“ศวฮ.” นำทีมประชุมสมัชชาใหญ่สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม ขับเคลื่อนความสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ

News Update social

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) โดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผอ.ศวฮ. นำทีมตัวแทนประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผอ.สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย, ดร.มุหัมหมัดอามีน เจ๊ะนุ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และดร.อาณัฐ    เด่นยิ่งโยชน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ศวฮ. เข้าร่วมประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 16 สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (Standards and Metrology Institute for Islamic Countries – SMIIC) ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พร้อมเข้าพบ เจ้าชายมัมดูฮฺ บิน ซาอูด บิน ซูนัยญาน อาล ซาอูด อธิการบดีมหาวิทยาลัย Islamic University of Madinah อีกทั้งยังได้เข้าพบหารือกับ องค์กรอาหารและยาของประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority หรือ SFDA) และสภาหอการค้าเมืองเจดดาห์ (Jeddah Chamber) หารือเรื่องความร่วมมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล  ในฐานะประเทศไทยมีศักยภาพเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล หวังพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้ดีขึ้นเป็นปกติเช่นเดิม

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ศวฮ.) กล่าวว่า ถือเป็นสัญญาณและแนวโน้มที่ดีสำหรับไทยกับซาอุดีอาระเบีย เพราะจากการเดินทางไปซาอุดีอาระเบียในครั้งนี้ ในฐานะคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 16 สถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาของประเทศอิสลาม (Standards and Metrology Institute for Islamic Countries – SMIIC) ภายใต้องค์การ OIC ซึ่งมีสมาชิก 42 ประเทศกับประเทศผู้สังเกตการณ์ 3 ประเทศซึ่งรวมถึงประเทศไทย ณ นครมะดีนะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย  โดยองค์การมาตรฐานของซาอุดีอาระเบีย (Saudi Arabia Standards Organization -SASO) เป็นเจ้าภาพของการประชุมเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้

นอกจากนี้ทางคณะได้เข้าพบ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอิสลามแห่งมะดีนะฮฺ (Islamic University of Madinah หรือ IUM) ในประเด็นเรื่องความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เสนอความก้าวหน้าด้านงานวิจัย การใช้ห้องปฏิบัติการในการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮาลาล การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการทวนสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลฮาลาลวัตถุดิบ (H number) ให้แก่ทีมอธิการบดีและรองอธิการบดีของมหาวิทยาลัย

และนายสรจักร บูรณะสัมฤทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจดดาห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ได้นำคณะผู้แทนประเทศไทย เข้าพบหารือกับ องค์กรอาหารและยาของประเทศซาอุดีอาระเบีย (Saudi Food and Drug Authority หรือ SFDA) และหอการค้าเมืองเจดดาห์ (Jeddah Chamber) โดยประเด็นการหารือทั้ง 2 หน่วยงานจะเน้นในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง 2 ประเทศในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ซึ่งในอนาคตอาจมีการแลกเปลี่ยนบุคลากรในการสร้างความร่วมมือกันระหว่าง 2 ประเทศ และได้เสนอเรื่องการทำหลักสูตรอบรมด้านห้องปฏิบัติการให้แก่หน่วยงาน Halal center ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับของ SFDA สามารถส่งบุคลากรมาอบรมที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ เนื่องจาก ศวฮ.นั้นมีศักยภาพในการเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ฮาลาล จากการได้เข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำมาตรฐานของ SMIIC อีกทั้งยังมีประสบการณ์ด้านงานวิทยาศาสตร์ฮาลาลมามากกว่า 20 ปี

นอกจากนี้ SFDA ยังได้เพิ่มชื่อ CICOT เป็นสมาชิกในฐานะเป็นหน่วยงานรับรองฮาลาล ส่งผลให้เครื่องหมายรับรองฮาลาลของประเทศไทยผ่านหลักเกณฑ์ที่หน่วยงาน SFDA กำหนด ทำให้สามารถส่งออกสินค้าไปยังประเทศซาอุดิอาระเบียได้  ในส่วนของการเข้าพบหอการค้าเมืองเจดดาห์  ทางสมาชิกสภาหอการค้าพิจารณาว่า ประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องทรัพยากรอาหาร อุตสาหกรรมการเกตษตร หากมีการยกระดับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศสู่ระดับปกติ ประเทศไทยจะเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของซาอุดีอาระเบีย นับว่าเป็นแนวโน้มอันดีในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียให้ดีขึ้นเป็นปกติเช่นเดิม รศ.ดร.วินัย กล่าวปิดท้าย