“Google My Business”เกิลตั้งเป้าช่วยเอสเอ็มอี 1 ล้านกิจการ
กูเกิล ตั้งเป้าช่วยเอสเอ็มอีไทย 1 ล้านกิจการเข้าถึงลูกค้า ผ่าน “Google My Business” ฟรี ผู้ประกอบการระบุยอดขายเพิ่ม พบพฤติกรรมลูกค้าชาวต่างชาติค้นหาเส้นทางเดินทางมาร้านง่ายขึ้น
“นายไมค์ จิตติวาณิชย์” หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย กล่าวว่า หนึ่งในเป้าหมายของ Google ประเทศไทย คือ การช่วยเหลือ SMEs ให้มีการเจริญเติบโตในโลกออนไลน์ โดยไม่จำเป็นว่าธุรกิจนั้นจะต้องทำอีคอมเมิร์ซ แต่ทุกธุรกิจก็สามารถใช้ประโยชน์จากโลกดิจิทัลได้ เนื่องจากปัจจุบันพบว่า ยอดใช้จ่ายด้านค้าปลีกในประเทศไทย ยังอยู่ในช่องทางออฟไลน์ 98% ขณะที่หลายๆ ประเทศก็ยังอยู่ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมาก อาทิ สหรัฐอเมริกา ยังคงมีการค้าปลีกผ่านช่องทางออฟไลน์อยู่กว่า 90% เช่นกัน โดยสิ่งที่น่าสนใจและเห็นได้ชัดคือการค้นหาข้อมูลก่อนการตัดสินใจ ธุรกิจในปัจจุบันจึงต้องผสมผสานระหว่างโลกออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกันให้ได้
ข้อมูลจาก Google ประเทศไทย ระบุว่า ผู้บริโภคในปัจจุบันใช้ออนไลน์ในการค้นหาสิ่งต่างๆ รอบตัว ก่อนการตัดสินใจซื้อหรือใช้บริการ โดยคำค้น “ใกล้ฉัน” มีจำนวนการค้นหาที่เติบโตขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2562 Google My Business จึงถือเป็นเครื่องมือที่ตอบโจทย์ในเรื่องนี้ เพราะ Google My Business จะทำให้การค้นหาข้อมูลผ่าน Google Search และ Google Maps ของผู้บริโภค ได้พบกับธุรกิจที่เข้าร่วมกับ Google My Business โดยเจ้าของธุรกิจสามารถใส่ข้อมูลต่างๆ ทั้งด้านเนื้อหาและภาพลงไป สร้างความโดดเด่นกว่าการค้นเจอโดยทั่วไป เมื่อเจอแล้วยังสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้ทันท่วงที ไม่ว่าจะเป็นการตอบคำถาม หรือรับข้อมูลความคิดเห็น นอกจากนั้นยังมองเห็นข้อมูลทางธุรกิจ เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าเพื่อพัฒนาให้ตอบโจทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญคือการอัพเดทข้อมูลต่างๆ ให้ถูกต้องอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ หรือ เวลาเปิด-ปิด ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ผู้บริโภคต้องการรู้เมื่อค้นหาบริการต่างๆ อย่างทันท่วงที
จากการสำรวจพบว่า ธุรกิจที่ใส่รูปภาพลงในข้อมูลของตน จะได้รับคำขอเส้นทางจากลูกค้าเพิ่มขึ้น 40% และลูกค้า 90% มักเลือกธุรกิจที่มีรูปภาพบน Google Search และ Google Maps โดยในแต่ละเดือน Google ช่วยเพิ่มยอดเข้าชมเว็บไซต์และธุรกิจมากถึง 1 แสนล้านครั้ง และช่วยให้ลูกค้าติดต่อธุรกิจได้โดยตรงมากกว่า 3 พันล้านครั้ง โดย 66% ให้ความสำคัญกับการอ่านรีวิวก่อนไป
นายไมค์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญคือ การให้ข้อมูลที่ถูกต้องกับผู้บริโภค ดังนั้นธุรกิจต่างๆ ที่สมัครใช้บริการ Google My Business จำเป็นต้องได้รับการยืนยันตัวตนพร้อมข้อมูลต่างๆ ที่ถูกต้อง ปัจจุบัน Google ประเทศไทย มีความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์และกระทรวงพาณิชย์เพื่อช่วยธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อลงทะเบียนและยืนบันบัญชีใน Google My Business
