กสอ. จัดงาน Open House รุดติดอาวุธทางธุรกิจเต็มสูบ!!!
หวังสร้างนักรบทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ เพิ่มจิ๊กซอขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
กรุงเทพฯ 22 มกราคม 2563 – กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จัดกิจกรรม Open House : ปั้น ปรุง เปลี่ยน ธุรกิจใหม่ ให้ดีพร้อม (DIProm) : Fulfill New Entrepreneurs มุ่งสนับสนุน ส่งเสริม สร้าง และพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม พร้อมหาแหล่งเงินทุน หวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็งต่อไปในอนาคต ชี้ภายในระยะเวลากว่า 15 ปี สร้างผู้ประกอบการใหม่กว่า 18,000 ราย คิดเป็นมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 29,000 ล้านบาท
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้กำหนดทิศทางและนโยบายปี พ.ศ. 2563 ในการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน 3 ด้าน คือ เกษตรอุตสาหกรรม ความคิดสร้างสรรค์ และเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ ซึ่งไม่เพียงแต่การเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเท่านั้น แต่การสร้างผู้ประกอบการใหม่ก็มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ กสอ. จึงได้จัดกิจกรรม Open House : ปั้น ปรุง เปลี่ยน ธุรกิจใหม่ ให้ดีพร้อม (DIProm) : Fulfill New Entrepreneurs ขึ้น เพื่อส่งเสริมและสร้างผู้ประกอบการใหม่ให้มีศักยภาพและเติบโตเป็นผู้ประกอบการที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไปในอนาคต
สำหรับกิจกรรม Open House : ปั้น ปรุง เปลี่ยน ธุรกิจใหม่ ให้ดีพร้อม (DIProm) : Fulfill New Entrepreneurs ในครั้งนี้ มีกิจกรรมที่เป็นหัวใจหลัก 4 กิจกรรม คือ
1) กิจกรรมการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม (NEC) โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรม จะได้เรียนรู้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจอย่างครบวงจร การสร้างสรรค์ธุรกิจด้วยนวัตกรรม จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจให้ยั่งยืน นำไปสู่การได้แผนธุรกิจ (Business Model Canvas (BMC) หรือ โมเดลสำหรับการวิเคราะห์ในการวางแผนธุรกิจ) รายบุคคล และมีพันธมิตรทางธุรกิจ ทั้งนี้ จากการดำเนินกิจกรรมมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 มีผู้ได้รับการพัฒนาศักยภาพมาแล้วกว่า 80,000 คน ก่อให้เกิดผู้ประกอบการใหม่กว่า 18,000 คน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 29,000 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้ ตั้งเป้าหมายการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ 1,000 รายและมีกิจกรรมนำร่อง อาทิ NEC วัยเกษียณ และ NEC เกษตรอุตสาหกรรม
2) กิจกรรม “การพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับผู้ประกอบการใหม่” ซึ่งเป็นการสร้างศักยภาพผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยเน้นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-Curve) ได้แก่ สาขาการแปรรูปอาหารและอาหาร แห่งอนาคต สาขาเกษตรแปรรูปและเทคโนโลยีชีวภาพ และสาขาดิจิทัลและเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จำนวน 65 กิจการ ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่เพื่อความยั่งยืน โดยมีการให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ด้วยการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จนได้เป็นต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีมูลค่าสูงขึ้น พร้อมการทดสอบตลาดออฟไลน์และออนไลน์ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ต่อไป
3) กิจกรรม “การพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่” โดย กสอ. จะทำหน้าที่เสริมความรู้ทุกด้านที่จำเป็นสำหรับผู้ที่อยากจะเป็นนักธุรกิจ เพื่อสังคม (Social Enterprise) ตั้งแต่ การอบรมให้ความรู้ในการสร้างแนวคิด ออกแบบธุรกิจ การวางแผนการดำเนินงานการวัดผลกระทบเชิงสังคม รวมถึงการให้คำปรึกษาแนะนำในรายละเอียดขั้นตอนต่าง ๆ ของการขอจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม สนับสนุนผู้ประกอบการให้ใส่ใจต่อปัญหาทางสังคมและสร้างสรรค์ธุรกิจที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ในขณะเดียวกันก็สามารถอยู่รอด และประสบความสำเร็จด้านการเงิน โดยได้สร้างอาชีพและรายได้ให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2562 รวมกว่า 15 ล้านบาท ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการทำธุรกิจได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน
4) กิจกรรม“แหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่” (Delta Angel Fund) โดย กสอ.
ได้ร่วมกับ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เป็นปีที่ 5 แล้ว เพื่อผลักดันให้
ผู้ประกอบการใหม่และสตาร์ทอัพที่มีแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมได้เข้าถึงแหล่งเงินทุน
ในรูปแบบเงินให้เปล่า (Angel Fund) สูงสุดรายละไม่เกิน 5 แสนบาท วงเงินรวม 4 ล้านบาทต่อปี ซึ่งตลอด
4 ปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนไปแล้วกว่า 13 ล้านบาท
“กสอ. จะมุ่งสร้างและพัฒนาทักษะความสามารถด้านการบริหารจัดการในการประกอบธุรกิจ
ให้ประสบความสำเร็จ เพื่อยกระดับศักยภาพและความสามารถของผู้ประกอบการใหม่ รวมถึงการสร้างโอกาส
ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเร่งให้เกิดการจัดตั้งและขยายธุรกิจที่มีศักยภาพ นำไปสู่การสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม โดยทุกกิจกรรม กสอ. จะเป็นพี่เลี้ยงในการให้บริการ
ปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ด้วยการต่อ เติม เสริม ทุน สร้างความแข็งแกร่งให้กับนักรบทางเศรษฐกิจหน้าใหม่ของประเทศต่อไป” นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้าร่วมการ “ปั้น” และ “ปรุง” ภายใต้กิจกรรมการสร้าง
และพัฒนาผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์และนวัตกรรม สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดต่าง ๆ
ได้ที่ กองส่งเสริมผู้ประกอบการและธุรกิจใหม่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ เว็บไซต์โครงการ http://nec.dip.go.th/ และ http://angelfund.dip.go.th