โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 8 รุกจัดกิจกรรมออนไลน์

News Update

โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 8 รุกจัดกิจกรรมออนไลน์

จัดเสวนาแนะทางรอด “ตามรอยพ่อฯ สู้วิกฤตโควิด-19 รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา”

ด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแล้วเกือบสามล้านคนและสูญเสียชีวิตกว่าสองแสนคน ประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยเช่นกัน รัฐบาลได้ประกาศมาตรการรับมือกับการระบาดของโควิด-19 อย่างต่อเนื่องและเข้มข้น เพื่อหยุดการระบาดให้ได้เร็วที่สุดและประชาชนสูญเสียชีวิตน้อยที่สุด

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” (ตามรอยพ่อฯ) ที่เกิดจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 8 ของการดำเนินงาน จึงจัดกิจกรรมพิเศษการสนทนาสดออนไลน์ผ่านทางเฟซบุ๊กโครงการ www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking ในหัวข้อ “ตามรอยพ่อฯ สู้วิกฤตโควิด-19 รอดพอดีด้วยศาสตร์พระราชา” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจว่าศาสตร์พระราชาคือแนวปฏิบัติที่เป็นทางรอดในทุกวิกฤต ตลอดจนแนวทางการใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ โดยหลังจากนี้ โครงการฯ จะเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้และ ตัวอย่างความสำเร็จของผู้ที่นำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจอย่างต่อเนื่อง

 

โดย นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สิ่งที่โครงการตามรอยพ่อฯ ดำเนินการมาโดยตลอดจนเข้าสู่ปีที่ 8 ในปีนี้ คือการสื่อสารเพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการบริหารจัดการ ดิน น้ำ ป่า และพัฒนาคน มาเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้ เกิดความตระหนัก และนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมแล้วกว่า 20,000 คน ทั้งนี้ การระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เตือนเราทุกคนว่าต้องลงมือทำตามศาสตร์พระราชาอย่างจริงจัง เพราะเป็นทางรอดจากทุกวิกฤต รวมถึงวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้
วิกฤตโควิด-19 เป็นวาระเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้ประเทศไทยของเราฟันฝ่าสถานการณ์นี้ไปได้ ในช่วง 3 เดือนนี้ คือ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน โครงการตามรอยพ่อฯ จะมุ่งเน้นผลิตสื่อต่าง ๆ ที่เป็นองค์ความรู้ เป็นแรงบันดาลใจเพื่อให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เอาตัวรอดได้ในภาวะวิกฤต COVID-19 นี้ และพร้อมรับมือกับวิกฤตอื่น ๆ ที่จะตามมาทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจ ภาวะความยากจน การขาดแคลนอาหาร ภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยเผยแพร่ทางช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดียของโครงการ ได้แก่ เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป และอินสตาแกรม”

ด้าน นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวแนะทางรอดจากวิกฤตโควิด-19 ด้วยศาสตร์พระราชาว่า “โครงการตามรอยพ่อฯ ได้น้อมนำข้อความใน ส.ค.ส.ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้คนไทยเมื่อปี พ.ศ.2547 ที่ว่า ‘สามัคคีเป็นพลัง ค้ำจุนแผ่นดินไทย’ เป็นคติประจำใจในการดำเนินโครงการฯ มาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานี้ที่กำลังเกิดวิกฤตการระบาดของโควิด-19 ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยแต่ระบาดไปทั่วโลก เรายิ่งต้องการพลังแห่งความสามัคคีเพื่อนำพาให้ทุกคนผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้
ขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญวิกฤต 4 ด้าน ทั้งวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งโรคระบาด ภัยแล้ง หมอกควัน วิกฤตด้านเศรษฐกิจ วิกฤตด้านความเหลื่อมล้ำทางสังคม และวิกฤตด้านการเมือง ซึ่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือเสาหลักในการกู้วิกฤตทั้ง 4 ด้านนี้ โดยต้องปรับแนวความคิดการดำเนินชีวิตใหม่ จากการมุ่งเน้นหาเงินทองเป็นการสร้างพื้นฐานปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค ให้ พอกิน พอใช้ พออยู่ และพอร่มเย็น สำหรับข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวในภาวะวิกฤตโควิด-19 คือการอยู่ในฐานที่มั่นของตัวเอง พึ่งพาตัวเองให้ได้มากที่สุด สร้างภูมิต้านทานให้ตัวเอง ทำให้ร่างกายแข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ อาหารที่เราปลูกเองโดยไม่ใช้สารเคมี สร้างแหล่งน้ำของตัวเอง หายใจอากาศบริสุทธิ์ เพียงเท่านี้ไม่เพียงตัวเองรอด สังคมก็อยู่รอด ประเทศชาติก็จะอยู่รอดด้วย
คนเมืองและชนบทสามารถนำศาสตร์พระราชามาปฏิบัติได้ทั้งคู่ โดยคนเมืองซึ่งมีอยู่ประมาณ 30% ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่คอนโดมิเนียมอยู่หอพัก หรือคนมีที่ดิน 50 ตารางวา อาจเริ่มด้วยการพึ่งพาตัวเอง เช่น การปลูกพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ หรือการทำน้ำยาต่าง ๆ ใช้เอง เป็นต้น ส่วนคนอีก 70% ที่อยู่ในชนบทและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ก็ปรับพื้นที่ทำการเกษตรตามแนวทาง ‘โคก หนอง นา’ โมเดล เพื่อให้มีน้ำกินน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี มีอาหารการกินไม่ต้องไปซื้อไปหา ซึ่งหากลงมือทำได้จะมีกินมีใช้ไม่อดอยาก สามารถผ่านทุกวิกฤตได้แน่นอน”

