“ อพท. ปักหมุดเดินหน้าพัฒนาการท่องเที่ยวปี 68 กระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น

Lifestyle News Update social

อพท. ประกาศความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประจำปีงบประมาณ พ.. 2567 สร้างผลงานเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมปักหมุด ปีงบ 2568 เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลกเข้าชิงรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก เพื่อเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น วางเป้าหมาย 20 ชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. มุ่งมั่นดำเนินงานตามปรัชญาการทำงานแบบมีส่วนร่วม Co-creation & Co-own ด้วยเป้าหมายก่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษ มาตลอด 21 ปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 ที่ผ่านมา อพท. ได้ขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 12 หน่วยงาน ได้กว่า 54 โครงการ (คิดเป็นร้อยละ 21.18 จากของโครงการทั้งหมด 255 โครงการ) ซึ่งใช้งบประมาณดำเนินโครงการกว่า 160 ล้านบาท

 

ผลงานความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก 

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวอย่างภาคภูมิใจว่า ในปี 2567 อพท. สามารถผลักดัน 4 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ได้รับการจัดลำดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Green Destinations Top100 Stories 2024 ได้แก่ เวียงภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนประเภท Culture & Tradition จากเรื่องราวประเด็นกลไกการยกระดับงานประเพณีท้องถิ่น “เทศกาลหกเป็ง” สู่เทศกาลที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

Phrathat Chae Haeng Temple, Nan

เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Destination Management ประเด็นการฟื้นฟูแหล่งเสื่อมโทรมเมืองโบราณอู่ทอง ด้วยพลังศรัทธาภาคประชาสังคม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 

เมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Thriving Communities ประเด็นการฟื้นคืนเมืองเก่าสงขลาให้กลับมามีชีวิต

และเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Thriving Communities ประเด็นเมื่อคูปองอาหารเช้ากลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงคาน

 

อพท. ยังมีผลสำเร็จจากการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนตามแนวทางของ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก” (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้รับการรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก คือ พื้นที่เชียงคาน จังหวัดเลย คว้าเหรียญเงิน แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก จาก Green Destinations เป็นแห่งแรกในอาเซียน และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชีย (จาก 3 ประเทศ)  โดยเชียงคานมีความโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management) และตำบลในเวียง จังหวัดน่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต คว้าเหรียญทอง แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก Green Destinations Award 2024 เหรียญทองแรกของอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย อีกด้วย

นอกจากนี้ อพท. ยังมีผลงานชิ้นสำคัญในการตอกย้ำความสำเร็จการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยคว้า 2 รางวัล PATA Gold Awards 2024 จากผลงาน “การต่อยอดแรงบันดาลใจจากมรดกเครื่องสังคโลกโบราณจากรุ่นสู่รุ่น” ของชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สาขารางวัลด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือโดยธรรมชาติ (Heritage Manmade or Natural Cultural Inheritance) และสาขารางวัลด้านวัฒนธรรมการแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ “ชุมชนไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร” ประเภทวัฒนธรรม : การแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ (Culture -Traditional performance and visual arts) ผลงาน “การรื้อฟื้นศิลปะการแสดงและภูมิปัญญาท้องถิ่นของชุมชนไตรตรึงษ์ผ่านการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงวัฒนธรรม”

ผลักดันมาตรฐานให้องค์กรจัดการการท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้ชุมชนท้องถิ่น 

อพท. ได้ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) รวม 10 องค์กร โดย อพท. ส่งเสริมให้ อปท.ในฐานะองค์กรจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination Management Organizations: DMOs) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน STMS ให้มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งมาตรฐาน STMS ได้รับการรับรองจากสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) ว่าเทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกสำหรับสถานที่ท่องเที่ยว (GSTC-D) ซึ่งปีนี้มีองค์กรที่ผ่านมาตรฐานอยู่ในพื้นที่พิเศษเชียงราย ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาและพื้นที่เตรียมการประกาศในจังหวัดนครราชสีมา เช่น เทศบาลตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนตำบลวังอ่าง อำเภอ ชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช องค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา เป็นต้น

ในระดับชุมชน อพท. ได้พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษตามมาตรฐานการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) โดยในปีงบประมาณ 2567 มีชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามเกณฑ์ CBT Thailand) จำนวน 20 ชุมชน และได้รับการผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวม 20 ชุมชน ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษกว่า 112.339 ล้านบาท จาก 45 ชุมชน โดยเมื่อเทียบอัตราการเติบโต (Growth Rate) ของรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับปีงบประมาณ 2566 จำนวน 62.517 ล้านบาท พบว่า มีอัตราการเติบโต (Growth Rate) ของรายได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.69

อพท. ยังมีผลงานโดดเด่นในด้านการบริหารจัดการ โดยในปี 2567 ที่ผ่านมา อพท. ได้รับรางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม 2 รางวัล ประเภท สัมฤทธิผลประชาชนมีส่วนร่วม (Effectiveness of People Participation) ระดับดีเด่น จากผลงาน “การขับเคลื่อนเมืองเชียงคานสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” และ รางวัลการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ระดับดี จากผลงาน “การแก้ไขปัญหาระบบนิเวศ วัดตระพังทอง เพื่อปกป้องโบราณสถานเมืองมรดกโลกสุโขทัย” อีกด้วย

มุ่งเป้าปี 2568 ขับเคลื่อนการพัฒนาตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งองค์กร

ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปีงบประมาณ 2568 อพท. ยังคงมุ่งมั่นและมีเป้าหมายการดำเนินงานตามเจตนารมณ์ในการจัดตั้งองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น โดยเตรียมพร้อมสานต่อโครงการและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง พัทยา สุโขทัย เลย น่าน และเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากนี้ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เชียงราย และคุ้งบางกะเจ้า เสนอ ท.ท.ช. พิจารณาเห็นชอบ รวมไปถึงการขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามเป้าหมาย (Big Rock) เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ อพท. หมู่เกาะช้าง เป็นต้น

ในปี 2568 นี้ อพท. ยังคงเดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรฐานของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก GSTC และผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบสมัครเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destinations TOP 100) ไม่น้อยกว่า 2 แห่ง รวมไปถึงพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STMS จำนวน 9 แห่ง และพื้นที่ที่มีผลการประเมินสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ (GSTC-D System) ผ่านตามเกณฑ์ จำนวน 6 แห่ง รวมไปถึงร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายผลักดันเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและโดดเด่นสู่การเสนอชื่อเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) อาทิ น่าน และสงขลา และยังคงมุ่งเป้าการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย CBT Thailand เพื่อให้ชุมชนได้รับการพัฒนาตามมาตรฐาน CBT Thailand 20 ชุมชน และได้รับการผลักดันเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 20 ชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวโดยชุมชนเชิงสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่นฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ท้ายสุดนี้ อพท. ยังคงยึดมั่นในเจตนารมย์การทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์องค์กรในการเป็น องค์กรแห่งความเป็นเลิศในการบูรณาการการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อส่งมอบแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมาตรฐานให้เติบโตอย่างยั่งยืน” ต่อไป