วันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2565 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร นายอนุกูล ปีดแก้ว อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ มอบหมายให้ นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีฯ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โครงการโรงเรียนเพียงหลวงฯ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 74 คน ประกอบด้วย ผู้อำนวยการโรงเรียนและครูผู้ประสานงานโครงการฯ ผู้อำนวยการศูนย์ผู้ปกครอง และเจ้าหน้าที่ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง นิคมสร้างตนเองซึ่งเป็นผู้ประสานงานโครงการฯ ในการนี้ นายสมใจ บุญอาจ ผู้อำนวยการกองหนึ่งใจ…เดียวกันฯ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของโครงการ
เนื่องจากกรมฯ ได้ดำเนินการโครงการโรงเรียนเพียงหลวงฯ ตามแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี (พ.ศ. 2561 – 2565) โครงการโรงเรียนเพียงหลวงฯ จึงเห็นควรทบทวนผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำแผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ.2566 – 2570) โครงการโรงเรียนเพียงหลวงฯ ให้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 70 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) (ร่าง) แผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 อีกทั้งให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) และ (ร่าง) แผนปฏิบัติราชการกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริงในพื้นที่ ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
นายกิตติฯ กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนเพียงหลวงฯ ร่วมกับภาคีเครือข่าย กว่า 13 ปีที่ผ่านมา ได้สร้างความแตกต่างในมิติของการเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนเพียงหลวง ไม่เพียงเฉพาะเด็กนักเรียน ที่ได้รับการพัฒนาทักษะทางวิชาการ ตามหลักสูตรแกนกลางของกระทรวงศึกษาธิการ แต่ยังได้ขยายการเรียนรู้จากเด็ก สู่ครอบครัว และชุมชน ในการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะสังคม และทักษะอาชีพ ที่สามารถนำไปพัฒนา ต่อยอด และขยายผลในการดำเนินชีวิตได้
ทั้งนี้ แผนขับเคลื่อนการดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โครงการโรงเรียนเพียงหลวงฯ เป็นการขับเคลื่อนภายใต้แนวคิด “เพียงหลวงวิถีฐาน สานศาสตร์พระราชา” ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงาน 27 ข้อ ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการพัฒนากิจกรรม/โครงการ ที่จะดำเนินการในพื้นที่โรงเรียนและชุมชนเพียงหลวง โดยใช้กระบวนการ “สร้างเสริม” กล่าวคือ “สร้าง” เป็นการ “สร้างจุดร่วม” ของภาคีเครือข่าย โดยใช้รูปแบบการดำเนินงานคณะกรรมการและคณะทำงานในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงานเชิงบูรณาการ ส่วน “เสริม” เป็นการ “เสริมจุดเด่น” ด้วยการยกระดับโรงเรียนให้เป็นแหล่งเรียนรู้และสืบสานภูมิปัญญาของชุมชน และนำจุดเด่นของแต่ละแห่งมาถอดบทเรียนเป็นวิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ (Best Practice) นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน และนำไปสู่การต่อยอด ขยายผล ในพื้นที่ต่าง ๆ ต่อไป