ททท. ร่วมกับสดร. เปิดตัว AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 4 ประกาศแหล่งเที่ยวดูดาว 16 แห่งใหม่ของไทย

News Update Travel

วันที่ 23 กรกฎาคม 2568 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) แถลงข่าวเปิดโครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 4 โดยมี นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. และ ผศ. ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ สดร. ร่วมเป็นประธานในพิธี ผลักดันการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 เผยลิสต์ 16 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ทั่วประเทศ พร้อมมอบโล่เพื่อประกาศแก่พื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย เพื่อปลุกกระแสการเดินทางมิติใหม่สำหรับนักท่องเที่ยวความสนใจพิเศษที่ต้องการเดินทางสัมผัสความงดงามของธรรมชาติยามค่ำคืน ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคาร ททท.

​นายอภิชัย ฉัตรเฉลิมกิจ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ ททท. กล่าวว่า โครงการ “AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 4” หรือ โครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยเป็นการบูรณาการความร่วมมือระหว่าง ททท. และ สดร. ที่จัดขึ้นต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การท่องเที่ยวในรูปแบบ Dark Sky Tourism กิจกรรมยอดนิยมในหมู่ผู้สนใจดาราศาสตร์ตลอดจนกลุ่มนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติ ชื่นชอบการตั้งแคมป์ และกิจกรรมกลางแจ้ง โดย ททท. เล็งเห็นประโยชน์ของการต่อยอดประชาสัมพันธ์เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวคุณภาพดังกล่าว พร้อมยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวไทยสุดประทับใจ (Grand Moment) ให้นักท่องเที่ยวออกเดินทางไปรับความสุขท่ามกลางธรรมชาติสัมผัสความสวยงามของท้องฟ้าประเทศไทย ตื่นตาตื่นใจท้องฟ้าในยามค่ำคืน ณ สถานที่ดูดาวทั่วทุกภูมิภาค อีกทั้งยังสะท้อนศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวไทยที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวหลากหลาย ตอบโจทย์ความสนใจของนักท่องเที่ยวอย่างครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์

ผศ. ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการ สดร. กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติในฐานะหน่วยงานหลักด้านดาราศาสตร์ของประเทศไทย ได้ดำเนินกิจกรรมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ในหลายมิติโดยหนึ่งในโครงการสำคัญอย่าง AMAZING DARK SKY IN THAILAND #Season 4 นับเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกับ ททท. ซึ่งจัดขึ้นต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า และให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ โดยใช้ดาราศาสตร์มากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

ซึ่งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ได้มีการประกาศรายชื่อพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดของประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น 48 พื้นที่ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย และในปี 2568 ได้มีการขึ้นทะเบียนอีก 16 พื้นที่เพิ่มเติม เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูดาวแห่งใหม่ของประเทศไทย นับเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยเปิดมิติใหม่ให้กับการท่องเที่ยวไทย ด้วยเสน่ห์ของท้องฟ้ายามค่ำคืนและความงดงามของดวงดาว พร้อมจุดประกายให้นักท่องเที่ยวหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์มากขึ้น

ทั้งนี้ หวังว่าโครงการดังกล่าวจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติในฐานะแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น นอกจากนี้ในอนาคต สดร. ยังตั้งเป้าผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างเพื่อให้ดาราศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน

 

สำหรับ 16 พื้นที่ที่มีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดและได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยประจำปี 2568 ภายใต้โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวดูดาวแห่งใหม่ และแหล่งการเรียนรู้ดาราศาสตร์เพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ในการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจ มีรายละเอียดดังนี้

อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) จำนวน 5 พื้นที่ ได้แก่ ทุ่งโนนป่าก่อ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน จังหวัดมุกดาหาร, อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร จังหวัดศรีสะเกษ, อุทยานแห่งชาติภูสวนทราย จังหวัดเลย, อุทยานภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก และอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จังหวัดลำพูน

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) จำนวน 9 พื้นที่ ได้แก่ โกลเด้น คลิฟ บีช รีสอร์ท จังหวัดตราด, ดารกะ เชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่, ดารา ควิซีน ภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต, บ้านไร่นายเขียว จังหวัดขอนแก่น, ฟาวน์เท่นทรีรีสอร์ท จังหวัดนครราชสีมา, ภูพร้อมดาว ฟาร์มสเตย์ จังหวัดชัยภูมิ, วนธารา รีสอร์ท จังหวัดพิษณุโลก, สวนป่าแม่ละเมา(ออป) จังหวัดตาก และสวนแม่ฟ้าหลวง โครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย

เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) จำนวน 2 พื้นที่ ได้แก่ คชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ และ สวนวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

ทั้งนี้ หน่วยงาน โรงแรม รีสอร์ท ชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ ทั่วประเทศที่สนใจสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยได้ที่ https://darksky.narit.or.th/ หรือสามารถดาวน์โหลดหนังสือคู่มือการท่องเที่ยวดูดาวในรูปแบบ e-book ได้ที่ https://shorturl.at/CC75X

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *