ต้อนรับปีใหม่ ชวนเที่ยวงาน “มหาธาตุ มหาธรรม นำสุข” ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ 27 ธ.ค. 67 – 2 ม.ค. 68

News Update social Travel

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์และททท. เชิญชวนเที่ยวงาน มหาธาตุ มหาธรรม นำสุขส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ วันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน 7 คืน พร้อมเปิดให้ชม พระแสงราวเทียนสุดยิ่งใหญ่ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง ชวนชิมอาหารอร่อย ตลาดนัดชุมชน ดูหนังกลางแปลง ชมไฟสวยงาม หนึ่งในงานอารามอร่าม 11 วัด

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เชิญชวนเที่ยวงาน “มหาธาตุ มหาธรรม นำสุข” ในวันที่ 27 ธันวาคม 2567 ถึงวันที่ 2 มกราคม 2568 รวม 7 วัน 7 คืน ตั้งแต่เวลา 08.00 -22.00 น. ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์  กรุงเทพฯ พระอารามหลวงแห่งแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ภายในงานมีไฮไลท์คือการเปิดให้ชม “พระแสง(ดาบ)ราวเทียน” ที่สุดยิ่งใหญ่ในเรื่องราวทางประวัติศาสตร์อีกครั้ง หลังจากได้เปิดให้เข้าชมในงานเฉลิมฉลองสมโภชพระอาราม 338 ปี ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปลายปี 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการค้นพบครั้งสำคัญ หลังจากพระแสงราวเทียนได้หายจากวัดไปยาวนานเกือบ 70 ปี และได้กลับคืนมาอีกครั้ง

พระแสงราวเทียนนับเป็นสมบัติล้ำค่าของชาติ โดยในวันที่ 28-29 ธันวาคม เวลา 10.00-12.00 น. และ 14.00-16.00 น. จะมีการนำชมและบรรยายโดยวิทยากรพิเศษ อจ.ปริญญา สัญญะเดช นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญศาสตราวุธ ผู้ทราบเบาะแสและตามหาพระแสงราวเทียนจนพบ

“บัดนี้การจัดทำตู้นิรภัยสำหรับพระแสงราวเทียน ได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงพร้อมที่จะนำมาให้สาธุชนได้ชมอีกครั้ง หลังจากการเปิดให้เข้าชมในปี 2566 มีผู้เข้าชมจำนวนมาก”

พระแสราวเทียนนี้ เป็นพระแสง(ดาบ)ประจำพระองค์ ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล พระอนุชาธิราชในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  หรือวังหน้าพระยาเสือ พระแสงเล่มนี้ได้ผ่านศึกสงครามในการกอบกู้ชาติบ้านเมืองมาอย่างยาวนาน ต่อมาเมื่อคราวที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงพระประชวร ได้ตั้งสัตยาธิษฐานถวายพระแสงเปลี่ยนเป็นราวเทียน อันเป็นการยุติการทำศึกสงครามสังหารศัตรูทั้งปวง ถวายเป็นพุทธบูชาหน้าพระประธานในพระอุโบสถสืบไป

ภายในงาน “มหาธาตุ มหาธรรม นำสุข” ยังมีการจำหน่ายอาหารอร่อย ตลาดนัดชุมชน การฉายหนังกลางแปลง ชมไฟประดับสวยงาม ซึ่งวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์เป็นหนึ่งในงานอารามอร่าม ที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เชิญชวน เยี่ยมชมความงดงามของวัดยามค่ำคืนที่ประดับประดาด้วยแสงไฟสุดอลังการ 11 วัด 1 โบสถ์พราหมณ์ และ 1 พิพิธภัณฑ์ ที่เต็มไปด้วยแสงไฟวิจิตรตระการตา รับพรและไหว้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต นอกจากนี้ยังมีการสาธยายพระไตรปิฎกถวายเป็นพุทธบูชา ตั้งแต่เวลา 18.00-19.30 น. ภายในพระอุโบสถตลอด 7 วัน

พร้อมกันนี้ขอเชิญทุกท่านชม 5 สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของวัดได้แก่ 1 หลวงพ่อหิน พระประธานในอุโบสถวัดสลัก (ชื่อเดิมของวัดมหาธาตุ) ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา 2 พระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ (พระเจดีย์ทอง) ในพระมณฑป ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เมื่อสถาปนาพระอาราม ปี พ.ศ. 2326 ทรงสร้างพระมณฑปปิดทองร่องกระจก สูง 10 วา บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ 3 พระศรีสรรเพชญ์ พระประธานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทให้ความเคารพศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง 4 พระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท มีขนาดเท่าครึ่ง อยู่ในลักษณะประทับยืนบนเกย หันพระพักตร์ออกสู่สนามหลวง พระหัตถ์ทั้งสองยกพระแสงดาบเหนือพระอุระ เพื่อจบถวายเป็นพุทธบูชา ภายในฐานบรรจุเนื้อดินซึ่งเก็บจากแผ่นดินที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท เสด็จกรีธาทัพทั้งสิ้น 28 แห่ง 5 ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นต้นโพธิ์ที่พระโคตมพุทธเจ้าเคยประทับและตรัสรู้ โดยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้นำหน่อต้นพระศรีมหาโพธิ์ เมืองอนุราธปุระ มาปลูกไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปี พ.ศ. 2361 ปัจจุบันต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ มีอายุ 206 ปี

 

ภายในวัดยังมีสิ่งน่าสนใจอื่นๆเช่น วิหารโพธิ์ลังกา เป็นพระวิหารน้อย สร้างในสมัยรัชกาลที่ 4 และเคยเป็นตำหนักที่ประทับเมื่อครั้งทรงผนวช , ตึกแดงหรือตึกถาวรวัตถุ และหอสมุดวชิราวุธ สถาปัตยกรรมสำคัญของอาคารก่ออิฐถือปูนสมัยรัชกาลที่ 5 , พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ มกุฎราชกุมารพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ , อาคารเบญจมราชวรานุสรณ์ (สถานปฏิบัติธรรม ศูนย์วิปัสสนานานาชาติ) , ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช , แผ่นศิลาจารึกดวงชะตา สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นหลักฐานสำคัญเก่าแก่ที่สุด เป็นเครื่องแสดงว่าวัดมหาธาตุฯ มีอายุ 339 ปี , พระแท่นบรรทมสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท , พิพิธภัณฑ์โบราณวัตถุ คัมภีร์พระไตรปิฎกที่ได้ทำการสังคายนาในสมัยรัชกาลที่ 1 (ปี พ.ศ.2331) และผ้าห่อคัมภีร์ใบลานเก่าแก่ , พระรูปสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เป็นต้น

ปัจจุบันพระพรหมวชิราธิบดี  (พีร์ สุชาโต) เป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร