมอก ใกล้ ๆ กับร้านกาแฟสวนวิวตะวัน ใกล้กับทางไป พระธาตุห้วยหมากหนุน แต่ต้องเป็นยามเช้าจึงจะยังคงลอยตัวให้เห็นสายหน่อยก็หายไปหมดละ
บ้านละอูบ
ไม่นานนักก็มาถึง บ้านละอูบ ตั้งอยู่อำเภอแม่ลาน้อย ที่นี่มีผลิตภัณฑ์ชุมชนชาวละเวื้อะ มีร้านกาแฟอาราบิกา มีเครื่องเงินคุณภาพดีที่ทำจากฝีมือของชนเผ่า รวมถึงผ้าทอมือแสนสวยด้วย
ถือเป็นเช้าที่สดใสสุด ๆ ของคณะทัวร์สายเปย์ ที่ได้เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการช็อปปิ้ง นอกจากจะได้อุดหนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนแล้ว ยังได้ชมการสาธิตการทำเครื่องเงิน ฝีไม้ลายมือการทำเครื่องเงินด้วยตนเอง ทำให้บ้านละอูบ ถือเป็นหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวไม่น่าพลาด
เฮินไตแม่ลาน้อย
ไปกันต่อ คราวนี้ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน และช.ส.ท. พามาทานอาหารกลางวันกันที่ เฮินไต แม่ลาน้อย ที่ที่มีทั้งที่พัก ร้านอาหาร จุดชมวิว เฮินไต รีสอร์ท สไตล์ล้านนา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ลาน้อย
ที่นี่มีบ้านพักหลายแบบ หลายขนาด หรือจะพักรถบ้านก็ไม่ว่ากัน ทุกหลังออกแบบให้เป็นส่วนตัวมีระเบียงนั่งเล่นนอนชิล ชมวิวสีเขียวของทุ่งนา เชื่อมต่อกันด้วยสะพานไม้ มีลำธารน้อย ๆให้เพลิดเพลินจำเริญใจ
เฮินไต รีสอร์ท ใครได้มาพักบอกเลยว่าไม่ผิดหวัง ส่วนราคาบ้านพักแต่ละหลังลองสอบถามกันไปได้ที่ โทร 086 915 3555
ทุ่งบัวตองดอยแม่อูคอ
จากแม่ลาน้อย มุ่งหน้าสู่ “ดอยแม่อูคอ” เพื่อชมทุ่งดอกบัวตองที่บานสะพรั่งอวดสีสันรอท่าผู้มาเยือนอยู่ตอนนี้ หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมนี้เท่านั้น
ยิ่งล้อหมุนเข้าใกล้ “ทุ่งบัวตอง ดอยแม่อูคอ” สองข้างทาง ดูเหมือนสาวน้อยสีเหลืองสดจะชูช่อเชิญชวนให้ได้ตื่นเต้นกันตลอดทาง เส้นทางคดเคี้ยว… เลี้ยวไป… เลี้ยวมา… ไต่ขึ้นสู่ดอย
ตุเลง… ตุเลง …
“ข้างบนไม่มี ที่จอด เดี๋ยวทุกคนเตรียมตัวเลยนะครับ จะจอดด้านหน้า แล้วลงได้เลย ” เสียงโชเฟอร์คันแรกกล่าวผ่านวิทยุที่มีอยู่ประจำทุกคันรถ ก็อย่างที่บอกคณะของเราหย่ายยยมาก ใช้รถตู้นับสิบคัน รวมแปดสิบกว่าชีวิต เรียกว่าอายุสมาชิกร่วมทางรวม ๆ กันก็ราว ๆ หมื่น ๆ ปี …555
… และเพราะช่วงนี้ เป็นช่วงดอกบัวตองสวยงา ตระการตามาก นักท่องเที่ยวจากทุกสารทิศจึงไต่กันขึ้นมาจำนวนมาก ยังดีที่การจราจรไม่ติดขัด แต่ถ้ามาช่วงปีใหม่ก็แน่
ปัจจุบัน บริเวณดอยแม่อูคอ จัดมุมเอาไว้ให้ถ่ายภาพหลัก ๆ ก็สี่ถึงห้าจุดเพื่อกระจายการแออัด ศูนย์กลางจะอยู่ที่บริเวณจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของที่ระลึก รวมถึงถั่วลายเสือ ถั่ว…และอีกหลายแบบ
ดอกบัวตองเหลืองอร่าม อวดโฉมเต็มพื้นที่ละลานตา
ไปมุมไหนดีน๊อ ? นู่นก็สวย.. นั่นก็สวย… เดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ลัดขึ้นดอย ลงดอย ขาแทบลาก ….
ว่าที่จริง… ทุ่งดอกบัวตองที่นี่สามารถมองเห็นวิวได้แบบ 360 องศา จะหันไปทางไหนก็เห็น ใครที่ยังไม่ได้มาชม หนาวนี้อยากเชิญชวนให้มาเที่ยวชมกัน พลาดตอนนี้อีกปีหนึ่งจึงจะเห็น ต่อให้ขาลากก็คุ้มค่า
ที่ดูจะเป็นนกรู้มากที่สุดเห็นจะเป็น พี่ยุทธ , ติ๊ก , พี่แคท พี่ณา พี่แก่ พี่แดง พี่หนุ่ย ชมรม ฯ เพราะเห็นสาละวนอยู่กับการเก็บภาพแบบประหยัดพลังงาน ไม่ต้องเดินไกล … หยอกๆ
สำหรับใครใดที่ต้องการเก็บบรรยากาศแบบใกล้ชิดสนิทธรรมชาติ สามารถสอบถามการกางเต๊นท์ได้ที่บริเวณหน่วยทำการบนทุ่งบัวตองหรือติดต่อทางอำเภอขุนยวมโทร. 0 5369 1108 หรือติดต่อ อุทยานแห่งชาติน้ำตกแม่สุรินทร์ โทร. 0 5306 1073
ถนนคนเดินกลางเมืองแม่ฮ่องสอน
หลังจากชื่นชมทุ่งดอกบัวตอง ดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ขบวนรถตู้ทั้งคณะถึงแม่ฮ่องสอน ค่ำนี้เราพักกันที่ โรงแรมอิมพีเรียล แม่ฮ่องสอน ก่อนจะแว่บไปเดินเล่นกันที่ถนนคนเดินกัน
ถนนคนเดินแม่ฮ่องสอน ตั้งอยู่ฝั่งริมวัดจองกลางและวัดจองคำ เป็นถนนคนเดินล้อมรอบวิววัด โดยเฉพาะแสงสะท้อนผิวน้ำยามค่ำคืนของวัดจองกลาง จองคำ ดูแล้วสวยงามมีมนต์ยิ่ง รวม ๆแล้วก็แบ่งโซนเป็นโซนขายอาหารบริเวณริมหนองจองคำ และโซนขายสินค้าทั่วไป
สามารถเดินเล่นกันได้ตั้งแต่เย็น ไปจนถึงประมาณสี่ทุ่ม หน้าหนาวจะเปิดทุกวันไม่มีวันหยุด
นอกจากจะมีอาหารเหนือ อาหารไทยใหญ่ อาหารพื้นเมือง ของกินเล่น ของที่ระลึก เสื้อผ้า ปัจจุบันมีร้านให้เช่าชุดไทยใหญ่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้สวมใส่เดินเที่ยวเล่นบนถนนคนเดินย่านนี้อีกด้วย เรียกว่า สร้างสีสรรกันสุด ๆไปเลย
หรือเริ่มเมื่อย เริ่มหิวก็สามารถหาที่นั่งพักขา ทานอาหารที่ร้านริมบึงก็น่าเพลิน นอกจากจะอิ่มอร่อยกับอาหารราคาไม่แพงแล้ว ยังแถมวิวสวย ๆ ด้วย
ชื่นชมเสน่ห์เมืองยามค่ำคืนได้ไม่นาน เราก็ต้องรีบกลับมาที่โรงแรม เนื่องด้วยวันนี้เป็นวันพิเศษ เป็นงานเลี้ยงต้อนรับคณะสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว (ช.ส.ท.) และคณะ ฯนำ โดย คุณอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน , คุณแฉล้ม ทองเกลา ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน , หมวดต๊อบ – ว่าที่ร้อยตรีภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน , คุณวราพร กลางถิ่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผน , คุณปรีชา นิลอุดมศักดิ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ภายในงานมีการแสดงวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าต่างๆ โดยน้องๆ เยาวชนคนรุ่นใหม่ ค่ำคืนนี้จึงจบลงด้วยมิตรภาพ ไมตรีจิตที่หยิบยื่นให้แก่กันและกันสัญญาว่าจะคงอยู่ตลอดไป
Day 3
รู้จักเมืองจากผู้ว่าฯแม่ฮ่องสอน
ในช่วงเช้าของวันถัดมา คณะฯ มีโอกาสต้อนรับ คุณชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มาทักทาย พร้อมกับเปิดเผยถึงสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในเมืองสามหมอกแห่งนี้ว่า “จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เที่ยวได้ทุกประเภท ทั้งเชิงธรรมชาติ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ เชิงสุขภาพ เชิงศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ สามารถมาเที่ยวที่แม่ฮ่องสอนได้เลย
ประชากรเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ใน 9 ชาติพันธุ์หลัก และ 13 กลุ่มย่อย สิ่งนี้คือมนต์เสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวต้องการมาสัมผัสกับวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมที่เรียบง่ายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
ถ้ามาจากอำเภอปาย 2024 โค้ง เส้นทางทางหลวง 105 ถ้ามาจากทางใต้คือผ่านทางแม่สะเรียง จากอำเภอฮอด จ.เชียงใหม่เข้ามา เขาเรียกเส้น 108 อันนี้จะ 1864 โค้ง พอรวมกันแล้วถ้าใครขึ้นเป็นวงกลมรวม 4088 โค้ง โค้งที่เป็นมนต์เสน่ห์เข้ามาถึงจังหวัดแล้วก็จะได้พบการใช้วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของกลุ่มชาติพันธุ์ และ…. ”
หลังจากนั้น คณะได้ขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยกองมู สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ศรัทธาและยึดเหนี่ยวจิตใจ ชมวิวตัวเมืองแม่ฮ่องสอนที่สวยงาม และชมพระอาทิตย์ขึ้น ณ จุดชมวิวด้านหลังวัดพระธาตุดอยกองมู
เราต้องเดินทางกันต่อ ล้อหมุนสู่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ระหว่างทางจัดให้แวะเล็กน้อยที่วัดหัวเวียง โดยคณะฯ ได้ร่วมกันทำบุญถวายปัจจัย ซึ่งท่านเจ้าอาวาสได้มาต้อนรับพร้อมให้พรกัน
วัดหัวเวียง เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าพาราละแข่ง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องประจำเมืองที่งดงามมาก
เอ้าไปกันต่อ… ระหว่างทางที่ถือเป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินสุดฮิตอำเภอปางมะผ้า คือบ้านจ่าโบ่ (ชุมชนชาวลีซูดำ) จิบกาแฟหลักสิบวิวหลักล้าน ที่ขึ้นชื่อไม่ใช่แค่เพียงร้านกาแฟ แต่มีร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาแห่งบ้านจ่าโบ่
ชุมชนบ้านจ่าโบ่
ชุมชนแห่งนี้ เริ่มจากผู้นำชนเผ่าที่อพยพมาจากบ้านห้วยยาว ชื่อ จาโบ่ ไพรเนติธรรม ชาวเขาเผ่าลาหู่หรือมูเซอ ที่อนุรักษ์วัฒนธรรมเอาไว้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกาย ภาษา อาหาร เครื่องดนตรี การแสดงและประเพณีของชนเผ่า เป็นต้น จนกลายเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีเสน่ห์