นายอาทิตย์ กล่าวเสริมถึงการดำเนินกิจกรรมในโครงการตามรอยพ่อฯ ปี 8 ที่เพิ่มช่องทางสื่อบุคคล เพื่อให้การสื่อสารเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้นว่า “ในปีที่ 8 ของโครงการฯ เราจะเดินหน้าให้ความรู้ความเข้าใจและสร้างแรงบันดาลใจ กับประชาชนในวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งโครงการฯ ยินดีที่คุณฌอน บูรณะหิรัญ จะมาร่วมกิจกรรมกับโครงการฯ ตลอดทั้งปีนี้ โดยคุณฌอนได้มาเรียนรู้การใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อแก้ปัญหาดิน น้ำ ป่า กับทางโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่แล้ว และอยากมีส่วนร่วมในการสื่อสารองค์ความรู้นี้ ซึ่งโซเชียลมีเดียของคุณฌอน ทั้งเฟซบุ๊ก ยูทูบ และอินสตาแกรม มีผู้ติดตามรวมสูงถึง 6 ล้านคน จะเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น”
ทั้งนี้ นายฌอน บูรณะหิรัญ นักคิด นักเขียน และตัวแทนคนรุ่นใหม่ กล่าวถึงเหตุผลที่ตอบรับร่วมกิจกรรมกับโครงการ ตามรอยพ่อฯ และใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองร่วมเผยแพร่แนวทางศาสตร์พระราชาว่า “ผมมีเป้าหมายอยู่แล้วว่าอยากอุทิศตนทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันวิกฤตมากไม่ว่าจะเป็นฝุ่น PM 2.5 น้ำท่วม ภัยแล้ง โดยผมได้ไปเรียนรู้กับโครงการเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่บ้านใหม่ภูคา จ.น่าน ไปเห็นเขาหัวโล้นด้วยตาของตนเอง ได้รู้ต้นเหตุของปัญหาว่าการรุกทำลายป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลกระทบมากมายต่อทุกคนในทุกพื้นที่ ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เมื่อป่าถูกทำลายไม่มีต้นไม้มาซับน้ำให้ภูเขา เกิดดินถล่ม ดินตะกอนไหลไปทับถมในแม่น้ำและในเขื่อนทำให้ตื้นเขิน เก็บน้ำไม่ได้ หน้าแล้งก็ไม่มีน้ำใช้ พอฝนตกมากก็ท่วมไปถึงกรุงเทพฯ เพราะไม่มีที่เก็บน้ำ
เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาผมได้พาเพื่อน ๆ ไปเอามื้อที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ก็ได้ไปช่วยขุดคลองไส้ไก่ สร้างหลุมขนมครกให้เป็นที่เก็บน้ำบนภูเขาสูง พอขุดเสร็จเขาก็ปล่อยน้ำเข้ามา ซึ่งน่าตื่นเต้นมากที่เห็นน้ำไหลไปตามพื้นที่ที่เราขุดไว้ เราสามารถเก็บน้ำได้ บังคับน้ำให้ไหลไปตามพื้นที่ที่เราต้องการได้ ทำให้เห็นว่าไม่ว่าพื้นที่แบบไหนถ้าเรามีความรู้ และลงมือทำจริง ๆ เราก็สามารถเปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งให้ปลูกพืชได้ สร้างความอุดมสมบูรณ์ได้ และที่สำคัญก็จะมีกิน มีใช้ พึ่งพาตัวเองได้ โดยไม่ต้องไปรุกทำลายป่าและเผาป่า ทำให้เกิดปัญหา PM 2.5 ซึ่งในภาคเหนือรุนแรงขึ้นทุกปีจนเกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่ได้แล้ว ผมจึงเห็นว่าเราต้องช่วยกันรณรงค์อย่างจริงจัง”

ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมในโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org