วันนี้ (วันที่ 13 มกราคม 2563) เวลา 10.30 น. ณ ศูนย์แถลงข่าว ชั้น 2 อาคาร 1 กรมศุลกากร นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายให้มีการประชาสัมพันธ์เชิงรุก เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจแก่ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในเชิงนโยบาย โครงการ และประเด็นต่าง ๆ โดยมอบหมายให้คณะโฆษกกรมศุลกากรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ และได้กำหนดให้มีการแถลงข่าวประจำทุกเดือน สำหรับประเด็นที่น่าสนใจ ในการแถลงข่าวประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2563 (Monthly Customs Press 5 /2563) ได้แก่ (1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนมกราคม 2563 (2) กรมศุลกากร ชู 5 มาตรการ เพื่อยกอันดับ Doing Business 2021 (3) กรมศุลกากรจัดงานเสวนา “การชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียมรายได้อื่นๆและ/หรือเงินประกันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” โดยมีรายละเอียดในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
(1) ผลการตรวจพบการกระทำความผิดประจำเดือนมกราคม 2563
ตามที่ นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายสำคัญในการเร่งรัดปราบปรามการลักลอบและหลีกเลี่ยงนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้อง เพื่อความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงสั่งการให้หน่วยงานในสังกัดพร้อมหน่วยปฏิบัติการวางแผนตรวจค้นจับกุมอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สินค้าเกษตร น้ำมัน ยาเสพติด IPRs และสินค้าละเมิดอนุสัญญา CITES โดยสืบสวนหาข่าวและออกลาดตระเวนด้วยรถยนต์ ตรวจค้นรถบรรทุก โกดัง บ้านเรือน แหล่งจำหน่าย สถานที่เก็บรักษาที่เชื่อได้ว่ามีของผิดกฎหมายเก็บซุกซ่อนอยู่ อีกทั้งยังมีแผนการป้องกันและปราบปรามสินค้าดังกล่าวในช่วงเวลาซึ่งมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในการลักลอบ นอกจากนี้ มีการบูรณการกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอื่นทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาทิ ทหาร กอ.รมน. ปปส. บช.ปส. กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สถานทูตต่างๆ Interpol DEA เป็นต้น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการข่าวระหว่างกันสำหรับเดือนมกราคม 2563 กรมศุลกากรตรวจพบการกระทำผิดตามกฎหมายศุลกากรหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับศุลกากรได้ทั้งสิ้น 3,270 คดี คิดเป็นมูลค่ารวมทั้งสิ้น 91 ล้านบาท โดยเป็นคดีลักลอบ คิดเป็นร้อยละ 60 ของมูลค่าทั้งหมด ทั้งนี้ สินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบนำเข้าที่สำคัญได้แก่ โคคาอีน ยาอี(เอ็กซ์ตาซี่) บุหรี่ ส่วนสินค้าที่มีมูลค่าการลักลอบส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เมทแอมเฟตามีนและเคตามีน
ผลงานที่น่าสนใจในช่วงเดือนมกราคม 2563 มีดังนี้
1.ยาเสพติด
1.1 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 กรมศุลกากร ได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ จำนวน 1 หีบห่อ ต้นทางต้นทางประเทศโปรตุเกส ปลายทางชลบุรี สำแดงชนิดของเป็น LED แต่ผลการตรวจพบพบเม็ดยาคละสี แบ่งเป็นสีชมพู จำนวน 840 เม็ด สีครีม จำนวน 935 เม็ด สีฟ้า จำนวน 485 เม็ด ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 Ecstasy (ยาอี) รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,260 เม็ด มูลค่ารวม 904,000 บาทซุกซ่อนอยู่ในป้ายไฟ LED กรมศุลกากรจึงร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบด้วย สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการขยายผลไปยังผู้รับปลายทาง
1.2 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2563 กรมศุลกากร ได้ตรวจพบพัสดุต้องสงสัย ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ ต้นทางประเทศเยอรมนี ปลายทางอพาร์ตเมนต์ให้เช่าแห่งหนึ่งย่านพระโขนง ผลการตรวจสอบ พบเม็ดยาสีส้ม ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 Ecstasy (ยาอี) จำนวน 130 เม็ด ซุกซ่อนอยู่ในลำโพง Bluetooth กรมศุลกากรจึงร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ประกอบด้วย สำนักงาน ป.ป.ส. กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ดำเนินการขยายผลไปยังผู้รับปลายทาง และพบยาเสพติดเพิ่มเติมดังนี้ 1. ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 MDMA จำนวน 50.9 กรัม
2. ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 LSD จำนวน 58 ชิ้น
3. ยาเสพติดให้โทษประเภท 1 Ecstasy (ยาอี) ลักษณะเป็นผงสีเขียว จำนวน 0.7 กรัม
4. ยาเสพติดให้โทษประเภท 2 โคคาอีน จำนวน 2.5 กรัม
5. ยาเสพติดให้โทษประเภท 5 กัญชาแห้ง จำนวน 5,030 กรัม มูลค่ารวม 2,309,370 บาท
2.สินค้าเกษตร
2.1 วันที่ 1-2 มกราคม 2563 กรมศุลกากร ตรวจยึดประเภทเมล็ดข้าวโพดแห้งลักลอบหนีศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักรจำนวน 14,000 กิโลกรัม นำส่งด่านศุลกากรแม่สอด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
2.2 วันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2563 กรมศุลกากรตรวจยึดเมล็ดข้าวโพดแห้ง ลักลอบเข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 75,000 กิโลกรัม รถยนต์บรรทุก 5 คัน พร้อมนำส่งด่านศุลกากรแม่สอด เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
2.3 วันที่ 30 มกราคม 2563 กรมศุลกากรตรวจยึดมะพร้าว น้ำหนัก 6,000 กก. บริเวณริมถนนสายเอเซีย อ.ตากใบ จ.นราธิวาส พบรถกระบะขนมะพร้าวจึงตรวจค้นไม่พบหลักฐานการการชำระภาษีแต่อย่างใด นำของส่งด่านศุลกากรตากใบ เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
3. เนื้อสัตว์แช่แข็ง เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจค้นโกดังประกอบกิจการห้องเย็นแห่งหนึ่ง ในตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตามหมายค้นของศาล พบสินค้าประเภทเนื้อและเครื่องในสัตว์ปีกแช่แข็ง เมืองกำเนิดต่างประเทศ ไม่มีหลักฐานการผ่านพิธีการศุลกากรมาแสดงขณะตรวจค้น จำนวนกว่า 10 ตัน รวมมูลค่าทั้งสิ้นประมาณ 1 ล้านบาท
4. น้ำมัน เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2563 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดรถบรรทุกน้ำมันบริเวณบริเวณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ผลการตรวจค้นพบน้ำมัน ดีเซล ปริมาณ 30,000 ลิตร รวมมูลค่าประมาณ 800,000 บาท โดยไม่พบเอกสารหลักฐานการผ่านพิธีการทางศุลกากรแต่อย่างใด จึงได้นำของกลางดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
(2) กรมศุลกากร ชู 5 มาตรการ เพื่อยกอันดับ Doing Business 2021
กรมศุลกากร ชู 5 มาตรการทางศุลกากร เพื่อยกอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจในประเทศไทยด้านการค้าระหว่างประเทศ (Doing Business 2021 : Trading Across Border) ในช่วงปี พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2563 ได้แก่ กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing: PAP) การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Payment) การไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพแฟ้มบริหารความเสี่ยงเพื่อลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Management) และระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอ็กเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER)
โดยมีมาตรการแรก คือ กระบวนการทางศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงสำหรับของนำเข้า (Pre – Arrival Processing: PAP) ซึ่งทำให้ผู้นำเข้าลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการผ่านพิธีการนำเข้า อีกทั้งสามารถยื่นใบขนสินค้าและชำระค่าภาษีอากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึง และสามารถติดต่อเพื่อรับสินค้าได้ทันทีเมื่อเรือหรืออากาศยานมาถึง (กรณี Green Line)
สำหรับมาตรการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กรมศุลกากรได้เปิดให้บริการระบบ e-Bill Payment โดยผู้ประกอบการสามารถชำระเงินการดำเนินพิธีการทางศุลกากรผ่านช่องทาง Internet Banking, Mobile Banking, ATM, Counter Bank และตัวแทนชำระเงิน โดยมีธนาคารที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 6 ธนาคาร และ 2 ตัวแทนรับชำระ ทำให้ลดเวลา 3 ชั่วโมง/ครั้ง หรือ 3.5 ล้านชั่วโมง/ปี และค่าใช้จ่ายในการติดต่อกับกรมศุลกากร 433.74 บาท/ครั้ง หรือ 513 ล้านบาท/ปี อีกทั้งผู้ประกอบการสามารถสั่งพิมพ์ใบเสร็จรับเงินได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องเสียเวลามารับใบเสร็จรับเงินที่กรมศุลกากร