ปัจจุบัน Google My Business ได้รับการตอบรับที่ดีจากธุรกิจต่างๆ ที่อาศัยการค้นหาผ่าน Google เป็นเครื่องนำทางและการตัดสินใจ โดยกลุ่มธุรกิจหลักที่เหมาะกับบริการนี้คือ กลุ่ม F&B อาทิ ร้านอาหาร ร้านกาแฟ กลุ่ม Service อาทิ ร้านนวด สปา ร้านตัดผม และ กลุ่ม Retail อาทิ ร้านค้า ร้านสะดวกซื้อ ร้านดอกไม้ รวมทั้งสถานีบริการน้ำมัน หรือ ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเป็นคำค้นที่ได้รับความนิยมในการค้นหาเส้นทาง
“สำหรับธุรกิจที่ใช้ Google My Business หลัก ๆ จะมี 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบริการ และธุรกิจที่มีหน้าร้าน รวมทั้งยังมีการค้นหาปั๊มน้ำมัน และเอทีเอ็มเพิ่มมากขึ้นในปีที่ผ่านมา” นายไมค์ กล่าว
โดยผู้ประกอบการที่ใช้ Google My Business นายกมเลศน์ กอสกุล ผู้บริหารร้านแดงอาหารทะเล จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ร้านแดงอาหารทะเลใช้ Google My Business เมื่อประมาณ 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งการพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ ทำให้ลูกค้าเข้ามาค้นหาและสามารถเดินทางไปที่ร้านได้อย่างแม่นยำ เพราะที่ผ่านมาคนมักจะหลงไปร้านอื่นที่มีการใช้ชื่อคล้ายกัน ระบบ Google My Business ช่วยสร้างความโดดเด่นให้ธุรกิจ มีคนเข้ามาชมรูปของร้านแดงมากกว่า 345% และข้อมูลการรีวิวของลูกค้าช่วยยืนยันว่าร้านแดงอาหารทะเลเป็นร้านต้นตำรับ โดยปีที่ผ่านมามีลูกค้าเข้ามาที่ร้านเพิ่มขึ้น 80%
ด้าน นายสุรกานต์ อังสุโชติ เจ้าของธุรกิจร้านกาแฟ “Hidden Tree Garden” เปิดเผยว่า หลังจากใช้ Google My Business ทำให้ร้านกาแฟได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น โดย 43% ของการขอเส้นทางในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา มาจากลูกค้านอกพื้นที่แม่กลองรวมถึงกรุงเทพฯ แสดงให้เห็นว่าแอพพลิเคชั่นของกูเกิลช่วยกระตุ้นธุรกิจในท้องถิ่นให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าในพื้นที่อื่น ๆ และทำให้ยอดขายของร้านเพิ่มขึ้นราว 40%
ส่วน นายทสม์ เจริญช่าง เจ้าของธุรกิจ “สวนมะนาวโห่ลุงศิริ” จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า สวนมะนาวโห่ลุงศิริ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่สืบทอดกิจการมาจากรุ่นคุณพ่อ-คุณแม่ ซึ่งหลังรับช่วงกิจการได้ต่อยอดในส่วนของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพราะมะนาวโห่ คนไทยยังไม่นิยมบริโภคมากนัก ต้องสร้างความรู้จักและให้ลูกค้าได้มาสัมผัส จึงใช้ Google My Business เข้ามาช่วย ซึ่งการเดินทางเข้ามาที่สวนเส้นทางซับซ้อน ระบบช่วยให้คนเดินทางมาง่ายขึ้น รวมทั้งมีชาวต่างชาติที่เน้นการท่องเที่ยวด้วยตัวเองสามารถเดินทางมาได้ เพราะกูเกิลมีระบบแปลภาษาได้หลายภาษา
Google My Business เป็นอีกเครื่องมือที่ออกมาให้ใช้บริการได้ฟรี เจ้าของธุรกิจด้านร้านอาหาร การบริการ หรือ ร้านค้า สามารถสมัครเข้าร่วมได้โดยไม่ยาก เป็นอีกทางลัดที่จะทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักและเข้าถึงได้ง่ายขึ้นนอกจากนั้น ก็คือการรักษามาตรฐานของตัวเองไว้ให้ได้ เพราะท้ายสุดแล้ว ของดีจริง จึงจะยืนหยัดในใจลูกค้าและได้รับการบอกต่ออยู่เสมอ