เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศธ. (ปฏิบัติหน้าที่เลขานุการ รมช.ศธ.) ร่วมเสวนาการจัดการศึกษา การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต กับผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครหมู่บ้าน (อสม.) โดยนายจรูญศักดิ์ พุดน้อย ผอ.กศน.จังหวัดชัยภูมิ, นายสนอง มาลัยขวัญ นายอำเภอเกษตรสมบูรณ์, นางสาวอัจฉรา อาษาสู้ นายอำเภอภักดีชุมพล ให้การต้อนรับ ณ ค่ายลูกเสือภูกระแต อําเภอเกษตรสมบูรณ์ และสำนักงาน กศน. อําเภอภักดีชุมพล
รมช.ศธ. กล่าวว่า การลงพื้นที่จังหวัดชัยภูมิครั้งนี้อาจจะไม่ได้ลงไปตรวจเยี่ยมในทุกอำเภอ แต่มีความตั้งใจจริงเพื่อมารับฟังเสียงสะท้อน ข้อเสนอแนะในการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิต ต้องชื่นชมผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรในพื้นที่ ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ที่ได้ดำเนินการจัดการศึกษาแก่นักศึกษาและประชาชนทุกช่วงวัย ทั้งการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การศึกษาต่อเนื่อง และการศึกษาตามอัธยาศัย ในโครงการและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ อาทิ ห้องสมุดประชาชน อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมส่งเสริมการอ่านประจำหมู่บ้าน (บ้านหนังสือชุมชน) ตลอดจนการนำนโยบาย กศน. WOW ไปสู่การปฏิบัติ
ภายใต้การนำของผู้บริหาร ครู และบุคลากร กศน. ซึ่งเป็นคนพันธุ์พิเศษ ในการสร้างศรัทธาและความไว้วางใจในการจัดการศึกษาแก่ประชาชน ทั้งนี้อยากให้ครู กศน.ทุกคน ยึดหลักอิทธิบาท 4 เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต นำหลักธรรมมาปรับใช้ในการจัดการเรียนการสอน ต้องยอมรับว่า การทำงานของ กศน.จะประสบความสำเร็จไม่ได้ หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐภาคเอกชน เครือข่ายของ ศธ. ทั้งจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มาช่วยเสริมในหลาย ๆ ด้าน
ในการนี้ได้รับฟังเสียงสะท้อนและข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา ที่เป็นเป้าหมายในการลงพื้นที่ทุกพื้นที่ในทุกครั้ง อาทิ การประสานเครือข่ายการศึกษา เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษา กศน.ได้เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นในจังหวัดชัยภูมิ ทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา อาจต้องดำเนินการในลักษณะการจัดทำ MOU ระหว่าง กศน.กับสถาบันการศึกษา พร้อมทั้งจัดให้มีการแนะนำแนวทางในการศึกษาต่ออย่างเหมาะสม, ปัญหาการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก รองรับครอบครัวแหว่งกลาง ที่พ่อแม่ไปทำงานในกรุงเทพ ทำให้เด็กจำนวนหนึ่งต้องอยู่กับปู่ย่าตายาย ซึ่งส่วนมากมีรายได้น้อย จึงต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในทุกมิติ
ซึ่งจำเป็นต้องมีการทบทวนการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กต่ำกว่า 120 คนลงมา ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ ศึกษาธิการภาค 13 และรักษาการศึกษาธิการจังหวัดชัยภูมิเร่งบูรณาการหารือการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในระดับจังหวัด เพื่อปักหมุดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งตนเอง ก็จะนำเรียน รมว.ศธ. ถึงเสียงสะท้อนของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนหารือร่วมกับเลขาธิการ กพฐ. เพื่อออกแบบและหาแนวทางที่ดี มีความเหมาะสมกับสภาพการณ์ของพื้นที่อย่างเป็นระบบ