ส่วนมาตรการไม่เรียกไม่รับสำเนาใบขนสินค้าที่มีในระบบ e-Customs (No Customs Declaration Copy) โดยสำนักงานศุลกากร ด่านศุลกากร การท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบัง ไม่เรียก/ไม่รับสำเนาใบขนสินค้าในขั้นตอนการตรวจปล่อย ทำให้สามารถลดสำเนาใบขนสินค้าที่ผู้มาติดต่อ/ ผู้ประกอบการต้องพิมพ์ ปีละประมาณ 60 ล้านแผ่น และลดค่าใช้จ่ายกระดาษได้ไม่น้อยกว่าปีละประมาณ 30 ล้านบาท
ด้านมาตรการลดอัตราการเปิดตรวจ (Risk Based Management on Profile) โดยพัฒนาแฟ้มบริหารความเสี่ยงในการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และลดอัตราการเปิดตรวจ สำหรับสินค้าที่มัดลวดเพื่อไปตรวจที่คลังสินค้าทัณฑ์บน เขตปลอดอากรหรือเขตประกอบการเสรี เป็นผลให้อัตราการเปิดตรวจโดยเฉพาะสินค้าประเภทชิ้นส่วนรถยนต์ตามพิกัด 87.08 ลดลงจากร้อยละ 37 เหลือร้อยละ 26
และมาตรการสุดท้าย คือ ระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์แบบขับผ่าน (DRIVE – THROUGH X-RAY SCANNER) เป็นเทคโนโลยีในการเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้า ยานพาหนะขนส่งสินค้า รวมทั้งยานพาหนะโดยสาร สามารถเอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 150 ตู้/ชั่วโมง ซึ่งมากกว่า X-Ray แบบ Fixed ที่เอกซเรย์ตู้คอนเทนเนอร์สินค้าได้ 30 ตู้/ชั่วโมง คิดเป็น 5 เท่า ทำให้สามารถลดระยะเวลาการติดต่อของผู้ประกอบการลดลง ลดระยะเวลาการเอกซเรย์สินค้า ระยะเวลาการรอคอยและระยะเวลาความแออัด ที่มีผลต่อค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ
(3) กรมศุลกากรจัดงานเสวนา “การชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม รายได้อื่นๆและ/หรือเงินประกัน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์”
ด้วยรัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ทั้งในด้านการเบิกจ่าย และการรับชำระเงิน อย่างเต็มประสิทธิภาพ และปรับปรุงแก้ไขระบบกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการคลังภาครัฐเพื่อให้รองรับการรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-payment ตามข้อ 78 ของระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการเบิกเงินจากคลัง การรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำเงินส่งคลัง พ.ศ. 2562 โดยประกาศลงในหนังสือ
ราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้ กรมศุลกากรได้มีโครงการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ยังไม่ทราบถึงการเปิดใช้ระบบและยังชำระด้วยเงินสด /เช็คให้เข้าร่วมโครงการ โดยการจัดสัมมนาและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการโดยตรง (Direct Approach to target) เพื่อเชิญชวนให้ชำระเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น
โดยในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 12.30 – 16.30 น. กรมศุลกากรจะจัดงานเสวนา “การชำระค่าภาษีอากร ค่าธรรมเนียม รายได้อื่นๆและ/หรือเงินประกัน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์” ณ ห้องประชุมใหญ่ชั้น 16 อาคาร 120 ปี กรมศุลกากร โดยเชิญผู้ประกอบการ รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อาทิ ผู้ประกอบการธนาคารและตัวแทนรับชำระที่เข้าร่วมโครงการการรับชำระผ่านระบบ Bill Payment สมาคม สมาพันธ์ และหอการค้าต่างๆ สมาชิกพันธมิตรศุลกากร โดยมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาจำนวน 400 คน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจในระบบ Bill Payment ทำให้ผู้ประกอบการสนใจ เห็นความสำคัญและประโยชน์ของการชำระผ่านระบบดังกล่าว พร้อมเน้นย้ำถึงประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับด้านการประหยัดเวลาและการลดต้นทุน ทั้งนี้ นอกจากจะมีเจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากรให้ความรู้ในระบบดังกล่าวแล้ว ทางกรมฯยังได้เชิญตัวแทนจากธนาคารเข้าร่วมให้ความรู้และเปิดรับสมัครใช้บริการในคราวเดียวกันอีกด้วย