ชุมชนเป็นหมู่บ้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงมาก ได้รับรางวัลท่องเที่ยวดีเด่น สาขาการจัดการท่องเที่ยวชุมชน ปี 2560 และเป็นกลุ่มการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์จัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบให้นักท่องเที่ยวเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชนด้วยการพักโฮมสเตย์กับครอบครัวชาวลาหู่
ชมการทำกับข้าว ทอผ้า ตีมีด ทำแคนลาหู่ การทำเกษตรพอเพียง ทำไร่หมุนเวียน ไร่สมุนไพร เที่ยวบ้านบ่อไคร้ ขึ้นจุดชมวิวและถ้ำตองก๊อ สอบถามได้ที่ คุณศรชัย ไพรเนติธรรม โทร. 08 0677 5794
วัดน้ำฮู
ครั้งนี้ไม่ได้มีโอกาสชิมรสชาติก๋วยเตี๋ยวห้อยขาของร้าน จ่าโบ่ สัญญาว่าวันหน้าถ้าคนไม่เยอะขนาดนี้ จะมาอุดหนุน
ไปกันต่อ … มุ่งหน้าสู่ วัดน้ำฮู ตามกำหนดการเดินทาง
“วัดน้ำฮู” เป็นที่ประดิษฐานของพระอุ่นเมือง ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสิงห์สาม (ศิลปะล้านนา) ปางมารวิชัยทำด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์ วัดน้ำฮู วัดเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของปายและอยู่คู่เมืองปายมายาวนาน โดยมีพระอุ่นเมือง พระพุทธรูปคู่วัดนี้ คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวเมืองปายและนักท่องเที่ยวทุกคนต้องแวะกราบสักการะ
ตั้งอยู่ที่ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ห่างจากตัวอำเภอไปทางโรงพยาบาลปายประมาณ 3 กิโลเมตร เป็นอีกหนึ่งจุดเช็คอินของอำเภอปาย
ที่อำเภอปาย ค่ำคืนนี้คณะพักกันที่ โรงแรม Peacock de Pai แต่ยังๆ ต้องเดินสำรวจตลาดกันก่อน ถนนคนเดินปาย
ถนนคนเดินปาย
คึกคัก คึกคักจริง ๆ ถนนคนเดินปายยามนี้ นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเดินกันขวักไขว่ ส่วนแม่ค้าแม่ขายแต่ละร้านก็ใช่ย่อยขนสินค้า …ขนอาหารกันมาแข่งกันอย่างสนุกสนาน ถนนคนเดินปายมีการจัดการที่ค่อนข้างเป็นระบบ มีการกันไม่ให้รถเข้ามาวิ่ง จะมีก็แต่มอเตอร์ไซด์บางคันที่พาให้เสียอารมณ์การช็อปปิ้งเท่านั้น
ที่นี่มีอาหารให้เลือกค่อนข้างหลากหลาย อาจเนื่องเพราะมีต่างชาติมาเที่ยวค่อนข้างมาก ทำให้เราเห็นร้านค้าเสริฟกันทั้งอาหารญี่ปุ่น อาหารอิตาเลียน อาหารจีน อาหารฝรั่งทั่วไป หรือแม้แต่ปลาหมึกบด ลูกชิ้นปิ้งก็ยังมีไม่ได้ขาด
Day 4
หยุนไหล
เช้าตรู่ของวันใหม่ ดวงอาทิตย์ยังไม่ได้เริ่มทำหน้าที่ คณะของเราก็รีบออกมาจากที่พัก ตื่นเต้น…ตื่นเต้น วันนี้จะไปไล่เก็บหมอกบน “หยุนไหล” จุดชมทะเลหมอกยามเช้าที่มีชื่อเสียงของอำเภอปาย นักท่องเที่ยวสามารถมองเห็นทะเลหมอกที่รายล้อมทิวเขาน้อยใหญ่ และทัศนียภาพของตัวเมืองปายจากระเบียงชมวิว มีบริการน้ำชาร้อนสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการจิบน้ำชายามเช้า
การจะขึ้นไปยัง “หยุนไหล” นักท่องเที่ยวต้องนำรถยนต์จอดที่ลานจอดรถหมู่บ้านสันติชล เพื่อขึ้นรถกระบะของชาวบ้านที่มาให้บริการนำขึ้นไป แม้จะไม่ไกล แต่เพราะทางค่อนข้างแคบและชันหากไม่ชำนาญอาจจะเกิดอันตรายได้
ด้านหน้าของ “หยุนไหล” ถูกออกแบบตกแต่งให้เป็นซุ้มประตูตั้งแต่ด้านหน้า เพื่อเดินขึ้นสู่เนินด้านบน สนนราคาค่าเข้าคนละ 20 บาท ซึ่งพื้นที่แบ่งโซน เป็นส่วนร้านค้า ส่วนของจุดชมวิว ส่วนพักผ่อนที่มีชา กาแฟ หมั่วโถว และอื่นๆ เอาไว้รองรับนักท่องเที่ยว ส่วนของลานกางเต๊นท์และรีสอร์ทบ้านดิน
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมคล้องกุญแจคู่รัก กิจกรรมเขียนชื่อตนเองและคนรักลงบนป้ายรูปหัวใจเพื่อเป็นพยานรัก แล้วนำไปแขวนบนต้นสนมงคลทั้ง 6 ต้น ซึ่งเลข 6 ในภาษาจีน แปลว่าโชคลาภ หรือ ความยั่งยืน
หมู่บ้านสันติชล
หลังชมสายหมอกจนอิ่มหนำ ก็ลงมาเดินเล่นกันต่อที่หมู่บ้านสันติชล เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมจีนฮ่อที่มีประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชาวจีนฮ่อเด่นชัด มีการรักษารูปแบบวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบดั้งเดิม
ช่วงหน้าหนาวมีให้บริการนักท่องเที่ยวที่จะลองนั่งชิงช้ายูนนานที่โล้ให้เสียวเพลิน ๆ โดยแรงชนเผ่าที่คอยโยกไกว ซึ่งดูเหมือนว่าจะได้รับความนิยมมาก ๆ
เพราะตั้งแต่เดินเข้ามา เราก็ได้ยินแต่เสียงกรี๊ด… กรี๊ด….กรี๊ดของนักท่องเที่ยวสาวน้อยสาวใหญ่ที่มาใช้บริการ นั่งลอยกันอยู่กลางอากาศ สนนราคาก็แค่ 25 บาทเท่านั้น
เอิ่ม …ได้ยินแว่ว ๆ ใครสักคนหยอกเพื่อนว่า ยี่สิบห้าก็พาเสียวได้ …. 555
แต่เท่าที่ดูหลายคนจะเลือกไม่เสียวนาน เพราะเห็นโดนเหวี่ยงได้สักพักก็ร้องตะโกนลั่น ว่า “พอแล้ว… พอแล้วก็ได้คะ” ในขณะที่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้ทำให้แรงไกวจากหนุ่มยูนนานเบาลง พี่แกคงกลัวนักท่องเที่ยวจะไม่คุ้ม เล่นเอาลงมาเดินขาแปรไปหลายคน… อิอิ
สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย
ต่อกันไปเลยสำหรับเช้านี้ ไปที่ สะพานประวัติศาสตร์ท่าปาย ตั้งอยู่ริมถนนสาย 1095 บริเวณกิโลเมตรที่ 88 สะพานแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทหารประเทศญี่ปุ่น เพื่อใช้ข้ามแม่น้ำปายและลำเลียงเสบียงและอาวุธเข้าไปยังประเทศพม่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง อำเภอปายจึงกลับคืนสู่ความสงบสุขอีกครั้งหนึ่ง
โดยหลงเหลือไว้เพียงแต่สะพานแห่งนี้ว่า “สะพานประวัติศาสตร์” ในอดีตสะพานแห่งนี้ถูกสร้างด้วยไม้ แต่หลังจบสงครามได้เผาสะพานไม้นี้ทิ้ง และถูกสร้างขึ้นใหม่โดยใช้สะพานเหล็กจากสะพานนวรัฐมาแทนซึ่งเป็นของเดิมในจังหวัดเชียงใหม่
แดนเทวดา
เราเริ่มไต่ลงมาจากแม่ฮ่องสอนสู่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้ง เพราะได้เวลาเดินทางกลับกทม.กันแล้ว ในช่วงเย็นโดยรถไฟตู้นอนเช่นเดิม
แต่ก่อนกลับ เวลายังเหลือ ไปเที่ยวกันต่อ คราวนี้ไปดูร้านคาเฟ่ที่สุดอลังการกันบ้าง เหมือนหลุดเข้าไปในป่าหิมพานต์กับ ”แดนเทวดา” ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แตง เป็นคาเฟ่ที่มีความแปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ภายในคาเฟ่หลายโซนที่เป็นการจำลองสถานที่ต่าง ๆ และให้กลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด พร้อมรอให้เราเข้าไปสัมผัสความอลังการ
ใครที่ชื่นชอบธรรมชาติ ถือว่าเหมาะเพราะเขามีมุมต่างๆ เอาไว้ให้ถ่ายกันเพียบ นอกจากนี้ยังมีร้านเอาไว้ให้ซื้อของเป็นที่ระลึกก่อนกลับกันด้วย
ที่นี่เปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 น. – 18.00 น. บัตรค่าเข้าชมเพียงท่านละ 80 บาท
….. เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ทริป “กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ – แม่ฮ่องสอน” 4,088 โค้ง โดยได้รับการสนับสนุนจาก ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ตามโครงการ Doister Style จัดกิจกรรม/เส้นทางการท่องเที่ยว เพื่อเชิญชวนกลุ่มสมาชิกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งใช้เวลาในการเตรียมงานนานนับเดือน ด้วยกำลังใจกำลังกายจากหลายฝ่ายจบลงอย่างดี
คำว่า “สุขทันที …..ที่เที่ยวแม่ฮ่องสอน” เป็นคำจำกัดความที่ไม่เกินจริง ช่วงเวลาที่ผ่านมากับการตะลอนเดินทางกัน…. ดูจะน้อยไป ต้องมาฝังตัวที่นี่สักอาทิตย์หรือสองอาทิตย์หรือหนึ่งเดือน เหมือนที่ “พี่แฉล้ม” ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ แอบกระซิบมา 555 …
… ว่าแล้วก็เตรียมแพ็คกระเป๋าตะลุยหนาวเหนือกันเลยคร๊าบบบ ?
>>>>>>>>>
ขอขอบคุณ
คุณชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
คุณอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน
คุณแฉล้ม ทองเกลา ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ แม่ฮ่องสอน
หมวดต๊อบ – ว่าที่ร้อยตรีภาณุวัฒน์ ขัดนาค ผอ.ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน และทีมงาน
คุณวราพร กลางถิ่น นักวิเคราะห์นโยบายและแผน
คุณปรีชา นิลอุดมศักดิ์ รองประธานหอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน
และพี่ น้อง ชาวชมรมสื่อมวลชนส่งเสริมการท่องเที่ยว( ช.ส.ท.) ทั้งที่เอ่ยนามและไม่ได้เอ่ยนาม
คณะนักท่องเที่ยววัยเก๋าสายเปย์
ภาพบางส่วนจากสื่อมวลชนร่วมทริป